xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสนำเข้า จากเม็กซิโกถึงตลาดสด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แตกตื่นกันไปทั้งโลกเมื่ออยู่ๆ ก็มี ‘ไข้หวัดหมู’ หรือ ‘ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก’ โผล่ออกมาคร่าชีวิตคนไปกว่า 100 ชีวิต และกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ในประเทศไทย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็เตรียมการรับมืออย่างแข็งขัน โดยใช้ประสบการณ์จากครั้งรับมือโรคซาร์สและไข้หวัดนก ‘ปริทรรศน์’ พาไปสำรวจสถานการณ์จากไข้หวัดเม็กซโกครั้งนี้

เช็คอุณหภูมิ ปราการด่านสำคัญ

พลันที่ข่าวไข้หวัดสายพันธุ์เม็กซิโก แพร่สู่การรับรู้ของคนไทยทั้งประเทศ หลายหน่วยงานภาครัฐต้องรับศึกหนักในการให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน พร้อมๆ กับปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า การติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนหรือเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ณ สนามบินทั้งสามแห่งของไทย คือ สุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ต นับเป็นหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดสายพันธุ์เม็กซิโกไม่ให้ฝ่าปราการเข้ามาได้

แม้มีหลายเสียงตั้งคำถามว่า ณ จุดตรวจ อุณหภูมิ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อยู่น้อยนิดทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่สำรองคอยปฏิบัติงานเมื่อต้องลุกไปทำกิจธุระส่วนตัว ในช่วงเวลานั้นหากมีใครอุณหภูมิสูงเกิน 36 องศา เดินผ่านไป จะทำอย่างไรหากไร้เจ้าหน้าที่คอยถามไถ่ ว่าเขาคนนั้นเคยเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงการเฝ้าระวังต่อเนื่องในประเด็นอื่นๆ ที่ประชาชนอยากรู้ เป็นต้นว่าจำนวนเครื่องเทอร์โมสแกนเพียงพอหรือไม่ หรือมีมาตรการอื่นใดอีกบ้างที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และท่าอากาศยาน จับมือกันให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนที่เดินทางโดยสายการบินต่างๆ

“กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมสแกนที่ท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง คือ สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน แต่นอกจากติดตั้งไว้ที่สามสนามบินใหญ่ๆ ที่ว่ามาแล้ว เราก็กำลังตรวจสอบว่ามีสนามบินใดอีกบ้างในประเทศไทยที่รับผู้โดยสารมาจาต่างประเทศ เช่น สนามบินเกาะสมุย ถ้าหากมีความจำเป็นเราก็ยังมีเครื่องสำรองไว้พร้อมจะติดตั้งเพิ่มอีก โดยเราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากแต่ละสนามบิน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย”

วิทยา แก้วภราดัย รมว. กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็น ก่อนกล่าวถึงมาตรการตามท่าอากศยานที่นอกเหนือไปจากการตรวจวัดอุณหภูมิ

โดยมาตรการการเฝ้าระวังอย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคม โดยจะดำเนินการในสองส่วน ขั้นแรก จะขอความร่วมมือผู้โดยสารให้กรอกแบบฟอร์มตั้งแต่อยู่บนเครื่อง ก่อนลงสนามบิน ว่าในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ผู้โดยสารได้แวะพักในประเทศที่มีการแพร่ระบาดหรือไม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางทุกคนที่มายังประเทศไทย นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น ทางกระทรวงฯ จะเข้าไปดูแลสุขภาพของท่านทันที

การดำเนินการขั้นที่ 2 คือประกาศให้เครื่องบินทุกลำขอให้ผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเวลาที่อยู่ในเมืองไทยนั้น หากเกิดอาการป่วยขึ้นหรือมีปัญหาประการใด ทางกระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะให้การตรวจรักษาได้ทันที


เสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ให้ความเห็นไม่ต่างกัน

“ผมเชื่อว่าแต่ละสายการบินก็ต้องดูแลผู้โดยสารอย่างดี และถ้าหากป่วย เขาก็ไม่ให้เดินทางอยู่แล้ว และผมก็เชื่อมั่นในความสามารถของกระทรวงสาธารณสุขว่าน่าจะสามารถดูแลป้องกันและควบคุมได้”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และยินดีอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้โดยสาร สำหรับการเฝ้าระวัง

