xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยเฝ้าระวังโผล่จุฬาฯ สธ.ยันไม่ใช่หวัดเม็กซิโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน–หวิดวุ่น รพ.จุฬาฯ เผยพบผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง “หวัดหมู” รายแรก ระบุกลับจากเม็กซิโก สั่งแยกคนไข้พร้อมประสานไปยังเครือญาติเพื่อเฝ้าระวัง เผยผลตรวจเบื้องต้นพบเป็นหวัดธรรมดา รอผลแล็บยืนยันวันนี้ แพทย์ยันไม่น่ากังวล ด้านครม.มีมติตั้งคณะกรรมการระดับชาติคุม “เสธ.หนั่น” เป็นประธาน สธ.สั่งตรวจเข้มผู้โดยสารจากพื้นที่เสี่ยงทุกสนามบินนานาชาติ ชงจัดเคาน์เตอร์พิเศษรับ พร้อมออกประกาศคำเตือนฉบับที่ 1 หากไม่จำเป็นไม่ควรเดินทางในพื้นที่ระบาด “พาณิชย์” หวังอานิสงส์ไข้หวัดหมูระบาดต่างประเทศ ดันยอดส่งออกสินค้าไก่-กุ้งไทยพุ่ง หลังทั่วโลกผวาลดการบริโภคเนื้อหมูลง

นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้รับตัวผู้สงสัยป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดในเม็กซิโกไว้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 42 ปี เป็นบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินทางปฏิบัติราชการที่ประเทศเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 3-11 เม.ย. หลังกลับประเทศไทยมีไข้ต่ำในวันที่ 23 เม.ย. จากนั้นกลับมามีไข้ต่ำอีกครั้ง ในวันที่ 26 เม.ย. และวานนี้ (28 เม.ย.) เดินทางมารับการตรวจที่โรงพยาบาลด้วยไข้สูงถึง 37 องศาเซลเซียส แพทย์จึงรับตัวไว้ดูอาการ เนื่องจากเข้าข่ายว่าอาจมีอาการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เม็กซิโก จึงต้องมีการตรวจอีกครั้งว่าเข้าเกณฑ์ป่วยด้วยโรคดังกล่าวหรือไม่ หลังจากนั้นจะรายงานตามระบบให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบอีกครั้ง

รศ.นพ.ธีระพงศ์ กล่าวถึงช่วงเวลาการเดินทางของผู้ป่วยดังกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 3-11 เม.ย. อยู่ที่เม็กซิโก วันที่ 11-19 เม.ย. อยู่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ 19-21 เม.ย. อยู่ที่ไทย และวันที่ 22-25 เม.ย.อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูง เมื่อวันที่ 23 เม.ย. และไข้ลดลงด้วยการทานยาเอง และเมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีไข้ต่ำประกอบกับมีข่าวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดในเม็กซิโก จึงเดินทางมาพบแพทย์ด้วยตัวเอง

เบื้องต้นนอกจากแพทย์จะแยกคนไข้ไว้ในสถานที่เตรียมไว้แล้ว พร้อมประสานไปยังเครือญาติที่คนไข้ได้สัมผัสหรือมีปฏิสัมพันธ์เพื่อเฝ้าระวังต่อไป นอกจากนี้ แพทย์จะนำสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ไปตรวจที่ห้องแล็บเพื่อเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบ

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยมีอาการเหมือนอาการไข้หวัดใหญ่ จึงขอกักตัวดูอาการไว้ก่อนว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการรุนแรง เดินเหินได้ปกติ แต่ที่ต้องกักเพราะเป็นมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรค

เบื้องต้นหวัดธรรมดารอผลแล็บยืนยันวันนี้

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบผลการยืนยันจากห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ให้ผลเป็นลบ ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีก 1-2 วัน แต่ยังต้องรอผลการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกใน 48 ชั่วโมง จากนั้นรายงานไปยังศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC)

ขณะที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลเบื้องต้นระบุว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา และเมื่อพิจารณาจากระยะฟักตัวของโรคจึงไม่น่ากังวลมาก เพราะเดินทางกลับมาจากประเทศเม็กซิโกเป็นเวลานานพอสมควร ซึ่งตามขั้นตอนจะให้คนไข้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน เพื่อสังเกตอาการต่อไป ยังถือว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้าข่ายเฝ้าระวังเท่านั้น

