เชียงราย – เดินเครื่องดันโปรเจกต์ปลูกยางเพิ่มเหนือ-อีสานอีก 4 ล้านไร่ สภาการยางฯจ้องชงรัฐจัดงบ 1.6 หมื่นล้านหนุน ดีดลูกคิดรางแก้ว คืนทุนใน 10 ปี พร้อมดันเปิดด่านส่งออกยางพาราที่เชียงแสน ซี.พี. นัดเปิดตัวยางพันธุ์ใหม่ปลายปีนี้ ยันวิจัยแล้วจาก 100 สายพันธุ์ เปิดเจรจาดึงจีน-ญี่ปุ่นตั้งโรงงานยางแท่งพะเยารับตลาดยางจีน ที่ต้องการไม่จำกัด
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งนายภิรมย์ กิ่งเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (กสย.) จ.เชียงราย ได้นำคณะไปตรวจเยี่ยมการปลูกยางพาราและทำยางแผ่นในพื้นที่สวนยางพาราตามโครงการ 1 ล้านไร่ พื้นที่สวนยางพารานอกโครงการใน จ.เชียงราย ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้ไปดูต้นยางพาราต้นแรกที่ปลูกในจังหวัด ที่บริเวณวัดพระธาตุกู่แก้ว ต.จันจว้า อ.แม่จัน อายุกว่า 40 ปีขนาดใหญ่ 2 คนโอบ จากนั้นเข้าชมสวนยางพาราของบริษัทโยนกยางพารา จำกัด ซึ่งเป็นสวนยางพาราแห่งแรกของจังหวัดตั้งอยู่ ต.จันจว้า เนื้อที่ประมาณ 203 ไร่ มีต้นยางพาราอายุประมาณ 20 ปีที่กรีดน้ำยางและผลิตเป็นยางแผ่นอย่างได้ผลมานาน
คณะนายอุทัย ยังได้เดินทางไปชมโรงงานรับซื้อน้ำยางพาราและนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นของบ่อยางพาราโชคชัย หมู่บ้านคีรีสุวรรณ ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง ก่อนไปดูการส่งออกที่ท่าเรือเชียงแสน ซึ่งเป็นท่าเรือในแม่น้ำโขง ที่ค้าขายกับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ รวมทั้งไปชมโครงการยางพารา 1 ล้านไร่พื้นที่ ต.ป่าซาง อ.แม่จัน ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นยางพารารุ่นแรกที่ปลูกเมื่อปี 2548 มีอายุได้ประมาณ 3-4 ปีจึงยังไม่มีการกรีดน้ำยาง แตกต่างจากต้นยางพารานอกโครงการที่มีการกรีดกันแล้วบางส่วน
นายอุทัย เปิดเผย "ASTVผู้จัดการรายวัน" ว่า ได้ร่วมผลักดันให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ มาตั้งแต่ปี 2531 แต่หลังจากมีเกษตรกรปลูกยางพารามากขึ้นในภาคเหนือ จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1.ให้มีการตั้งด่านตรวจเพื่อการส่งออกของกรมวิชาการเกษตรที่ท่าเรือเชียงแสน เพราะปัจจุบันการจะส่งออกยางพาราไปต่างประเทศต้องไปแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตรที่จตุจักร กรุงเทพฯ
จากนั้นจึงยื่นต่อ กสย.จังหวัด และด่านศุลกากร ทำให้ยางพาราที่ส่งออกที่ท่าเรือเชียงแสนปัจจุบันมาจากโรงงานรับซื้อที่ จ.ระยอง เป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากระยะทางเชียงราย-ระยอง ไกลจึงทำให้ผู้ส่งออกหันไปใช้บริการท่าเรือทางทะเล จนทำให้เราเสียโอกาสในการส่งออกไปจีนผ่านชายแดนเชียงรายที่มีระยะทางใกล้กว่า
2.ผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนตามโครงการไทยเข้มแข็งไปสู่การปลูกยางพาราในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ปลูกยางพาราเพิ่มอีก 4 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 1 ล้านไร่และตะวันออกเฉียงเหนืออีก 3 ล้านไร่ ซึ่งจากการคำนวณพบว่าภายใน 10 ปีรัฐบาลจะได้รับงบประมาณคืนจากอัตราภาษีและค่าสมทบ กสย.คุ้มกับงบประมาณที่ทุ่มลงไป
นายอุทัย กล่าวอีกว่า กลางเดือนกันยายนนี้ จะมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกยางพาราในเชียงราย โดยประสานกับนายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการสัมมนา และถือโอกาสในการหารือเรื่องการผลักดันทั้ง 2 เรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการตั้งด่านของกรมวิชาการเกษตรควรเป็นรูปแบบ One Stop Service แบบด่านไทย-สปป.ลาว ที่ จ.หนองคาย ส่วนเรื่องงบประมาณไทยเข้มแข็งก็จะชี้ให้เห็นถึงความคุ้มทุน เพราะรัฐบาลได้เงินคืนขณะที่ประชาชนมีรายได้มั่นคงและแก้ไขปัญหาความยากจนจากพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องตลาดทุกปีได้
