xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “บินไทย” เดี้ยง “มาร์ค” ลั่น! ล้มไม่ได้ เด้ง 2 บิ๊กเซ่นค่าโง่แอร์บัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ไขปริศนา “บินไทย” ขาดสภาพคล่องหนัก เตรียมฟัน 2 บิ๊ก สังเวยค่าแอร์บัส-พลาดเป้าเจ๊งค่าเงิน 3.4 หมื่นล้าน “สมใจนึก” เต้นจับแพะหวังปิดแผลเน่าหวั่นถูกสาวถึงตัว “โสภณ” รุดถก “กรณ์” เตรียมส่งนักบริหารมืออาชีพคุมบอร์ด “มาร์ค” ลั่นสายการบินแห่งชาติ ล้มไม่ได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาวิกฤตสภาพคล่องของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา เกิดจากหลายสาเหตุ แต่หลักใหญ่ๆ เกิดจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จำนวนผู้โดยสารลดลง โดยเส้นทางบินยังคงเดิม แต่ผู้โดยสารลดลงเฉลี่ย 30-40% ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งสุงขึ้น และยังมีการนำเงินสดไปจ่ายชำระค่างวดฝูงบินแอร์บัส A330 จำนวน 8 ลำ จำนวนสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทำให้มีการโยกเงินจากสิงคโปร์มาจ่ายหนี้ ทั้งค่างวดและค่าน้ำมัน และเกิดปัญหาการขาดทุนค่าเงินซ้ำเข้าไปอีก

นอกจากนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) ยังได้อนุมัติวงเงินสูงถึง 807 ล้านบาท เพื่อจ้างทนายสู้คดีจากกรณีที่ผู้ใช้บริการขนส่งกว่า 35 บริษัท ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลนิวยอร์ก ในสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวหาสายการบินไทยร่วมกับอีก 38 สายการบิน กำหนดราคาค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อชดเชยค่าน้ำมัน ค่าธรรมเนียมการเสี่ยงภัย และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งเป็นการละเมิดต่อกฎหมายป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมของสหรัฐฯ และร้องขอศาลพิพากษาให้การบินไทย ต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังถูกคณะกรรมการประชาคมยุโรป และคณะกรรมการด้านการพาณิชย์ประเทศนิวซีแลนด์ฟ้องร้องในลักษณะเดียวกันด้วย

โดยเช้าวันนี้ มีกระแสข่าวสะพัดตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยระบุว่า การประชุมบอร์ด การบินไทย ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย 2 คน ออกจากตำแหน่ง ได้แก่ นายปานฑิต ชนะภัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการพาณิชย์ เนื่องจากไม่มีแผนการเพิ่มรายได้ให้กับการบินไทยอย่างเป็นรูปธรรม และนางงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงินและบัญชี เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาสถานการณ์การเงินของบริษัทได้ฯ ส่วนผู้บริหารคนใดจะมาดำรงตำแหน่งแทนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ยอมรับว่า ปัญหาขาดทุนและปัญหาขาดสภาพคล่องของการบินไทยไม่ได้มีสาเหตุจากผู้บริหารขาดประสิทธิภาพ แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับมีเหตุการณ์ปิดล้อมท่าอากาศยาน ทำให้การบินไทยได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าสายการบินอื่น

“ผมยืนยันว่า การบินไทยไม่ได้ห่วยแตกอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพียงแต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัญหานี้กระทบต่อการดำเนินงานของสายการบินทุกราย แต่การบินไทยโชคไม่ดีที่มีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยาน ผมคิดว่ารัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือการบินไทย เพื่อประคองให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้”

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า ตนเองได้มีการหารือร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดสภาพคล่อง โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้นายศรีสุข จันทรางศุ ไปดำเนินการเร่งจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อให้มีความชัดเจนว่า ควรจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทยไปในแนวทางใดบ้าง หลังจากนั้นจะมีการปรับโครงสร้างการบินไทยอย่างจริงจัง

สำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น รัฐบาลได้เตรียมแต่งตั้งผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และนักบริหารมืออาชีพเข้ามานั่งเป็นบอร์ด เพื่อให้ได้เข้ามาทำงานเต็มที่เพื่อจะได้ปรับการดำเนินการให้มีความเหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน พร้อมยอมรับว่า เตรียมปรับผู้บริหารระดับสูงให้มีความเหมาะสมและหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ส่วนกรณีจะมีการนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มรูปแบบนั้น นายโสภณกล่าวยืนยันว่า กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะไม่มีการดำเนินการในรูปแบบเช่นนั้น แต่จะค่อยๆ เข้าไปแก้ไขทีละเรื่อง ทีละจุด

สำหรับการตรวจสอบย้อนหลังบอร์ดที่อนุมัติจัดหาเครื่องบินเป็นจำนวนมาก จนกระทบต่อฐานะการเงินของการบินไทยในปัจจุบันนั้น ขณะนี้นายศรีสุขอยู่ ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินงาน และยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเหลือการบินไทยไม่ให้ล้มละลายแน่นอน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังหาทางช่วยเหลือบริษัทการบินไทย หลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก แต่ทั้งนี้บริษัทก็ต้องมีการปรับปรุงแผนงานที่ชัดเจนด้วย

“รมว.คลังกำลังพิจารณาเร่งให้การปรับปรุงแก้ไขอยู่ รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลปัญหานี้อยู่แล้ว ในส่วนของการบินไทยเองก็ต้องมีแผนชัดเจนว่าจะปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ตกค้างมาอย่างไรบ้าง”

ทั้งนี้ ในปี 2551 ปีที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า การบินไทยขาดทุนจากการดำเนินงานและขาดทุนจากการทำสัญญาซื้อน้ำมันล่วงหน้า จนทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงเป็นวงเงินสูงถึง 34,000 ล้านบาท ขณะที่ยังมีภาระต้องกู้หนี้ใหม่อีกประมาณ 45,000-55,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระคืนหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น