นพ.มานิต ตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจยืนยันเบื้องต้นสามารถทำได้ภายใน 4 ชั่วโมง แต่หากจะต้องยืนยันอีกครั้งจะต้องนำตัวอย่างเชื้อโรคเข้าพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง อีกทั้งต้องยืนยันจากผลการตรวจกับ 5 ห้องปฏิบัติการของโรงเรียนแพทย์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าที่จะสามารถประกาศว่าพบผู้ป่วยรายแรก ขั้นตอนดังกล่าวเป็นขั้นตอนเดียวกันกับตอนตรวจพิสูจน์ไข้หวัดนก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สธ.จะแถลงผลแล็บยืนยันของผู้ป่วยเฝ้าระวังในวันนี้(29 เม.ย.)

ครม.ตั้ง “เสธ.หนั่น” คุมรับมือ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องไข้หวัดหมู ว่า ครม.ได้รับทราบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งนี้ ครม.เห็นว่า ระบบการเฝ้าระวังจะต้องทำในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงทุกหน่วยงานได้อย่างมีเอกภาพ จึงได้มอบหมายให้ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการที่จะดูแลเรื่องมาตรการการเฝ้าระวังโดยทำงานประสานกับทางองค์การอนามัยโลก (WHO ) และต่างประเทศ

เมื่อถามว่า จะมีการประกาศเตือนห้ามคนไทยเดินทางไปเที่ยวที่เม็กซิโกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ แต่จะให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ว่า เหตุการณ์ระบาดขณะนี้ มีที่ไหน อย่างไรบ้าง ส่วนผู้ที่กลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด ก็ต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง และเข้าสู่กระบวนการที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องการให้คนที่มาเกิดความเชื่อมั่น และทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่ามาไทยแล้วปลอดภัย

สธ.สั่งตรวจเข้มทุกสนามบิน

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศจัดความรุนแรงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือเชื้อมีการติดต่อจากคนสู่คน มีการแพร่ระบาดในชุมชนอย่างต่อเนื่องว่า สธ.ได้ยึดหลักปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ที่ประกาศใช้เมื่อพ.ศ.2551 และเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังโรคมากขึ้น โดยตรวจวัดไข้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่สนามบินนานาชาติทุกแห่ง

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะเน้นผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันตามประกาศขององค์การอนามัยโลกก่อน หากพบรายใดมีไข้ จะซักประวัติและตรวจเพิ่มเติม หากป่วยชัดเจนจะส่งตัวไปตรวจรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งได้จัดเตรียมห้องรองรับเรียบร้อยแล้ว

นายวิทยากล่าวต่อว่าผู้โดยสารทุกรายที่เข้าสู่ประเทศไทย จะได้รับบัตรคำเตือนสุขภาพ (Health Beware Card) ระหว่างที่พำนักในไทย หากเกิดอาการไม่สบายภายใน 14 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ตรวจรักษาและแจ้งประวัติการเดินทาง ซึ่งจะทำให้สามารถให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากโรคนี้สามารถใช้ยาต้านไวรัสรักษาได้ และใช้ได้ผลดีภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการ ซึ่งสธ.ได้กระจายไปให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 29 เม.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก ที่รัฐสภา เวลา 14.00 น. โดยสธ.จะเสนอให้มีการขอความร่วมมือทุกสายการบินแจกแบบฟอร์มสอบถามประวัติการเดินทางผู้โดยสารว่าผ่านประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ หากมีการเดินทางจะจัดเคาน์เตอร์พิเศษในการรองรับผู้โดยสารกลุ่มนี้

