xs
xsm
sm
md
lg

“ปะการัง เอ็กซ์ปอร์ต” ปรับตัวอย่างไรในภาวะตลาดโลกวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเอ่ยชื่อ “ฐนิตนันท์ มูลศรีชัย” เชื่อว่าคงเป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นที่รู้จักกันดีในย่านโบ้เบ้และแวดวงเทรดดิ้งเฟิร์ม เพราะเป็นเจ้าแรกๆ ในย่านโบ้เบ้ ที่สามารถขยับขึ้นมาเป็นเทรดดิ้งเฟิร์ม

เส้นทางการทำธุรกิจของฐนิตนันท์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จากการทำธุรกิจการ์เม้นท์ จำพวกเสื้อผ้าผลิตตามออเดอร์, ผลิตเพื่อการส่งออก โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ย่านโบ้เบ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการขายส่งแหล่งใหญ่ของเมืองไทย ในนามของ “ร้านปะการัง”
ฐนิตนันท์ มูลศรีชัย
ฐนิตนันท์เริ่มเจาะจากตลาดภายในประเทศก่อน แล้วขยายไปเจาะตลาดส่งออก ทั้งตลาดอเมริกา ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดยุโรป และตลาดเอเชีย

แต่เมื่อออเดอร์ที่เข้ามามีมากกว่าสินค้าพวกเสื้อผ้าที่ผลิตอยู่ ดังนั้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ฐนิตนันท์จึงเริ่มมองหาสินค้าจากโรงงานอื่นๆ มาป้อนให้กับลูกค้า

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มอย่างเต็มตัวในนามของบริษัท ปะการัง เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด

“หลักในการทำการค้าของเรา คือ จะไม่ปฏิเสธลูกค้า มันก็เลยเป็นที่มาของการเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มไปโดยปริยาย โดยไม่คิดว่าจะได้เป็น แต่มันเกิดจากการที่เราชอบเซอร์วิส ซึ่งเมื่อเราเซอร์วิสลูกค้าดี งานก็เข้ามามากขึ้น พองานมากขึ้นก็ขยายจากการ์เม้นท์มาเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มด้วย เพราะเราไม่ได้ผลิตสินค้าขายเพียงอย่างเดียว แต่ไปหาสินค้าจากที่อื่นมาด้วย”

เรียกได้ว่า ไม่ว่าลูกค้าต้องการอะไร ฐนิตนันท์ก็จะพยายามจัดหาให้หมด ซึ่งนอกจากเสื้อผ้าแล้ว ก็จะมีพวกกระเป๋า, รองเท้า กิ๊ฟช้อป, ของใช้และของตกแต่งภายในบ้าน ฯลฯ โดย 50% จะทำตลาดในรูปแบบของ OEM คือ รับจ้างผลิต และอีก 50% จะใช้แบรนด์ของตัวเอง คือ แบรนด์ปะการัง

และเพื่อเสริมความคล่องตัวในการทำธุรกิจให้ครบวงจรทุกด้าน ฐนิตนันท์ก็ได้จัดตั้ง บริษัท Swan Cargo จำกัด ขึ้นมา เพื่อให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งมีทั้งแบบขนส่งทางเรือและทางอากาศ

“ที่ผ่านมาตลาดใหญ่ของเราจะอยู่ที่อเมริกา มีสัดส่วนกว่า 50% ที่เหลือจะเป็นพวกยุโรป เช่น อัมสเตอร์ดัมส์, ฝรั่งเศส และตลาดเอเชีย อย่างประเทศเพื่อนบ้านเราก็มี ส่วนตลาดในประเทศเองตอนหลังมานี่จะเป็นส่วนน้อยมากๆ”

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การทำธุรกิจการ์เม้นท์และการเป็นเทรดดิ้งเฟิร์มมานาน ทำให้ฐนิตนันท์มีความเข้าใจถึงความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละตลาด กล่าวคือ ถ้าเป็นตลาดอเมริกา จะเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นหน้าร้อน ชายหาด มีปริมาณการสั่งซื้อเยอะ