“หน้าที่ของสนามบินก็คือจะคอยเตรียมการ นวยความสะดวกด้านสถานที่ไม่ว่ากรมควบคุมโรคติดต่อต้องการอะไร ต้องการสถานที่ ต้องการพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน อยากได้โต๊ะทำงานอยากได้พื้นที่เป็นสัดส่วนเพื่อดูอาการผู้ป่วย หากเจอผู้ป่วยจะนำผู้ป่วยออกไปทางไหน จะให้รถพยาบาลมารับอะไรยังไง เราก็มีการคิดร่วมกัน วางแผนว่าหากเจอกรณีนี้ จะนำผู้ป่วยออกไปทางไหน จึงจะไม่ปะปนกับผู้โดยสารทั่วไป

“นอกจากนี้เราก็มีการกั้น จำกัดช่องทางเดิน เพราะในบางเวลามันก็อาจเกิดช่วงที่มีผู้โดยสารคับคั่ง เราก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก คอยให้คำอธิบายคอยบอกผู้โดยสารว่าควรจะเดินไปบริเวณไหน ส่วนการติดต่อประสานงานเรื่องติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิก็ไม่มีเหตุติดขัดอะไรเลยครับ เพราะตามปกติ กรมควบคุมโรคมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรค ทำงานอยู่ที่ท่าอากาศยานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในมาตรการครั้งนี้ ผู้อำนวยการด่านควบคุมโรคก็ติดต่อประสานงานกับผู้อำนวยการสำนักแพทย์ของท่าอากาศยาน ซึ่งพูดง่ายๆ แพทย์กับแพทย์เขาก็คุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว”

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ระบบการเฝ้าระวังคนที่เดินทางเข้าประเทศที่อาจจะพาเชื้อเข้ามา เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวไม่พบในประเทศไทย เราจึงต้องเฝ้าระวังคนที่เดินทางมาจากทางประเทศแม็กซิโกและประเทศที่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อ หากพบว่ามีอาการไข้หวัด จะต้องตรวจเชื้อ และแนะนำให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งในขณะที่รอดูอาการจะไม่ให้ออกนอกโรงพยาบาล ส่วนการป้องกันอีกทางคือการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการได้รับเชื้อทางอากาศ

นพ.ม.ล.สมชาย อธิบายต่อว่า มาตรการที่ใช้ควบคุมโรคในประเทศไทยใช้ข้อบังคับกฎอนามัยระหว่างประเทศ คือ คนที่มาจากต่างประเทศ เราจะแจกใบสอบถามว่าไปอยู่ที่ไหนมาใน 2-3 วันที่แล้ว อยู่ที่ประเทศอะไร มีอาการเป็นไข้หรือเปล่า ถ้าไม่มีอะไรก็กลับบ้านได้ แต่หากมีไข้ก็จะแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และให้โรงพยาบาลดังกล่าวรายงานผลมาที่กรมควบคุมโรค ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่คาดว่าจะติดเชื้อจะนำมาพักฟื้นที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งได้เตรียมห้องปลอดเชื้อเอาไว้รองรับแล้ว โดยที่สถาบันดังกล่าวเคยมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคซาร์สมาแล้ว

"สำหรับยาต้านไวรัส เรามีมานานในสมัย 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ประสบกับไข้หวัดนก เราจึงเตรียมยามาสำรองไว้แล้ว เพราะเป็นไข้หวัดเหมือนกัน โดยมาตรการขั้นตอนการควบคุมโรค เราได้ทำเหมือนตอนที่เตรียมไว้สำหรับไข้หวัดนกทุกอย่าง คือเฝ้าระวังคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ได้นำมาตาการตรงนั้นมาปรับใช้ เพื่อป้องกันการระบาดของไข้หวัด เรามองไปข้างหน้าว่าอาจจะเกิดการระบาดของไข้หวัด โดยมีการสกัดคนเข้า-ออก มีการแนะนำคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้ระวัง มีการสำรองเวชภัณฑ์ สำรองยา และสถานที่ดูแลรักษา นั่นคือมาตรการขั้นต้น ส่วนยาที่ใช้รักษาชื่อโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งทางแพทย์ได้เตรียมไว้เรียบรอยแล้ว ถ้าหากพบว่ามีคนที่ติดเชื้อจริง เราจะใช้มาตรการ กักตัว เอาคนมาป่วยมาเฝ้าระวัง ส่วนตัวเลขการเสียชีวิตของไข้หวัดเม็กซิโก ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต 6-7 เปอร์เซ็นต์ คือยังไม่เยอะเท่าไข้หวัดนก ที่มีอัตราการตายสูงกว่า" นพ.ม.ล. สมชาย กล่าว

ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ กล่าวว่า การพัฒนาเชื้อไวรัสเริ่มต้น 4 ขั้นตอน คือ 1.การติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน 2.การติดต่อจากสัตว์สู่คน 3.การติดต่อสัตว์ต่างสายพันธุ์ เช่น สัตว์บกสู่สัตว์ปีก และ 4.การติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งจะมีการติดต่อเป็นวงกว้าง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเชื้อไวรัสนี้มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง การที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามให้เรียกชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่า ไข้หวัดเม็กซิโกแทนโรคไข้หวัดหมูนั้น เพื่อลดความตื่นตระหนกและความกลัวของประชาชน แต่ก็ไม่ควรตัดประเด็นนี้ออกไป

กระทบเศรษฐกิจมหภาค

ในภาพรวมมหภาค การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดหมู ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของโรคจะเริ่มที่ประเทศเม็กซิโก แต่เนื่องจากการกระจายตัวของเชื้อโรคที่คาดว่าจะมีความรุนแรงกว่า SARS ทำให้คาดว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะชะลอตัวลงในช่วงนี้ แน่นอนว่าก็ได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์พลังงานโลก แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ลำบากในปัจจุบัน เนื่องจากไม่รู้ขอบเขตของการระบาด ซึ่งหากถ้าปัญหานี้ยืดเยื้อออกไป จะกระทบการบริโภคโดยรวม และส่งผลลบต่อธุรกิจแทบทุกกลุ่ม

โรคระบาดครั้งใหม่นี้บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก กระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรและอาหารที่แปรรูปจากเนื้อสุกร รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสายการบินและธุรกิจโรงแรม เพราะเมื่อเกิดโรคระบาด ย่อมส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยากับประชาชนโดยตรง ส่งผลให้มีการระงับการเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง หรืองดเดินทางท่องเที่ยวออกนอกประเทศ และอารมณ์การท่องเที่ยวก็ลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการใช้น้ำมัน และทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงด้วย

ในประเทศไทยเรา ปตท. กำลังพิจารณาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก่อนจะปรับราคาขายปลีกในประเทศอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับลดลงเนื่องจากโรคนี้เช่นกัน

ภาพรวมผลกระทบของโรคนี้ในที่สุดจะบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวด อาหารตกต่ำตามภาวะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น ราคาถั่วเหลือง รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ่อนตัวลงตามกำลังซื้อที่ลดลง

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางจิตวิทยาของนักลงทุนทองทำด้วย ทำให้ราคาทองคำผันผวน เนื่องจากนักลงทุนได้คาดการณ์ว่า การระบาดของโรคดังกล่าวจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงไปอีก ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากราคา 907 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 897 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

อย่างไรก็ดีในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคนี้ จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดเข้ามามากก็ต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง

ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังคาดว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ คืออุตสาหกรรมโทรทัศน์ โรงพยาบาล โทรศัพท์มือถือ และค้าปลีกที่ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า

กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับกระทบเชิงบวก คือกลุ่มโรงพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจาก คาดว่า การระบาดของเชื้อไข้หวัดหมูที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและมีผลกระทบเร็วและรุนแรงต่อชีวิต จะเป็นปัจจัยให้ประชาชนตระหนักในสุขภาพมากขึ้น และจะเข้าตรวจรักษาเมื่อมีอาการป่วยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดหมูในต่างประเทศขณะนี้ ในวิกฤตย่อมมีโอกาส เพราะเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าอาหารชนิดอื่นของไทยเพิ่มขึ้น เช่น ไก่แช่แข็ง ไก่ปรุงสุก หรืออาหารทะเล เช่น กุ้ง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารสูง อาจมีการลดการบริโภคหมู และนำเข้าอาหารชนิดอื่นทดแทน

