xs
xsm
sm
md
lg

พรานปลาครวญ“เขื่อน-เรือจีน”ทำวิถีชีวิตเปลี่ยน น้ำโขงผิดธรรมชาติ-ท่าเรือเชียงแสนกระทบซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – พรานปลาน้ำโขงครวญ ระดับน้ำโขงผิดธรรมชาติ ทำวิถีชีวิตเปลี่ยน ปลาน้ำโขงสารพัดสายพันธุ์หาย เรือพาณิชย์ทำระบบนิเวศเสีย เชื่อต้นเหตุใหญ่มาจากเขื่อนจีน หวั่นหลังโครงการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 เสร็จก่อผลกระทบรุนแรงอีกหลายเท่า

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าจากกรณีที่ชาวประมงที่หาปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่หมู่บ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว ออกมาระบุว่า ในช่วงเดือน พฤษภาคมนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงอย่างรวดเร็วไม่เป็นปกติจนกระทบกับการออกล่าปลาบึกตามประเพณีดั้งเดิมของพวกเขา และที่เห็นได้ชัดเจนคือปีนี้ล่าปลาบึกได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น เป็นผลมาจากเขื่อนในประเทศจีนทำให้แม่น้ำโขงกว้าง – ลึกกว่าเดิม ส่งผลให้ปลาบึกหลบหนีไปได้หมดแล้วนั้น

ยังส่งผลกระทบต่อพรานปลาทั่วไป ซึ่งยึดอาชีพการประมงในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะที่ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพราะนอกจากเรื่องระดับน้ำขึ้นลงไม่ปกติแล้วพวกเขายังกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการก่อสร้างท่าเรือในแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของกระทรวงคมนาคมที่ปากแม่น้ำกก หมู่บ้านสบกก ต.บ้านแซว ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขงอีกด้วย

นายวิเชียร มณีรัตน์ รองประธานกลุ่มประมงน้ำจืดบ้านสบกก ต.บ้านแซว เปิดเผยว่า กลุ่มมีสมาชิกประมาณ 25 คน ซึ่งปกติจะรวมตัวกันเพื่อออกหาปลาในแม่น้ำโขงเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมานาน อย่างไรก็ตามในช่วงนี้พบว่าประสบความยากลำบากอย่างมากเพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่ขึ้นลงช้าๆ ตามฤดูกาลตามธรรมชาติ แต่กลับขึ้นๆ ลงๆ ครั้งละมากๆ ไม่ตรงกับฤดูกาล โดยในเดือน พ.ค.นี้ พบว่าระดับน้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ในฤดูแล้งแม่น้ำโขงจะแห้งจนเห็นเป็นหาดทรายกว้าง แต่ปีนี้หาดทรายถูกน้ำท่วมจนหมด

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านเดาไม่ถูกว่าจะออกหาปลาในช่วงใด และอุปกรณ์หลายชนิดก็ใช้ไม่ได้ เช่น ไซ หรืออุปกรณ์ล่อปลาอื่นๆ ที่ต้องนำไปวางทิ้งเอาไว้ ปรากฏว่าบางครั้งก็ถูกน้ำทิ้งจนอยู่เหนือน้ำ หรือหากน้ำมามากก็จะจมอยู่ใต้น้ำ ไม่สามารถดักหรือล่อปลาได้เหมือนเดิมอีก

นายวิเชียร กล่าวว่า พวกตนเชื่อว่ามาจากการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีน เพราะหลังมีเขื่อนก็มีปรากฏการณ์น้ำขึ้นลงผิดปกติดังกล่าว แสดงว่ามีการกักเก็บและปล่อยน้ำ ส่วนอีกเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการที่เรือขนส่งสินค้าที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ปล่อยของเสียออกจากเรือ สังเกตได้จากเมื่อมีการใช้ท่าเรือเชียงแสน มีการขนส่งทางน้ำมากขึ้น ก็พบว่าน้ำแม่น้ำโขงมีคราบน้ำมันลอยออกมา ทำให้ปลาบางชนิดที่เคยมีในแม่น้ำโขงนั้นหายไปหลายสายพันธุ์

"ขณะนี้ยังมีการก่อสร้างท่าเรือแห่งที่สอง ที่บริเวณปากแม่น้ำกก เชื่อว่าต่อไปหากแล้วเสร็จทางกลุ่มประมงก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเรือสินค้าจีนเป็นเรือใหญ่ แต่เรือประมงของชาวบ้านเป็นเรือเล็ก เมื่อแล่นอยู่กลางน้ำก็จะทำให้เกิดคลื่นกระเพื่อม จนต้องหนีเข้าฝั่งไม่ให้เรือล่มหรือส่งผลต่ออุปกรณ์หาปลาต่างๆ ขณะเดียวกันปากแม่น้ำกกเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการสร้างท่าเรือก็จะต้องมีการขุดลอกแม่น้ำ เพื่อให้เรือเดินทางได้สะดวก ดังนั้นแหล่งที่พักของปลาก็จะหายไป" นายวิเชียร กล่าวและว่า

ดังนั้นในอนาคตกลุ่มชาวประมงกำลังหารือกันอยู่ว่า จะทำอย่างไรกับอาชีพของพวกเขาดีและส่วนหนึ่งก็คงจะเข้าไปปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ท่าเรือด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับเขื่อนในประเทศจีน ที่มณฑลหยุนหนัน อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 300 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วจำนวน 3 เขื่อน คือ เขื่อนมันวาล เปิดใช้ในปี 2539 ผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 เมกะวัตต์ ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 920 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนต้าเชาชาน เปิดใช้ในปี 2546 ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 890 ล้านลูกบาศ์กเมตร และเขื่อนจิ่งหงซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยไปตามแม่น้ำโขงเพียง 280 กิโลเมตร เปิดใช้ในเดือน มิ.ย.2551 ขนาดบรรจุน้ำหน้าเขื่อน 1,233 ล้านลูกบาศ์กเมตร

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านี้องค์กรเอกชนหลายหน่วยงานยังระบุด้วยว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ยังมาจากโครงการระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ในปี 2544-2547 จนมีการระเบิดเกาะแก่งออกไปได้เกือบทั้งหมดด้วย ขณะที่การก่อสร้างท่าเรือในแม่น้ำโขง ที่หมู่บ้านสบกกดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ก่อสร้างแล้วด้วยงบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท บนเนื้อที่ 402.3 ไร่ เพื่อทดแทนท่าเรือเดิมที่อยู่ในเขตตัวเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน โดยปัจจุบันมีการปรับดินถมที่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น