แต่ถ้าเป็นตลาดยุโรป จำนวนการสั่งซื้อไม่ค่อยมาก จะเป็นแฟชั่นแบบฉาบฉวย เปลี่ยนแบบบ่อยๆ ส่วนตลาดอาหรับและตะวันออกกลาง จะเน้นเสื้อผ้าแบบเบสิกๆ เป็นเสื้อผ้าซัมเมอร์ และแบบฮาวาย ราคาจะไม่ค่อยแพงมาก และไม่ค่อยเน้นแฟชั่น

อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันว่าในวงการการ์เม้นท์จะมีเรื่องของกระแสและแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งฐนิตนันท์ บอกว่า ในปัจจุบันกระแสความนิยมในแต่ละช่วงเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ฉะนั้นหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันก็อาจอยู่ในวงการนี้ไม่ได้

“ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคที่น่ากลัวมาก สำหรับแฟชั่นในยุคนี้ เพราะว่าเราอยู่ในวงการการ์เม้นท์มา 20 ปี ไม่เคยเห็นอะไรที่จะมาเร็วและไปเร็วเหมือนในยุคนี้เลย

สมัยก่อนสัก 10 ปีที่แล้ว ถ้าอะไรที่ฮิตติดตลาดมันจะอยู่ได้นานเป็นปีเลย คือ โรงงานมีสิทธิจะทำเงินจากสินค้าตัวนั้นได้เป็นปีๆ ไม่ต้องมากังวลกับการหักเหของแฟชั่น แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเร็วมาก สินค้าที่ดีๆ แป๊บเดียวก็เปลี่ยนแล้ว กลายเป็นสต็อก ทำให้โรงงานต่างๆ เจ็บตัวไปตามๆกัน”

แต่จากอุปสรรคดังกล่าวฐนิตนันท์ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเทรดดิ้งเฟิร์มจะได้เปรียบกว่าคนที่เป็นโรงงาน เพราะสามารถหาสินค้าใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องลงทุน และเจ็บตัวกับการสต็อกสินค้า

หากแต่ในสภาวะที่ตลาดโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ส่งออกก็ย่อมได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่ บริษัท ปะการัง เอ็กซ์ปอร์ต ซึ่งส่งผลให้จำนวนออเดอร์ในปีนี้ลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ

“อย่างตลาดอเมริกาได้รับผลกระทบมาก จากที่เคยสั่งสินค้าเป็นหมื่นชิ้น ก็เหลือแค่ไม่กี่พันชิ้นเท่านั้น ขณะที่ตลาดยุโรปก็สะเทือนเหมือนกัน ออเดอร์ใหญ่หายไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับมากนัก

สำหรับการปรับตัว ในด้านโรงงานจะไม่ทำสต็อก เราจะทำเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น ขณะเดียวกันก็จะรับออเดอร์ที่สั่งจำนวนน้อยให้มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนลูกค้าที่ออเดอร์น้อยๆ หลักพันหรือ 500 ชิ้น จะไม่ค่อยรับ แต่เดี๋ยวนี้เราเซอร์วิสลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย คือ ออร์เดอร์ที่สั่งจำนวนน้อย เราไม่ต้องผลิตเอง แต่จะไปหาสินค้าจากโรงงานอื่นๆมาแทน”

สุดท้าย ฐนิตนันท์กล่าวฝากไปถึงผู้ประกอบการรายอื่นว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การแข่งขันก็ค่อนข้างสูง “สิ่งที่ควรกระทำตอนนี้ คือ 1. ต้องเร็วและตามแฟชั่นให้ทัน 2. เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น และ 3. ต้องเช็กความพร้อมของคู่ค้า รวมทั้งเช็กสภาพความพร้อมของตัวเราเองด้วย”

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ จึงจะอยู่รอดได้ในเวทีโลก

***** ข้อมูลจากนิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนมกราคม 2552 *****
กำลังโหลดความคิดเห็น