xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำสมาคมสวนยางฯขึ้นเหนือเปิดเวทีกรอกหูเกษตรกร/ย้ำอนาคตยางพาราไทยรุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – แกนนำสมาคมชาวสวนยางไทย เปิดเวทีเป่าหูเกษตรกรเหนือต่อเนื่อง ยืนยันอนาคตยางพาราไทยสดใส เชื่อ “เชียงราย” มีศักยภาพพัฒนาเป็นตลาดกลางเหมือนหาดใหญ่

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (18 ก.ย.) ที่หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการสัมมนาประชาศึกษาเรื่อง “สวนยางสร้างชุมชนภาคเหนือให้เข้มแข็งได้จริงหรือ?” โดย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของสมาคม นำคณะภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีให้ข้อมูลแก่ชาวสวนยางพาราที่มาจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ประมาณ 600 คน รวมทั้งยังมีผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐและผู้สนใจทั่วไปอีกประมาณ 100 คน โดยโครงการมีการจัดให้บุคคลที่มีบทบาทในด้านต่างๆ เกี่ยวกับยางพาราให้ความรู้อย่างครบครัน

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล อดีตนายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยส่งออกยางพารา เพื่อการผลิตเป็นสิ่งต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ ฯลฯ ประมาณ 80% และเป็นยางข้นประมาณ 20% ซึ่งยางข้นนำไปผลิตเป็นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ฯลฯ ดังนั้น ยางพาราจึงเป็นพืชที่สามารถเก็บผลผลิตได้หลากหลาย

สำหรับตลาดในอนาคตเชื่อว่าด้วยศักยภาพของเชียงราย ที่เป็นประตูสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย จีน ลาว และพม่า สามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดจีนตอนใต้ทั้งทางเรือในแม่น้ำโขงและทางถนนผ่านพม่า และ ส.ป.ป.ลาว จะทำให้เชียงรายกลายเป็นตลาดใหญ่ของยางพาราคล้ายกับ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แน่นอน ขณะเดียวกัน ตนยืนยันว่า ตลาดยางพาราในโลกไม่มีวันตันแต่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกด้วย

ด้าน นายอุทัย กล่าวว่า ตนยังคงยืนยันว่าการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะยางพาราเปรียบเสมือนตู้เอทีเอ็มที่กรีดแล้วได้เงิน โดยราคาระดับกิโลกรัมละ 50-60 บาทถือว่าทำให้เกษตรอยู่ได้แล้ว และตนเชื่อว่าราคาจะไม่ตกต่ำไปกว่านี้แน่นอน สิ่งที่เชื่อมั่นได้อย่างเต็มที่ คือดีกว่าการปลูกลำไยและลิ้นจี่ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องราคาตกต่ำทุกปีด้วย

ทั้งนี้ ตนได้สอบถามไปยังบริษัทผลิตยางรถยนต์หลากหลายยี่ห้อแล้ว ทราบว่าราคายางพาราไม่น่าจะตกต่ำ และอาจจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากถึงระดับกิโลกรัมละ 100 บาท พวกผู้ประกอบการยางรถยนต์ก็ไม่เดือดร้อนโดยสามารถรับซื้อได้ด้วย

ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิ์วนิชชา รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม้สภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ระบบอุตสาหกรรมยางพาราไม่มีผลกระทบมากนัก และตลาดยางพาราก็ไม่ถึงกับตกต่ำจนทำให้ชาวสวนต้องขาดทุน ที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าสามารถอยู่รอดได้อย่างสบาย ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจเริ่มจะกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คาดว่าราคาจะดีกว่านี้แน่

“ยางพาราที่ผลิตในประเทศไทยจำนวน 88% เป็นผลผลิตเพื่อการส่งออกและอีก 12% ใช้ในประเทศ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างยางพารากับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หากในอนาคตอุตสาหกรรมมีการเติบโตมากขึ้น”

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งอีกว่าสำหรับ จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 108,000 ไร่ และทางกองทุนสงเคราะห์สวนยางคาดว่าปี 2555 จะขยายไปถึงกว่า 200,000 ไร่ โดยเป็นยางพาราตามโครงการ 1 ล้านไร่ ประมาณ 60,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นแรกที่ปลูกตั้งแต่ปี 2547-2548 และโครงการผู้ว่าซีอีโอประมาณ 20,000 ไร่ ที่เหลืออยู่นอกโครงการ ปัจจุบันชาวสวนมีการกรีดน้ำยางพาราออกมาจำหน่ายแล้วประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ปริมาณปีละ 750,000 กิโลกรัม คาดว่าเมื่อถึงปี 2555 จะกรีดน้ำยางได้กว่า 30,000 ไร่ โดยมีการจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ตลาดกลางที่ อ.หาดใหญ่ กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพราะอยู่ไกลแหล่งส่งออกและรมควันที่ภาคตะวันออกและภาคใต้

กำลังโหลดความคิดเห็น