จากเม็กซิโกถึงตลาดสด

คราวนี้ลองก้าวเท้าเข้าไปสำรวจบรรยากาศในตลาดสด เราพบว่ายังคงคึกคักด้วยผู้ที่มาจับจ่ายซื้อหาเนื้อหมูในตลาดกลับไปประกอบอาหาร ไม่มีทีท่าว่าจะหวั่นเกรงเชื้อโรคเหมือนตอนสมัยไข้หวัดนกแพร่ระบาดเมื่อสองปีก่อน ที่ทำให้ความต้องการไก่สดในตลาดลดลง และการบริโภคไก่ภายในประเทศก็น้อยลงไปด้วย

กรณีเดียวกันนี้…จะย้อนรอยกลับมาเกิดกับเนื้อหมูด้วยหรือไม่?

สมชาย ศรีงาม เจ้าของเขียงหมูในตลาดถนนไกรสีห์ ย่านบางลำพู กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงว่าคนจะไม่ซื้อเนื้อหมูไปบริโภคหรือซื้อน้อยลงนั้น ไม่ได้เป็นเพราะสาเหตุจากข่าวไข้หวัดหมูเม็กซิโก แต่เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและราคาเนื้อหมูหน้าเขียงที่แพงขึ้นมากกว่า

“ลูกค้าโดยมากก็ไม่ค่อยถามอะไรมาก ผลกระทบมันน้อย มันยังไกลอยู่ แต่เป็นเพราะข่าวที่ออกมามากกว่า ทำให้คนซื้อพะวักพะวน จริงๆ ไม่มีอะไรเลย เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีคนเลยซื้อน้อย”

โดยเนื้อหมูที่เขียงเฮียสมชายรับมาขายนั้น เป็นเนื้อหมูที่เลี้ยงจากฟาร์มปิดที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการตรวจสอบและควบคุมโรคอยู่แล้ว จึงมั่นใจได้ว่าสะอาด ไว้ใจได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อก็มักจะเป็นลูกค้าขาประจำเป็นหลัก

ขณะที่ ไสว โน้ตไชยา พ่อค้าขายหมูปิ้งอีกรายหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบกล่าวว่า ลูกค้ายังคงมาอุดหนุนหมูปิ้งตามปกติ แต่ละวันต้องใช้เนื้อหมูสดนับสิบกว่ากิโลกรัม ทำให้ไม่วิตกว่ากระแสข่าวไข้หวัดหมูนั้นจะส่งผลต่อยอดขายแต่อย่างใด ตราบใดที่โรคหวัดชนิดดังกล่าวไม่แพร่ระบาดมาถึงประเทศไทย

“คิดว่าถ้ามันมาไม่ถึงบ้านเราก็คงไม่มีอะไร ถ้ามันเข้ามาในบ้านเราคนก็อาจจะกลัว เราก็ดูข่าวตลอด กองควบคุมโรคเขาก็บอกว่า เนื้อหมูในบ้านเราก็ปกติ ปลอดภัยในการกิน ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกลัว บางคนวิตกกลัวจะมีเชื้อแพร่เข้ามา แต่เขาบอกไม่มีอะไรบ้านเรายังปลอดภัยอยู่”

ทางด้าน จารวี เดโชสุนทร แม่ค้าขายอาหารตามสั่งผู้หนึ่งบอกว่า เธอยังคงไปจ่ายตลาดซื้อเนื้อหมูตามปกติ เพราะเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารเกือบทุกชนิด หากจะให้งดขายอาหารที่มีเนื้อหมูไปเลยจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากคนที่กลัวมากจริงๆ ก็อาจเปลี่ยนไปสั่งอาหารอย่างอื่น เช่น เนื้อไก่หรือเนื้อปลาแทน

“ตอนนี้ลูกค้าก็ยังสั่งอาหารที่มีเนื้อหมูตามปกติ ไม่มีอะไรเลย แตกต่างกับตอนไข้หวัดนก ที่คนตื่นตูมกันมาก เพราะมันแพร่ระบาดในเอเชีย ในบ้านเราก็เห็นไก่ป่วยตาย นกตายเป็นเบือ แถมมีคนตาย แต่ไข้หวัดหมูกระแสมันยังไม่มา ยังเป็นแค่กระแสข่าวอยู่ มันเกิดในเม็กซิโกยังไม่เข้ามาไทย เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบกับไข้หวัดนกจริงๆ ไข้หวัดนกน่ากลัวกว่าอีกเพราะมันใกล้ตัว”

