xs
xsm
sm
md
lg

แฉนักการเมืองตั้งแก๊งโกงกิน รากเหง้ารัฐวิสาหกิจเจ๊งย่อยยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ โกศัยสุข
ASTVผู้จัดการรายวัน – “สมศักดิ์ โกศัยสุข” แฉรัฐสาหกิจบักโกรก หนี้รุงรัง ส่อเค้าเจ๊ง ต้นตอปัญหาหลักมาจากการทุจริต โกงกินสารพัดทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอน ทุกโครงการตั้งแต่ซื้อไม้กวาดยันเครื่องบิน เผยทุกกระทรวงนักการเมืองตั้งบริษัทนอมินีเข้าประมูลงาน สูบงบหลวงเข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่า 30-40% พร้อมกับดันเด็กในคาถาเข้าคุมการบริหารยันบอร์ด ชี้แนวทางแปรรูปเป็นเอกชนไม่ช่วยแก้ปัญหาตัวอย่างชัดการบินไทย ไม่เลิกโกง มือบริหารไม่เจ๋งดังคำคุย ทั้งยังทำให้รัฐบาลสูญเสียเครื่องมือแทรกแซงยามประเทศเจอวิกฤตเช่นกรณีปตท.ที่กลายสภาพเป็นองค์กรธุรกิจคำนึงถึงแต่กำไรสูงสุด แบ่งปันผลผู้ถือหุ้นแทนนำส่งรายได้เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) รายงานกรอบและงบประมาณประจำปี 2552 ว่า รัฐวิสหากิจของประเทศมีปัญหาการขาดทุนและมีหนี้สินมโหฬาร โดยรัฐวิสาหกิจ 47 แห่ง มีหนี้สินรวม 2.7 ล้านล้าน ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนอย่างหนัก มี 4 แห่ง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และคาดว่าปี 2552 รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง จะขาดทุนจากผลประกอบการไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท ขณะที่ บมจ. การบินไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เริ่มขาดทุนรวมกว่าแสนล้านบาท นั้น

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงภาพรวมของปัญหารัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นทั้งหนี้สินและการขาดทุนว่า มีรากเหง้ามาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งไม่มียกเว้น ทั้งการโกงแบบโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้งรัฐวิสาหกิจในสมัยรัฐบาลทหาร
เช่น การจัดซื้อจัดจ้างในราคาแพงซึ่งยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ พัฒนาเรื่อยมาจนถึงการโกงแบบสมัยใหม่โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องแปรรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ รวมถึงการเข้าไปเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขณะนี้ เรียกได้ว่าโกงทุกโครงการตั้งแต่ซื้อมะนาว ไม้กวาด ยันซื้อเครื่องบิน

ส่วนโครงการก่อสร้าง ก็มีการรับเหมาช่วงเป็นทอดๆ ถึง 4 – 5 ต่อ และต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่นบริษัทใหญ่ที่เข้าประมูลโครงการก่อสร้างได้งานมามูลค่า 10,000 ล้านบาท จะว่าจ้างเหมาช่วงบริษัทเล็กมาทำงานแทน เม็ดเงินลงทุนในโครงการจริงๆ ตกประมาณ 6,500 ล้านบาท ส่วน 3,500 ล้านบาท กินกันระหว่างทาง

“ทุกหน่วยงานเป็นเหมือนกันหมด และเอาหมดไม่ว่างานเล็กๆ น้อยๆ ทำความสะอาด กำจัดขยะ มีผลจากงานวิจัยชี้ว่า งบประมาณแผ่นดินถูกโกงไปประมาณ 30 – 40%” ที่ปรึกษา สรส. กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทุกโครงการมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นพื้นฐาน และปัจจุบันนี้มีกลวิธีโกงแบบบูรณาการ แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยกลุ่มนักการเมืองเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และเป็นเหตุผลชัดเจนในตัวว่าทำไมถึงมีการวิ่งเต้นเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่บริษัทนอมินีของตัวเองทำมาหากินอยู่แล้ว อย่างกระทรวงแรงงานฯ ก็มีบริษัทจัดหางานของรัฐมนตรีทำธุรกิจนี้อยู่ เป็นต้น