ออกประกาศคำเตือนฉบับที่ 1

นายวิทยา กล่าวต่อว่า สธ.ได้ออกแถลงการณ์คำเตือนประชาชนฉบับที่ 1 เพื่อให้รู้ว่ามีความเสี่ยงในการเดินทางไปประเทศเม็กซิโก บางเมืองในสหรัฐฯ และประเทศที่มีการแพร่ระบาด แต่ในช่วงนี้หากไม่จำเป็น ขอให้เลื่อนหรือชะลอการเดินทางไปยังเมืองที่เป็นพื้นที่ที่เกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง และหากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ระบาด ขอให้เลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอจาม หลีกเลี่ยงการเข้าไปที่สถานที่แออัด พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด โดยให้ล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของหรือราวบันได ปุ่มลิฟต์ รวมทั้งหากเดินทางกลับประเทศไทย ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่นมีไข้ ไอ ปวดเมื่อย เจ็บคอ ภายใน 7 วันหลังเดินทางกลับ ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อรับการรักษาและการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด

“ขณะนี้ได้ประสานให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกที่ประจำในประเทศไทยทำสัญญาณไปยังองค์การอนามัยโลกเพื่อขอความร่วมมือให้ประเทศเม็กซิโก ตรวจสอบคนที่จะเดินทางออกนอกประเทศว่ามีอาการป่วยของโรคอยู่ในระดับการแพร่เชื้อหรือไม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบผู้ป่วยตั้งแต่ประเทศต้นตอ”นายวิทยากล่าว

นายวิทยา กล่าวด้วยว่า สธ.ได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมสแกนนเอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ที่สนามบินนานาชาติเกาะสมุย รวมทั้ง จะหารือกับกระทรวงคมนาคมว่ามีช่องทางใดอีกบ้างที่จะมีการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิเทอร์โมสแกนให้ครบทุกแห่ง

กรมวิทย์ฯ พร้อมตรวจวิเคราะห์เชื้อ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนยิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถือเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการทั้งหมด โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก โดยการพัฒนาวิธีการตรวจชันสูตรและจัดตั้งระบบการเฝ้าระวังโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในส่วนกลางได้มีการประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์ประสานกฎอนามัยระหว่างประเทศด้านห้องปฏิบัติการ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการที่อ้างอิงระดับชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก รวมถึงโรงพยาบาลที่เป็นมหาวิทยาลัยแพทย์ซึ่งมีศักยภาพในการตรวจพิสูจน์เชื้อไวรัส ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ส่วนในภูมิภาคมีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ที่สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้อย่างคลอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ หรือ รถโมบายแล็บที่สามารถให้บริการทราบผลภายในเวลา 4 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่ห่างไกล พร้อมทั้งประสานโรงพยาบาลมหาวิทยาแพทย์ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น

องค์การเภสัชฯ ยันพร้อมกระจายยา

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า สธ.ได้มอบหมายให้เตรียมความพร้อมในการสำรองยาต้านไวรัส ซึ่ง อภ.มีประสบการณ์จากการระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนก โดยมีการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ ในชื่อ “จีพีโอ เอ ฟลู” ซึ่งนักวิชาการยืนยันว่า มีสรรพคุณรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ ไว้จำนวน 170,000เม็ด สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 17,000 คน โดยผู้ป่วย 1 ราย ต้องรับประทานยาวันละ 2 เม็ด เป็นระยะเวลา 5 วัน และมีการสำรองวัตถุดิบเพื่อผลิตยาต้านไวรัสไว้อีก 1 ล้านเม็ด สำหรับผู้ป่วยจำนวน 100,000 คน โดยสามารถผลิตได้ภายใน 4 วัน ซึ่งอภ.มีความพร้อมในการกระจายยาให้สถานพยาบาลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใน 12 ชั่วโมง ส่วนในภูมิภาคจะส่งให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ส่วนการเตรียมความพร้อมของวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากการสัมผัส เช่น หน้ากากอนามัย หมวก และเจลล้างมืออนามัย อภ.มีสำรองไว้พร้อมเช่นกัน สามารถติดต่อได้ในทันที

ยันไม่ต้องขอเชื้อต้นแบบจากจังโก้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ไทยไม่จำเป็นต้องรอเชื้อไวรัสต้นแบบขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์แยกเชื้อมีหลายรูปแบบที่จะยืนยันว่าเป็น สารพันธุกรรมเดียวกันกับเชื้อไวรัสต้นแบบหรือไม่ โดยมีความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรมว่าเป็นไข้หวัดชนิด เอ หรือไม่ สายพันธุ์ไหน เป็นสายพันธุ์ที่มีตามฤดูกาลอยู่แล้ว หรือสายพันธุ์ใหม่ โดยนำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่แล้วเกือบ 10 ตัว ดังนั้น ขอให้สบายใจได้

