xs
xsm
sm
md
lg

ปิดสนามบินฉุดดัชนีเชื่อมั่น SMEs พ.ย.51 ลดลงที่ 42.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. เผยดัชนี TSSI SMEs ประจำเดือนพฤศจิกายน รับอานิสงส์จากการปิดสนามบินทั้ง 2 แห่ง ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 42.5 โดยบริการขนส่ง และร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) รับศึกหนักค่าดัชนีลดลงสูงสุด ด้านความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และธุรกิจตนเอง ลดลงอยู่ที่ 17.2 และ 36.0 ขณะที่ความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับขึ้นเล็กน้อยรับการเมืองใหม่

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึง ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 43.3 โดยภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 41.8 และ 43.1 จากระดับ 44.0 และ 43.5 ขณะที่ภาคการค้าส่ง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.4 จากระดับ 40.6 ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ และธุรกิจตนเองค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 17.2 และ 36.0 จากระดับ 28.3 และ 42.4

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีฯ ของเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระยะไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลง” นายภักดิ์ กล่าว

โดยเมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.9 จากระดับ 43.0 (ลดลง 3.1) เนื่องจากประชาชนชะลอการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค เช่นเดียวกับภาคบริการ กิจการด้านการขนส่ง มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด และนับว่าลดลงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเภทกิจการที่ทำการสำรวจ โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 45.4 จากระดับ 52.1 (ลดลง 6.7) ซึ่งมีผลมาจาก

ยอดการให้บริการขนส่งปรับตัวลดลง ทั้งในส่วนของการขนส่งสินค้าที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการขนส่งมวลชนที่ลดลงจากการขาดความเชื่อมั่นในด้านการท่องเที่ยว

ส่วนภาคการค้าส่ง เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเภทกิจการที่ทำการสำรวจ โดยอยู่ที่ 43.0 จาก 37.8 (เพิ่มขึ้น 5.2) ซึ่งมีผลมาจากราคาวัสดุก่อสร้างหลายรายการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในหมวดเหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และอื่นๆ เช่น ทราย หิน อลูมิเนียม และยางมะตอย รวมถึงต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับราคาน้ำมัน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 46.8 (เพิ่มขึ้น 0.9) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ คือ ภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.6 47.6 และ 47.9 จากระดับ 46.5 47.1 และ 46.6 ตามลำดับ

“ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเห็นว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในระดับสูง ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือ ผลกระทบจากการหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ ภาวะการแข่งขันในตลาด รวมถึงราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น” นายภักดิ์ กล่าว

สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ รายภูมิภาค 5 ภูมิภาค ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม พบว่า ส่วนใหญ่ค่าดัชนีฯ มีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.8 จากระดับ 47.6 (ลดลง 7.7) และเป็นการลดลงในระดับสูงในทุกประเภทกิจการ ทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 42.6 จากระดับ 44.9 (ลดลง 2.3) และกรุงเทพฯ ปริมณฑล ลดลงอยู่ที่ 37.3 จากระดับ 37.9 (ลดลง 0.6)

ขณะที่ภาคเหนือ เป็นภูมิภาคที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 45.9 จากระดับ 42.5 (เพิ่มขึ้น 3.3) และ ภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.6 จากระดับ 44.3 (เพิ่มขึ้น 1.3) โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของกิจการภาคการค้าส่งและภาคบริการเป็นหลัก เนื่องจากต้นทุนการประกอบการที่ปรับตัวลดลงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในทุกสาขาคลายความกังวลในด้านต้นทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น