xs
xsm
sm
md
lg

TGลดสิทธิพนง.กลบเจ๊งแฉโกงA330-แบกน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก้วิกฤตการบินไทยถึงทางตัน”โสภณ” สั่งลดสิทธิพิเศษ เลิกอุ้มภาษีแทนพนักงาน ชี้พนักงานต้องมารับเคราะห์ในการแก้ปัญหาปลายเหตุ แฉต้นเหตุจริงๆ ที่ทำให้การบินไทยวิกฤต เพราะการทุจริตซื้อ A 330 ขัดมติ ครม.-แบกน้ำมันแพง แฉอีกปมที่ให้ ”อภินันท์” อดีตดีดี ต้องลาออกหนีการสอบสวน เพราะแอบใช้เงินสดจ่ายค่าเครื่องบินล่วงหน้ากว่าหมื่นล้าน จนมีปัญหาสภาพคล่อง

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) เพื่อแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วานนี้ (15 ม.ค.) ว่า จากปัญหาของการบินไทยสิ่งที่ ฝ่ายบริหารต้องเร่งดำเนินการคือการปรับลดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะสิทธิพิเศษของทั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ฝ่ายบริหารและพนักงานที่ได้รับเหนือกว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจอื่น โดยให้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและไม่ขัดต่อระเบียบที่มีหรือกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพึงได้รับ โดยจะไม่มีการปรับลดเงินเดือนของพนักงานแน่นอน
“สิทธิประโยชน์ที่มีเหนือรัฐวิสาหกิจอื่น เช่น กรณีที่บริษัทรับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนพนักงาน เป็นต้น โดยการลดสิทธิพิเศษต่างๆ จะดำเนินการในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากสถานการณ์และวิกฤตเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็อาจมีการพิจารณาให้พนักงานได้รับสิทธิต่างๆ เช่นเดิม โดยแผนการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้การบินไทย เร่งจัดทำรายละเอียดและรายงานให้ที่ประชุมคณะทำงานฟื้นฟูฯ ทราบในวันที่ 20 ม.ค.นี้ “นายโสภณกล่าว
นายโสภณกล่าวถึงกระแสข่าวว่าผลประกอบการ ของบริษัทการบินไทย ปี 2551 จะขาดทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และอาจถึงขั้นล้มละลายหากไม่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น ไม่เป็นความจริง โดยการที่กระทรวงคมนาคมพยายามหาทางลดรายจ่ายให้ การบินไทยเนื่องจากต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่กระทบกับสายการบินเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว

สหภาพฯ ชี้โสภณจุ้นลดรายได้ พนง.
นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทการบินไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพนักงานการบินไทยได้ช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายบริษัทมาตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่บริษัทเริ่มประสบปัญหาขาดทุน เช่น ไม่รับเงินค่าล่วงเวลา แต่จะขอเพิ่มวันหยุดแทน อย่างไรก็ตามหน้าที่การดูแลสวัสดิการของพนักงานนั้นเป็นหน้าที่ขอสหภาพแรงงานกับผู้บริหาร ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐมนตรี และหากต้องการให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายจริง ควรปรับลดสิทธิของบอร์ดมากกว่าพนักงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า สิทธิประโยชน์ที่บอร์ดการบินไทยและครอบครัวรวมทั้งผู้ติดตามได้รับ เช่น บัตรโดยสารชั้นหนึ่ง เส้นทางบินต่างประเทศและในประเทศสูงสุดเส้นทางบินละ 15 ใบต่อปี ,อดีตกรรมการบอร์ดและบุคคลในครอบครัวรวมถึงผู้ติดตามจ่ายค่าโดยสารเพียง 25% โดยเป็นเส้นทางบินต่างประเทศ 12 ใบต่อปี และเส้นทางในประเทศ 6 ใบต่อปี ,ส่วนค่าตอบแทนบอร์ดได้รับคนละ 20,000 บาทต่อเดือน และเบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาทต่อเดือน หากเป็นประธานจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีก 25% รองประธานบอร์ดจะได้เพิ่มจากกรรมการอีก 12.5%
ส่วนบุคคลภายนอกที่ได้รับเชิญมาเป็นอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน จะได้รับเบี้ยประชุมอีกครั้งละ 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนเงินค่ารับรองของประธานบอร์ด จะมีเงินค่าใช้จ่ายได้ 50,000 บาทต่อเดือน หากเกินวงเงินที่กำหนดสามารถใช้งบกลางของบริษัทได้ ส่วนรองประธานจะได้รับเงินรับรอง 40,000 บาทต่อเดือน และกรรมการ 30,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตามสิทธิพิเศษของฝ่ายบริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไปจะได้รับค่าน้ำมัน จำนวน75,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารได้พิจาณาตัดค่าพาหนะแล้วซึ่งทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนกรณีที่บริษัทรับภาระภาษีแทนพนักงานนั้น ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะให้พนักงานรับผิดชอบเอง โดยบริษัทจะเพิ่มรายได้ให้เป็นการชดเชย แต่เนื่องจากกรอบวงเงินที่บริษัทตั้งสำหรับเพิ่มรายได้ให้พนักงาน ไม่ครอบคลุมภาษีที่พนักงานต้องจ่าย จึงทำให้ไม่สามารถตกลงกับพนักงานได้