สธ.ชี้ต้องคุมไม่ให้เป็นระดับ 5

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข จากการที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศยกระดับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มาจากเม็กซิโก เป็นระดับ 4 ว่า การแพร่ระบาดระดับ 4 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่มีความสำคัญ หากควบคุมการระบาดไม่ได้ และขยับระดับเป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นการระบาดข้ามประเทศในทวีปเดียวกัน จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

สำหรับไทย หลังจากมีการประกาศยกระดับสถานการณ์ ต้องให้ความสำคัญกับการเดินทางเข้าประเทศ หากพบผู้ต้องสงสัย หรือผู้ป่วย จะต้องสามารถสกัดและควบคุมการแพร่เชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นผู้ที่เดินทางที่มาจากพื้นที่เสี่ยงซึ่งโรคอาจอยู่ในระยะฟักตัว ทั้งนี้ ได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มีการเรียกประชุม สมาคมนักท่องเที่ยว ในวันที่ 29 เม.ย.นี้เพื่อชี้แจงมาตรการการดูแลลูกทัวร์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังหากมีอาการเจ็บป่วย ให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค

นพ.คำนวณ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้เพิ่มการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง จากเดิมที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดนก 3 ข้อ เป็น 5 ข้อ คือ 1.อยู่ในพื้นที่ที่มีการป่วยตายของสัตว์ปีก 2.มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก 3.ใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วย 4.เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดเม็กซิโก และ5.เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หากผู้ป่วยมีประวัติเข้าข่ายนิยามโรคก็จะต้องแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยอื่น และทำการส่งเชื้อตรวจสอบ

สัตวแพทย์จุฬาฯ หวั่นหวัดนกผสมโรง

วันเดียวกัน ศ.น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยืนยันว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดเม็กซิโก ที่ในช่วงแรกเรียกว่า “ไข้หวัดหมู” นั้น พบเพียงการติดจากคนสู่คนเท่านั้น ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อดังกล่าวจากหมูมาสู่คนแต่อย่างใด จึงถือว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเชื้อคนละชนิดกับเชื้อไข้หวัดหมูโดยทั่วไป รวมทั้งเชื้อไข้หวัดหมูในประเทศไทย อีกทั้งย้ำว่าเชื้อไข้หวัดหมูทั่วไป จะติดต่อผ่านทางการคลุกคลี ไม่ได้ติดต่อผ่านทางการกิน แต่ที่ยังต้องมีการสกัดห้ามนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการปิดประตูโอกาสในทุกทาง

“แม้ชื่อเป็น H1N1 เหมือนกัน แต่ไส้ในไม่เหมือนกัน จากการศึกษาไข้หวัดหมูตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2531 เชื้อยังไม่เปลี่ยน กระทั่งล่าสุดปี 2546-2548 ก็ยังมีหน้าตาเชื้อไม่เปลี่ยนไป แต่ที่เรากังวลและต้องเฝ้าระวังอย่างมากคือ หมูเป็นสัตว์ที่มีเซลล์รับเชื้อหวัด และเป็นที่ผสมเชื้อได้ดี ในบ้านเรามีเชื้อไข้หวัดนกอยู่แล้ว ไข้หวัดนกอาจไปผสมโรงกับไข้หวัดหมูในฟาร์มหมู แล้วกลายพันธุ์เป็นเชื้อใหม่ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของเชื้อนี้มาตั้งแต่ปี 2531” คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

สพ.ญ.ดร.ประวีณา กิติคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโรคสุกร กล่าวว่า จากการติดตามศึกษาเชื้อไข้หวัดหมูในไทยประเทศไทย หลักฐานทางซีรั่มวิทยาพบว่ามีการวนเวียนของเชื้อ H1 และ H3 ในฟาร์มหมูอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมเชื้อไข้หวัดหมูในไทย ก็พบว่าไม่เหมือนกับลักษณะของเชื้อไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก โดยยกตัวอย่างอย่างยีนส์ HA และ NA ซึ่งเป็น 2 ใน 8 ท่อนยีนส์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ พบว่าเป็นเชื้อที่จัดในกลุ่มอเมริกากับยุโรป ขณะที่เชื้อของไทยอยู่คนละกลุ่มกัน

