หมอเตือนแห่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่ได้ช่วยกันหวัดเม็กซิโก ด้าน สธ.ยันไทยไม่จัดอันดับตามทั่วโลก เพราะยังไม่มีผู้ป่วย เน้นเฝ้าระวังผู้เดินทางเข้า หากพบป่วยย้ำตะครุบตัวให้ทัน ขณะที่ อธิบดีกรมการแพทย์ สั่งการ รพ.ราชวิถี ตั้งประตูวัดไข้จุดรับผู้ป่วยนอกให้เสร็จในสัปดาห์นี้
ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและอาจารย์ประจำภาควิชา จุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ฝากเตือนประชาชนที่กำลังตื่นตระหนกจนแห่ไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามสถานพยาบาลต่างๆ ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีให้บริการอยู่นั้นไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในเม็กซิโกแต่อย่างใด เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาฯ ยังออกมาชี้แจงกับสาธารณะ ว่า วัคซีนในท้องตลาดไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกได้ เพราะแม้ว่าตัวเชื้อจะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอช1เอ็น1 ก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างกันมากพอควร
“ในวัคซีนที่จำหน่ายในท้องตลาดจะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ เอช1เอ็น1 และสายพันธุ์ เอช3เอ็น2 และไข้หวัดใหญ่ชนิดบี แม้ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั่วไปที่ระบาดตามฤดูกาล ซึ่งวัคซีนสามารถป้องกันได้จะมีไวรัส เอช1เอ็น1 เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก แต่ก็ถือว่ามีความแตกต่างมากพอสมควร และไม่สามารถระบุได้เลยว่าวัคซีนในปัจจุบันจะป้องกันไข้หวัดเม็กซิโกได้บ้างหรือไม่ได้เลย”ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในส่วนของวัคซีนไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกคงต้องรออีกระยะหนึ่ง เพราะหลังจากที่องค์การอนามัยโลกเตรียมเชื้อไวรัสสำหรับผลิตวัคซีนจะต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 2-3 เดือนกว่าที่จะสามารถผลิตมาใช้ป้องกันได้ ซึ่งได้ทราบข่าวว่าขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้เตรียมตัวในเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว
“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ว่าจะมีการเตรียมเชื้อไวรัสสำหรับการผลิตวัคซีน ซึ่งใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากผลิตวัคซีนเป็นผลสำเร็จแล้ว จะมีการกระจายวัคซีนไปที่ประเทศใด จะแจกจ่ายกับประเทศที่มีการระบาดอย่างไร หรือบริษัทที่ผลิตจะเก็บไว้ใช้สำหรับประชาชนในประเทศของบริษัทผู้ผลิตเพียงอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าทั่วโลกจะมีการยกระดับความรุนแรงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของเม็กซิโกเป็นระดับใด จะเป็นระดับ 5 หรือ 6 อีกในอนาคต หากในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยก็ยังถือว่าไทยจะไม่ได้ยกระดับความรุนแรงสอดคล้องกับทั่วโลกก็ดำเนินการได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดำเนินการอะไรเลย ซึ่งมาตรการในการเตรียมความพร้อมทางวิชาการได้เตรียมในระดับที่เลวร้ายไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่หากยังไม่มีป่วยในประเทศ มาตรการที่ดำเนินการคือการป้องกันและเฝ้าระวังเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศ
นพ.คำนวณ กล่าวว่า หากประเทศไทยการยกระดับความรุนแรงเป็นระดับ 4 สอดคล้องกับทั่วโลก ซึ่งหมายถึงการพบการติดเชื้อจากคนสู่คนและมีการแพร่เชื้อในวงกว้าง จะต้องมีการใช้มาตรการทุกวิถีทางในการคุมการสกัดไม่ให้เชื้อลุกลาม พร้อมทั้งให้ยาโอเซลทามิเวียร์กับคนจำนวนมากและเฝ้าสังเกตอาการทุกวัน แต่หากเป็นระดับ 5 ของประเทศไทยคือ ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ จำเป็นที่คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธานสั่งการหน่วยงานต่างๆ มาพร้อมทำหน้าที่ในการป้องกันยับยั้งการระบาดตามแผนแม่บทที่เคยเสนอ ครม.มาก่อนหน้านี้
“แม้ว่าทั่วโลกจะมีการยกระดับความรุนแรงเป็นมากเพียงใด แต่หากไทยยังไม่มีผู้ป่วยก็ยังคงตรวจตราผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มข้นต่อไป ขณะเดียวกันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังคงไม่รุนแรง หากประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นต่างๆก็ยังไม่กระทบเท่าใดนักเมื่อเทียบกับพบการระบาดในประเทศไทย ซึ่งเราจำเป็นต้องรักษาสถานะอย่างนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.คำนวณ กล่าว่า ในแง่เชิงการป้องกัน หากเพิ่มระดับเป็นระดับ 5 จะเกิดกระทบแน่นอน เพราะระดับ 5 อาจมีการระบาดในประเทศแถบยุโรป และหากระดับ 6 ก็จะขยับมาใกล้อยู่ในแถบเอเชีย ซึ่งกระทบต่อการทำให้ไทยป้องกันได้ยากยิ่งขึ้น หากระบาดในไทยก็ต้องตะครุบตัวผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื่อว่าจากการเตรียมความพร้อมของนานาชาติในขณะนี้คงไม่มีการยกระดับความรุนแรงไปถึงระดับ 6
“เมื่อเทียบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในเม็กซิโกเทียบความรุนแรงที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 5-6% ซึ่งน้อยกว่าโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์สที่มีอัตราการเสียชีวิตถึง 15% หรือไข้หวัดนกที่มีอัตราตายถึง 60% เพราะโรคไข้หวัดเม็กซิโกได้เปรียบที่มียารักษา แต่ในแง่ของการแพร่ระบาดไข้หวัดเม็กซิโกแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า
ขณะที่นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลราชวิถี ติดตั้งประตูวัดไข้ ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส มาใช้ตรวจวัดผู้ที่มารับบริการในบริเวณจุดรับผู้ป่วยนอก เพื่อคัดแยกผู้ที่มีอุณหภูมิสูงออกจากผู้ป่วยทั่วไปและบุคคลปกติโดยไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นการควบคุมป้องกันการติดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโกในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้รพ.ราชวิถีได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) พัฒนาโปรแกรมประมวลผลภาพจากกล้องถ่ายภาพรังสีความร้อน (อินฟาเรด) ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไม่สัมผัส โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้หลายคนพร้อมกัน และให้บริการตรวจวัดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แยกผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงหรือผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อโรคติดต่อร้ายแรง ไปรับการรักษาในห้องตรวจแยกโรคที่ได้มาตรฐานต่อไป ซึ่งการติดตั้งระบบดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์หน้านี้
รวมข่าวเกี่ยวเนื่องโรคหวัดเม็กซิโกในประเทศไทย