เชียงราย – พรานปลาน้ำโขงจับ “ปลาบึก” ตัวแรกของฤดูล่าปีนี้ได้แล้ว เป็นเพศเมียหนัก 180 กก.เตรียมชำแหละ ประธานชมรมฯยืนยัน พร้อมทำตามข้อตกลงกับกรมประมง กำหนดออกเรือล่าอีกตัวเดียวก็จะหยุด
ชมรมปลาบึกหมู่บ้านหาดไคร้ หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงของ แจ้งว่า ทางชมรมสามารถจับปลาบึกในแม่น้ำโขงฤดูไล่ล่าปีนี้ได้แล้วจำนวน 1 ตัว เป็นปลาบึกเพศเมียน้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 2 เมตร สภาพแข็งแรง ซึ่งทางชาวประมงได้มัดเอาไว้ที่หลักใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าวัดหาดไคร้ จากนั้นได้แจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่กรมประมงไปทำการตรวจสภาพปลาตามหลักวิชาการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ชาวประมงแจ้งว่า จะทำการขายชำแหละปลาบึกตัวนี้ในวันนี้ โดยจะไม่ปล่อยกลับคืนสู่แม่น้ำโขง
นายพิศิษฐ์ วรรณธรรม ประธานชมรมปลาบึกหมู่บ้านหาดไคร้ กล่าวว่า ปลาบึกดังกล่าวจับได้ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยพรานปลาบึกชื่อว่า นายพิทักษ์ แสงเพชร และพวกเราคาดหวังว่าจะสามารถจับได้ตัวต่อไปอีก
เขาบอกว่า ในปีนี้ทางชมรมปลาบึกนำเรือพร้อม “มอง” อุปกรณ์หาปลาบึกคล้ายอวนออกหาปลาบึกเพียง 5 ราย ใช้เรือประมาณ 5 ลำเท่านั้น สาเหตุที่ออกหากันน้อยเพราะปีนี้ ทางกรมประมงได้ทำข้อตกลงกับชาวบ้านว่าจะอนุญาตให้ชมรมออกหาปลาบึกได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.-27 พ.ค.นี้เท่านั้น และยังกำหนดอีกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวหากชาวประมงสามารถจับปลาบึกได้ถึง 2 ตัวก็ให้หยุดหาโดยทันทีด้วย
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นหากว่ามีการจับปลาบึกได้อีก 1 ตัวพวกเราก็ต้องหยุดกันหมด แต่หากยังจับไม่ได้ก็จะหาเรื่อยๆ ไปจนถึงปลายเดือน พ.ค.ตามวันและเวลาที่กรมประมงกำหนดต่อไป
สำหรับปลาบึกเพศเมียที่จับได้ครั้งนี้ก่อนการชำแหละขาย เจ้าหน้าที่กรมประมงได้ทำการตรวจสภาพ วัดความสั้นและยาว รวมทั้งตัดเอาครีบไปตรวจสอบหาดีเอ็นเอ เพื่อศึกษาทางวิชาการต่อไป ซึ่งคงจะรวมไปถึงการค้นหาพันธุ์ปลา ว่า เป็นปลาที่เคยมีการเพาะพันธุ์เอาไว้ก่อนหน้านี้หรือเป็นปลาที่มาจากธรรมชาตินั่นเอง ทั้งนี้ ในปีนี้ระดับน้ำเหมาะสมต่อการหาปลาบึกอย่างมากโดยมีความลึกทั่วไปประมาณ 2 เมตร และบางจุดลึกถึง 5-6 เมตร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีองค์กรเอกชนหลายหน่วยงานเข้าไปทำงานอนุรักษ์ปลาบึกในพื้นที่ อ.เชียงของ และเรียกร้องให้มีการเลิกจับปลาบึกเพื่ออนุรักษ์เอาไว้เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดชนิดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งองค์กรไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ไกลจะสูญพันธุ์ กำหนดให้เป็นปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ขณะที่ประมงเองก็สามารถเพาะพันธุ์ลูกปลาจากพ่อแม่พันธุ์ ที่เพาะพันธุ์ขึ้นเองได้แล้ว อย่างไรก็ตามก็มีชาวประมงบางส่วนที่ต้องการออกหาปลาบึกตามวิถีชีวิต ที่เคยดำเนินติดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงเป็นที่มาของการทำข้อตกลงกับกรมประมงเพื่อจำกัดการออกหาปลาบึกดังกล่าว