สำหรับความกังวลเรื่องตลาดส่งออกนั้น เขาเห็นว่าไม่ควรกังวลมาก แม้ว่าปัจจุบันในจีนตอนใต้ สปป.ลาว พม่า กัมพูชา ฯลฯ จะปลูกยางพารากันมากขึ้น แต่ก็ยังมีน้อยและเมื่อดูจากตลาดโลกแล้วยังมีความต้องการมากกว่าผลผลิตที่จะเก็บได้ในอนาคตอย่างมาก โดยปี 2551 ประเทศไทยเราผลิตได้ประมาณ 3 ล้านตัน เป็นยางแผ่น 88% มูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ยาง 12% แต่มีมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จึงควรส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางให้เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ
ด้านนายภิรมย์ กล่าวว่า เชียงรายมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 108,000 ไร่ คาดว่าปี 2555 จะขยายไปถึงกว่า 200,000 ไร่ เฉพาะยางพาราตามโครงการ 1 ล้านไร่มีประมาณ 60,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ปลูกตั้งแต่ปี 2547-2548 และโครงการผู้ว่าฯซีอีโอประมาณ 20,000 ไร่ ที่เหลืออยู่นอกโครงการ
ปัจจุบันชาวสวนยางเชียงราย กรีดน้ำยางออกมาจำหน่ายแล้วประมาณ 2,000-3,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิตปีละ 750,000 กิโลกรัม คาดว่าเมื่อถึงปี 2555 จะกรีดน้ำยางได้กว่า 30,000 ไร่ ซึ่งหากมีด่านส่งออกยางพาราที่ท่าเรือเชียงแสน ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อการส่งออกได้อีกมาก เพราะปัจจุบันเกือบทั้งหมดยังต้องส่งไปยังโรงงานรมควันที่ระยอง ซึ่งมีราคาสูงกว่าที่รับซื้อในพื้นที่เชียงรายกิโลกรัมละ 6-7 บาท เนื่องจากไม่มีสิ่งจูงใจให้ตั้งโรงงานรมควันในพื้นที่
“ตลาดไม่น่ากังวล แม้เพื่อนบ้านและจีนตอนใต้จะปลูกกันมาก แต่ตลาดโลกยังต้องการมากกว่า 8 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยผลิตได้ 3 ล้านตัน อินโดฯ 2 ล้านตัน และมาเลเซีย อีก 1 ล้านตัน และในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ความต้องการยางพาราจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมากแน่นอน”
น.ส.พรศักดิ์ พรมเมือง ผู้จัดการบ่อยางพาราโชคชัย ต.หนองป่าก่อ อ.ดอยหลวง กล่าวว่า ตอนนี้มีน้ำยางส่งเข้าโรงงานประมาณ 2,000-3,000 กก.ต่อวัน เมื่อทำเป็นยางแผ่นก็ส่งไปยังตลาดที่จันทบุรี ซึ่งยังถือว่ามีน้อยอยู่ แต่คาดว่าปี 2555 เป็นต้นไปคงจะมีปริมาณน้ำยางเลี้ยงโรงงานมากขึ้น บริษัทจึงสร้างโรงงานยางแผ่นรมควันเอาไว้รองรับแล้ว
นายขุนศรี ทองย้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่าซี.พี.กำลังร่วมกับคณะทำงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยกล้ายางพันธุ์ใหม่จากทั้งหมด 100 สายพันธุ์ ซึ่งจะมีคุณสมบัติโตเร็ว ให้น้ำยางไร่ละ 500 กิโลกรัม มีอายุนาน 35 ปีมากกว่าต้นยางปัจจุบันที่มีอายุ 25 ปี ปัจจุบันผลการวิจัยเสร็จแล้วและจะเปิดตัวต้นกล้าสายพันธุ์ใหม่ปลายปีนี้ เพื่อขยายไปสู่โครงการ 1 ล้านไร่ต่อไป
จากนั้นในอนาคตซี.พี. ก็รับซื้อน้ำยางจากชาวสวนตามลำดับต่อไปโดยได้ประสานกับตลาดในประเทศจีนและญี่ปุ่นแล้ว ล่าสุดได้พาเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นไปดูพื้นที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อตั้งโรงงานทำยางแท่งเพื่อการส่งออกภายในอีก 1-2 ปีนี้ เพราะพะเยาเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือและสามารถส่งออกไปทางท่าเรือเชียงแสนและข้ามสะพานแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปยังตลาดจีนตอนใต้ได้อีกด้วย