บอร์ดทีจี โวลั่น หาเงินกู้ล้างหนี้ได้แล้ว 2.2 หมื่นล้าน เหลืออีกแค่ 1 หมื่นล้าน คาด หาได้ไม่ยาก ยันซื้อฝูงบินแอร์บัส 330 จำนวน 6 ลำ ในช่วงวิกฤตไม่ใช่ภาระ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องเพิ่มรายได้ เพราะจ่ายไปแล้ว 30-45% พร้อมโยนบาปพันธมิตรฯ ปิดสนามบิน 2 สัปดาห์ ทำให้ขาดทุนหนักหลายหมื่นล้าน แต่ไม่พูดถึงการขาดทุนจากการสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้าในตลาดสิงคโปร์ และการขาดทุนจากค่าเงิน
นายพิชัย ชุหวิชร กรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทสามารถจัดหาแหล่งเงินกู้จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท ได้แล้ว จากแผนการดำเนินงานที่จะต้องหาเงินกู้จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้แล้ว โดยคาดว่า จำนวนเงินที่เหลืออีกกว่าหมื่นล้านบาทจะสามารถจัดหาได้อย่างไม่มีปัญหา
นายพิชัย ยืนยันว่า การรับมอบเครื่องบินแอร์บัส 330-300 จำนวน 6 ลำ ในปีนี้ มีความจำเป็นเพราะจะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัท ไม่ใช่เป็นภาระอย่างที่พนักงาน หรือบุคคลภายนอกเข้าใจ ทั้งนี้ การบินไทย ได้จ่ายค่าเครื่องบินแอร์บัสไปแล้ว 30-35% ของค่าเครื่องบินทั้งหมด
“เราคิดว่า อีกหมื่นกว่าล้านจะหาได้ ทุกธุรกิจก็มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่ใช่ว่าเราขาดทุน เพราะธุรกิจไปไม่รอด แต่การซื้อเครื่องบินไม่ใช่ว่าคืนทุนได้เร็ว 3-5 ปี ฉะนั้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจกับคนข้างนอกว่าการรับเครื่องบินไม่ใช่ภาระ”
นายพิชัย ยังเชื่อมั่นว่า การบินไทย จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยจะปรับโครงสร้างใหม่ที่เข้มแข็งกว่าเดิม และจะไม่มีเงินกู้เพิ่มขึ้นอีก
นายพิชัย กล่าวเสริมว่า แผนงานเดิมการบินไทย คาดการณ์ว่า ในปี 2551 ที่ผ่านมา บริษัทจะประสบภาวะขาดทุนเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยจากในปี 2550 ที่บริษัทเคยมีกำไรประมาณ 7 พันล้านบาท แต่เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาการเมือง และเหตุการณ์ปิดสนามบิน 2 สัปดาห์ จึงทำให้การบินไทยไม่มีรายได้ และยังมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้ประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก และต้องกู้เงินสูงถึง 3.4 หมื่นล้านบาท
ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ปัญหาของการบินไทย เกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายจัดการ ที่คาดไม่ถึงในเรื่องของการปิดสนามบิน จนส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียน และเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในระยะสั้น เพราะการปิดสนามบินเกิดขึ้นช่วงไฮซีซันในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพคล่องเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งหากพื้นฐานเศรษฐกิจปี 2552 เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เชื่อว่า จำนวนผู้โดยสารจะมีปริมาณมากเหมือนเดิม และมีรายได้กลับคืนมาพอแก้ปัญหาการขาดทุน แต่ปัญหาระยะสั้นที่การบินไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ การปรับลดค่าใช้จ่าย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การชะลอรับมอบเครื่องบิน การขยายเวลาชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเดือนธันวาคม แม้การบินไทยจะมีเครื่องบินถึง 80 ลำ หากขึ้นบินทุกวัน มีคนนั่งเต็มทุกเที่ยวบินตลอด 1 เดือน ก็จะมีรายได้ไม่ถึง 1 พันล้านบาท ดังนั้นเหตุผลในการกล่าวโทษการปิดสนามบิน จึงขัดกับหลักความเป็นจริง และหากมองดูงบการเงินย้อนหลังแล้ว ก็มีปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอด และมักใช้การซื้อเครื่องบินเพิ่ม เป็นข้ออ้างในการเพิ่มรายได้ เพื่อขอเงินรัฐบาล และยังมีการทุจริตภายในที่รัฐบาลยังไม่เคยเข้าไปตรวจสอบเอาผิดอย่างจริงจัง ทั้งยังเป็นบริษัทที่มีข่าวการทุจริตโกงกินมากที่สุดด้วย