เชียงราย - ชาวประมงริมหาดไคร้เชียงของฝั่งแม่น้ำโขงโวยเขื่อนจีนปล่อยน้ำกระทันหันส่งผลล่าปลาบึกฝืด ระบุหากยังไม่สามารถจับปลาบึกตัวที่สองได้ภายในวันที่ 27 พ.ค.ก็จะหยุดล่าตามที่ได้ตกลงกับกรมประมงไปแล้ว
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า เช้าวันนี้ (19 พ.ค.) ชาวประมงในแม่น้ำโขงที่หมู่บ้านหาดไคร้ หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงของ จำนวน 5 ราย ซึ่งขออนุญาตกับกรมประมงในการนำเรือออกหาปลาบึกยังคงนำเรือ และ “มอง” อุปกรณ์จับปลาคล้ายอวนออกหาปลาบึก ซึ่งเป็นปลาหนังน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และองค์กรไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ไกลจะสูญพันธุ์กำหนดให้เป็นปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ตามปกติ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถจับปลาบึกเพศเมียน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัมมาได้แล้ว และได้ชำแหละออกจำหน่ายกิโลกรัมละกว่า 600 บาทไปแล้วเมื่อวันที่ 4 พ.ค.นี้ที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านพ้นเวลามานานเกือบ 20 วันก็ยังไม่สามารถจับปลาบึกตัวที่ 2 ได้ก็ตามด้วยหวังว่าจะจับตัวที่ 2 ให้ได้และยกเลิกการออกไล่ล่าตามที่ได้ตกลงกับกรมประมง
ด้าน นายพิศิษฐ์ วรรณธรรม ประธานชมรมปลาบึกหมู่บ้านหาดไคร้ เปิดเผยว่า ชาวประมงยังคงออกหาปลาตามปกติแม้ว่าจะยังไม่สามารถจับตัวที่ 2 มาได้ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้พบว่าพวกเรากำลังประสบปัญหาหนัก เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างกระทันหันโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยระดับน้ำแต่เดิมซึ่งมีความเหมาะสมในการหาปลาบึกตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.-ปลายเดือน พ.ค.ของทุกปีคือประมาณ 2-5 เมตร ซึ่งเหมาะสมกับความกว้างของมองซึ่งเป็นอุปกรณ์ล่าปลาบึก แต่ปรากฎว่าหลังจากน้ำขึ้นกระทันหันครั้งนี้ได้ทำให้ระดับน้ำลึกลงไปกว่า 7 เมตร
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้นยังทำให้แม่น้ำโขงกว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเดิมมีความกว้างประมาณ 200 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความยาวของมองทำให้โอกาสที่ปลาบึกซึ่งว่ายไปตามกระแสน้ำจะถูกมองดักจับได้ โดยชาวประมงจะลากมองตั้งแต่ชายแดนไทยไปจนติดกับชายแดนในฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งก็จะพอดีแต่ปรากฎว่าระดับความกว้างของแม่น้ำโขงในปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 300 เมตรแล้ว ดังนั้น ด้วยความกว้างและความลึกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้โอกาสที่ปลาบึกจะหลุดออกไปจากอุปกรณ์จับปลาบึกมีมากขึ้น ส่งผลทำให้พวกเราจับปลาบึกไม่ได้เลย หลังจากที่สามารถจับตัวแรกได้แล้ว
ประธานชมรมปลาบึกหมู่บ้านหาดไคร้ กล่าวด้วยว่า พวกเราเชื่อว่าสาเหตุที่แม่น้ำโขงขึ้นลงอย่างกระทันหันโดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนที่บรรพบุรุษของเราเคยประเมินและสืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกหลาน เกิดจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีนและช่วงนี้เป็นฤดูฝน ดังนั้น เมื่อเขื่อนกักเก็บน้ำในปริมาณที่มากเกินไปก็มีความจำเป็นต้องระบายลงมา จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว และนอกจากเรื่องระดับน้ำแล้วชาวประมงยังมีปัญหาเรื่องเรือสินค้าในแม่น้ำโขงซึ่งมักจะแล่นให้บริการขนส่งสินค้าในเวลากลางวัน
ดังนั้น พวกเราจึงเริ่มมีการออกหาปลาบึกกันในเวลากลางคืนสลับกันไปบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงเรือสินค้าที่จะไปถูกอวนเสียหาย ทั้งนี้หากว่าจับปลาบึกตัวที่ 2 ได้ก็จะหยุดหาทันทีตามที่ได้ตกลงกับกรมประมงหรือหากจับไม่ได้ก็จะหาไปจนถึงวันที่ 27 พ.ค.นี้ตามข้อตกลงเช่นกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเขื่อนในประเทศจีนที่มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 300 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วจำนวน 3 เขื่อน คือ เขื่อนมันวาล เปิดใช้ในปี 2539 ผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 เมกะวัตต์ ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 920 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเชาชาน เปิดใช้ในปี 2546 ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 890 ล้านลูกบาศ์กเมตร และเขื่อนจินหงซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยไปตามแม่น้ำโขงเพียง 280 กิโลเมตร เปิดใช้ในเดือน มิ.ย.2551 ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 1,233 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งทางองค์กรเอกชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ระบุว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดความเสียหาย อันเกิดจากโครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพานิชย์ขนาดใหญ่ ในปี 2544-2547 จนมีการระเบิดเกาะแก่งออกไปได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณคอนผีหลง อ.เชียงของ เขตพรมแดนไทย-ลาว เท่านั้นด้วย