ในการแถลงข่าวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในหมูในประเทศไทยว่า เป็นโรคที่พบไม่มากนัก และไม่บ่อยนักในไทย โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนยิ่งพบน้อย และโรคไข้หวัดหมูนี้ หมูจะแสดงอาการชัดเจน เกษตรสามารถเข้าดูแลได้ทันที โอกาสที่เชื้อจะไปผสมพันธุ์กับเชื้อไวรัสอื่นก็จะน้อยลง ที่ผ่านมาไข้หวัดหมูพบมากในช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาว แต่กลับไม่พบว่าเกิดความเสียหายต่อฟาร์มหมูอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าไข้หวัดหมูไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกรไทย

”พาณิชย์”หวังส่งออกไก่-กุ้งไทยพุ่ง

นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดหมูในต่างประเทศขณะนี้ ในแง่การตลาดนั้น มองเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารชนิดอื่นของไทยเพิ่มขึ้น เช่น ไก่แช่แข็ง ไก่ปรุงสุก หรืออาหารทะเล เช่น กุ้ง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารสูง อาจมีการลดการบริโภคหมู และนำเข้าอาหารชนิดอื่นทดแทน

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยืนยันว่าการบริโภคเนื้อหมูที่ปรุงสุกไม่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดหมู อีกทั้งหมูที่บริโภคส่วนใหญ่ในไทยเป็นการผลิตในประเทศ และเครื่องในหมูที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ก็มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจเข้มในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นประชาชนไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป

สำหรับการแก้ไขปัญหาเนื้อหมูราคาแพงขณะนี้นั้น ทางกรมการค้าภายในกำลังหาวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งจะมีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวในอุตสาหกรรมหมูในวันนี้ (29 เม.ย.)

นายประสาธน์ เอกบุญเขต ผู้บริหารบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ในเครือสหฟาร์ม กล่าวว่า ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่มีกระแสข่าวไข้หวัดหมูระบาดในต่างประเทศและปัญหาเนื้อหมูราคาแพง แต่เชื่อว่าราคาไก่คงปรับสูงขึ้นไม่มาก หรือปรับขึ้นประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ราคาเนื้อไก่ล้วนอยู่ที่กก.ละ 58-60 บาทหากปรับขึ้นไม่น่าเกินกก.ละ 70 บาท และยิ่งหากราคาหมูอ่อนตัวลง ไม่มีเหตุผลที่ราคาเนื้อไก่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปริมาณเนื้อไก่ในประเทศมีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภค แม้ว่าผู้บริโภคจะหันมาบริโภคเนื้อไก่ทดแทนเนื้อหมูเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศอยู่ที่ 15-17 ล้านตัวลูกไก่/สัปดาห์ หรือคนไทยบริโภคเนื้อไก่ต่อคนต่อปีแค่ 13-15 กก. เท่านั้น เทียบกับเนื้อหมูแล้วยังน้อย จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีก

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาไข้หวัดหมูที่แพร่ระบาดอยู่ในต่างประเทศขณะนี้ ไม่น่าหนักใจ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ห่างไกลประเทศไทยมาก อีกทั้งเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่รัฐบาลดำเนินการว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ จึงเชื่อว่าการบริโภคเนื้อหมูจะอยู่ในระดับปกติ แต่หากไม่มั่นใจก็อาจบริโภคเนื้อไก่ เนื้อปลา ทดแทนได้

ทูตพาณิชย์เตือน

นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยกรสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประทศ ณ กรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก กล่าวถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเม็กซิโกว่า ขอเตือนนักธุรกิจไทยที่จะเดินทางมาเม็กซิโกในช่วงนี้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และเป็นที่ไว้วางใจได้ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในเม็กซิโก ได้ส่งอีเมล์แจ้งคนไทยในเม็กซิโกให้ระมัดระวังป้องกันตัวอง และครอบครัวจากการติดเชื้อ โดยขณะนี้สถานทูตไทยยังไม่ได้รับแจ้งว่าคนไทยติดเชื้อไข้หวัดดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น