xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้รัฐบาลสนใจอนุรักษ์พะยูนก่อนสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะยูนซึ่งเสียชีวิตเมื่อช่วงปลายปี 2551 ซึ่งชาวบ้านพบที่บริเวณอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลสนใจอนุรักษ์พะยูนให้มากขึ้นเชื่ออีก 20-30 ปี อาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เผยระยะ 6 เดือนมีพะยูนตายแล้ว 7 ตัว ขณะที่ จนท.ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ผ่าซากพะยูนที่เสียชีวิตจากจังหวัดตรังแล้วเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง พบเสียชีวิตเนื่องจากอาการช็อกเฉียบพลันมีน้ำคั่งในช่องท้อง

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลนภูเก็ต เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก นำโดย นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงระดับชำนาญการพิเศษ ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต ร่วมกันผ่าซากพะยูนเพศผู้ น้ำหนัก 122 กิโลกรัม อายุประมาณ 5 ปี ซึ่งเสียชีวิตที่บริเวณเกาะสุกร จ.ตรัง เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตของพะยูนตัวดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการผ่าซากพะยูนดังกล่าว

นางสาวกาญจนา กล่าวถึงสาเหตุการเสียชีวิตของพะยูนที่ได้มาจากจังหวัดตรัง ว่า จากการตรวจสอบพบว่าพะยูนไม่มีอาการป่วย หากินได้ตามปกติ ซึ่งจากการตรวจสอบในช่องท้องพบว่ามีน้ำคั่งในช่องท้องและเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจประมาณ 1 ลิตรและพะยูนมีอาการช็อกเฉียบพลัน คาดว่าน่าจะเกิดจากการติดเครื่องมือการทำประมงที่ชาวประมงดังไว้ เมื่อว่ายเข้าไปติดเครื่องมือการทำประมงทำให้พะยูนมีอาการตกใจและช็อก

นางสาวกาญจณา กล่าวถึงสถานการณ์พะยูนในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันว่า ขณะนี้พะยูนเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าตัวเท่านั้น ซึ่งจะมีการว่ายน้ำเคลื่อนย้ายฝูงไปหากินตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่บริเวณจังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา ซึ่งแนวโน้มการสูญพันธ์ของพะยูนมีสูงมากในระยะ 20-30 ปี ต่อจากนี้ ถ้าไม่มีการดำเนินการเรื่องของการอนุรักษ์พะยูนให้เป็นรูปธรรมเชื่อว่า จะไม่มีพะยูนให้พบเห็นในประเทศไทยอีก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจและมีความจริงใจในการอนุรักษ์พะยูนให้มากขึ้นก่อนที่จะสูญพันธ์ไปจากประเทศไทย

นอกจากนั้น จะต้องมีการปลุกกระแสให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาพะยูน ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีการจัดทำแผนแม่บทชาติในการอนุรักษ์หญ้าทะเล และพะยูน แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เชื่อว่าถ้าแผนดังกล่าวออกมาก็น่าจะสามารถช่วยอนุรักษ์พะยูนไว้ได้ส่วนหนึ่ง

นางสาวกาญจนา กล่าวต่อว่า สถานการณ์ของพะยูนในประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงมาก เนื่องจากพบว่ามีพะยูนตายสูง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย พบพะยูนตายด้วยสาเหตุต่างสูงถึง 7 ตัวแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลและอนุรักษ์เอาไว้เพื่อไม่ให้สูญพันธ์ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น