******************

โรคอุบัติใหม่ ภัยที่ต้องเตรียมรับมือ

ไม่กี่ปีก่อนซาร์สและไข้หวัดนกสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก ตอนนี้ก็มีไข้หวัดเม็กซิโกเกิดขึ้นอีก คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา โรคร้ายแปลกๆ ทำไมจึงเกิดขึ้นด้วยความถี่อันน่าตกใจเช่นนี้

รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ แพทย์ทางจุลชีววิทยา และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้คำตอบว่า

“ไข้หวัดตัวนี้ถือเป็นโรคอุบัติใหม่เลย เป็นของใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ ไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อ 200 ปีก่อนแล้ว มันมีมาเป็นระยะ

“ความจริงในปีสองปีที่ผ่านมาเรามีการศึกษาอยู่และมีข้อเสนอเชิงนโยบายโดยที่เราไม่ได้ทราบเรื่องนี้มาก่อน เราได้เสนอรัฐมนตรีไปแล้ว ใช่ครับ เราควรจะมีระบบที่เชื่อมโยง เพราะเวลามีการระบาดคนที่เกี่ยวข้องมันเยอะมาก และภายใต้โครงสร้างระบบราชการของเรา มันกระจายอยู่ตามกรมกองต่างๆ จึงมีข้อเสนออยู่ว่าต้องหาวิธีให้หน่วยงานเหล่านี้เชื่อมโยงกันมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเราคิดว่าสถานการณ์โรคอุบัติใหม่เป็นสถานการณ์ที่จะมาสม่ำเสมอพอสมควร เพราะนับตั้งแต่ต้นศตวรรษเป็นต้นมาก็มีมาสามสี่รอบแล้ว

“โรคที่เกิดขึ้นใหม่ก็ถูกแล้ว ไม่ได้มีความหมายเป็นพิเศษมากกว่านั้น แต่มันพิเศษตรงที่ว่าวิชาแพทย์มันมีมานานแล้ว นึกว่ารู้จักโรคหมดแล้ว แต่ทำไมถึงยังมีโรคที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เป็นความแปลกใจของวงการแพทย์

“เราก็รู้สึกความถี่ในการเกิดโรคใหม่ๆ มันสูงขึ้นนะ สาเหตุหลักๆ คือ

“หนึ่ง-ประชากรโลกสูงขึ้น อายุมากขึ้น โรคซึ่งจำเพาะสำหรับคนแก่ แต่ก่อนไม่ค่อยเห็น แต่เดี๋ยวนี้มีมากขึ้น

“สอง-สัตว์เลี้ยงเรามากขึ้นเยอะ สมัยก่อนเราไม่ได้เลี้ยงสัตว์มากขนาดนี้ อย่างเช่นไก่ในเขตเอเชียมีอยู่เกินกว่าหมื่นล้านตัว ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่มนุษยจะเลี้ยงไก่จำนวนมหาศาลแบบนี้ และไก่จำนวนมหาศาลนี้เป็นบ่อฟักเชื้อ หมูก็เหมือนกัน

“สาม-ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เกิดคนซึ่งมีความอ่อนแอทางการแพทย์ หมายความว่าคนจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคหลายชนิด แต่ก่อนตายหมดเลย แต่เดี๋ยวนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าจะต้องกินยาเป็นประจำ แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งในเชิงโรคอุบัติใหม่ คนเหล่านี้ก็สามารถติดโรคที่คนธรรมดาไม่ติด ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ก็จะมีโรคใหม่เกิดขึ้นตามมาด้วย

“สี่-คือมนุษย์ก็ใช้ชีวิตเปลี่ยนไป กินเยอะขึ้น สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย อ้วน เราจึงได้โรคใหม่ๆ อีกชุดหนึ่ง”

**************

เรื่อง-ทีมข่าวปริทรรศน์

กำลังโหลดความคิดเห็น