ทุจริตซื้อ A330-น้ำมันสาเหตุหลักเจ๊ง

แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้บริษัทการบินไทยต้องประสบกับภาวะการขาดทุนอย่างมากและมีปัญหาสภาพคล่องในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก และการปิดสนามบิน แต่สาเหตุสำคัญ เป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด และการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อเครื่องบิน A 330-300 จำนวน 8 ลำ ขัดมติคณะรัฐมนตรีที่ให้บริษัท เช่าดำเนินการ (Operating Lease) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท แต่บริษัทไปดำเนินการชำระเงินค่างวดล่วงหน้า (Pre Delivery Payment/PDP) เพื่อซื้อเครื่องบิน
ทั้งนี้ ในการบริหารงบทำการของบริษัทการบินไทยโดยปกติ จะมีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้นำเงินดังกล่าว ไปชำระค่างวดล่วงหน้าในการจัดซื้อเครื่องบิน A330 และการจัดซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกบนเครื่องบินซึ่งขัดมติครม.ประมาณ 1.1หมื่นล้านบาททำให้เงินสดของบริษัทเหลือเพียง 5,000-6,000 ล้านบาทเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในขณะนี้ที่มีปัญหา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ฝ่ายบริหารในขณะนั้นรู้ดีว่า การกู้เงินมาเพื่อชำระค่างวดล่วงหน้าในการจัดซื้อเครื่องบิน A330 ไม่สามารถทำได้เพราะมติครม.ให้บริษัทเช่าดำเนินการ แต่ฝ่ายบริหารขณะนั้นเชื่อว่าเมื่อได้รับเครื่องบินมาใช้งาน สภาพคล่องและเงินสดจะกลับมาเหมือนเดิมเพราะ เครื่องบินที่ได้รับมาจะเข้าสู่กระบวนการด้าน Finance ซึ่งการจ่ายเงินค่างวดล่วงหน้าให้แอร์บัส จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องและไม่มีเงินสดในการดำเนินการ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นรายจ่ายหลักของบริษัทเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง โดยจากปี 2550 บริษัทมีรายจ่ายค่าเชื้อเพลิงประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 4,000 ล้านบาทจากรายจ่ายรวม 1.6 แสนล้านบาท แต่ในปี 2551 เกิดวิกฤตราคาน้ำมัน ทำให้บริษัทมีรายจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น เป็นเดือนละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
ประกอบกับรายได้หลักของบริษัทเป็นเงินต่างประเทศ และจะมีการแลกเป็นเงินบาท เมื่อมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในภาวะปัจจุบันเมื่อบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องทำให้ต้องนำเงินรายได้ที่เป็นเงินต่างประเทศเข้ามาใช้เสริมสภาพคล่องโดยไม่สามารถรอจังหวะในช่วงที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทำให้ต้องประสบกับภาวะการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนซ้ำอีก
โดยกรณีการซื้อเครื่องบิน A 330 นั้น ได้มีการตรวจสอบถึงความโปร่งใส ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้รับความร้องเรียนจากถูกผู้ถือหุ้นของบริษัทว่าฝ่ายบริหารดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้บริษัทดำเนินการจัดหาเครื่องบินโดยวิธีการเช่า (Operating Lease) แทนการจัดซื้อ โดยบริษัทมีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้แอร์บัสเป็นการกระทำที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น
รวมถึงกรณีที่ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฏร ได้ทำหนังสือถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รายงานผลการสอบสวนหรือศึกษากรณี เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย (ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว) ถูกร้องเรียนและร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างส่อทุจริต ประพฤติมิชอบที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการหมวด 10 ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กมธ.คมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกรณียกเลิกการจัดซื้อไวน์
นอกจากนี้ ยังมีกรณีปัญหาการฮั้วขึ้นราคาค่าโดยสารที่ร่วมกับสายการบิน Star Alliance โดยอ้างราคาน้ำมัน ทำให้สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคของยุโรป (EU) ฟ้อง ซึ่งยังเป็นระเบิดเวลาสำหรับการบินไทยเพราะจะมีการตัดสินกันประมาณกลางปี 2552 นี้ และหากการบินไทยแพ้จะต้องจ่ายค่าปรับประมาณ 10,000 ล้านบาท

ลดค่าใช้ฟีขึ้นลงสนามบินดึงผู้โดยสาร

นายโสภณ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยการปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงอากาศยานในสนามบิน (Landing fee) เครื่องบินเช่าเหมาลำ 50% และเที่ยวบินปกติ ลด 15-20% ซึ่งล่าสุด สนามบินดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ได้ลดค่า Landing fee เครื่องบินเช่าเหมาลำแล้ว ส่วนเที่ยวบินปกติจะพิจารณาอีกครั้งว่าแต่ละสนามบินควรปรับลดในอัตราเท่าใด รวมทั้งจะมีการปรับลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) ด้วย

ออกมาตรคุมปัญหาเสียงสุวรรณภูมิ

นายโสภณ กล่าวว่ากรณีที่ผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงสนามบินสุวรรณภูมิจะชุมนุมปิดล้อมสนามบินในวันที่ 18 ม.ค.52 นั้น อยากขอร้องอย่าให้ชาวบ้านออกมาชุมนุมอีก และอยากให้ใช้วิธีพูดคุยกันดีกว่า โดยกระทรวงฯจะรีบออกมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยให้นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อเป็นตัวแทนไปเจรจากับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าคณะกรรม การไตรภาคี แก้ปัญหาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น