“ไม่เพียงตั้งบริษัทนอมินีเข้ามารับงานจากกระทรวง แต่ยังมีการตั้งบอร์ด และผู้บริหารที่เป็นคนของตนเองเข้าไปคุมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ด้วย” ที่ปรึกษา สรส. กล่าว
เขาอธิบายว่า แต่เดิมการขึ้นตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะขึ้นตามสายงาน แต่มาระยะหลังมีการใช้วิธีการสรรหา ซึ่งเหมือนจะดูดีมีการคัดเลือกคนมีฝีมือ แต่แท้จริงคือเป็นการถอดพวกที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่เติบโตตามสายงานออกไป แล้วเอาคนนอกที่นักการเมืองส่งมาเข้ามาเสียบแทน

ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นตัวแทนของนักการเมือง เป็นกันเช่นนี้ทุกแห่ง และบางหน่วยงานยังมีนักการเมืองเป็นประธานบอร์ดอยู่ด้วย
 
เช่น กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (กสย.) ของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะบอร์ดควรเป็นตัวแทนฝ่ายตรวจสอบหน่วยงาน เช่น ตัวแทนจากภาคประชาชน ตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐวิสาหกิจนั้น ไม่ว่าการขึ้นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโดยสาร

“เวลานี้นักการเมืองจึงคุมหมดมีทั้งบริษัทนอมินี บอร์ด ผู้บริหาร การโกงกินจึงเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน” นายสมศักดิ์ กล่าว ทั้งยกตัวอย่างให้เห็นว่า การเข้าตรวจสอบโครงการการทุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มูลค่ารวม 180,000 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นการทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) การรถไฟแห่งประเทศ ฯลฯ รวมกว่า 120,000 ล้านบาท

ที่ปรึกษา สรส. ยังบอกว่า ปัญหาการบริหาร ขาดทุน หนี้สิน และการโกงกิน ที่เกิดขึ้นถูกอ้างเป็นเหตุผลหนึ่งในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ความจริงแล้วกลับกลายเป็นว่า กระบวนการแปรรูปเองก็มีคอร์รัปชั่นทุกขั้นตอน หน่วยงานที่ถูกแปรรูปไปแล้ว ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ยังขาดทุนเหมือนเดิม ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลหรือแรกกูเลเตอร์ที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่สามารถคุมได้

เขายกตัวอย่างการแปรรูป ปตท. ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ชัดเจนว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องนักการเมืองเข้ามาถือหุ้น กำไรเป็นแสนๆ ล้านซึ่งแต่เดิม ปตท.นำรายได้ส่งคลังเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตอนหลังก็ต้องแบ่งปันผลให้ผู้ถือหุ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาน้ำมันขึ้นลงในแต่ละครั้งก็มีคำถามจากสังคมถึงความไม่โปร่งใส ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำมันโลก คณะกรรมการกำกับดูแลด้านพลังงานที่ตั้งขึ้นมาก็เป็นที่พึ่งของสังคมไม่ได้

ส่วนการบินไทย ก็ให้เหตุผลว่าถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีการกำกับดูแล แต่กลายเป็นว่าแปรรูปไปแล้วกลับมีปัญหาหนักยิ่งกว่า มีการโกงกินตั้งแต่การจัดซื้อมะนาวยันเครื่องบิน มีการไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าโดยคาดการณ์ผิดพลาด สุดท้ายก็เจ๊ง ราคาหุ้นจากที่เคยสูงสุด 80 กว่าบาทเหลือเพียง 6 บาทกว่า ขณะที่ข้ออ้างตอนแปรรูปว่าจะทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ผู้บริหารที่คิดว่ามีฝีมือก็เป็นเพียงคำคุ้ยโม้โอ้อวด

สรส. เป็นองค์กรสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ ได้เคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ปี 2542 เพราะจากการศึกษาบทเรียนจากทั่วโลกพบว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะสาธารณูปโภคเพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีกำไร แต่จะทำให้ประชาชนมีต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศตามมา อย่างเช่นอาร์เจนตินา โบลิเวีย ซึ่งตอนหลังรัฐบาลต้องยึดคืนกลับมา

“การแปรรูปตามแนวทางที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟแนะนำก็เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้น การพัฒนาประเทศ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามคำแนะนำขององค์กรการเงินโลก เจ๊งกันหมดทั่วโลกตอนนี้ ไอเอ็มเอฟไม่เห็นออกมาพูดว่าจริงๆ แล้วเจ๊งเพราะใคร”

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวประเด็นสำคัญของการคงไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคว่า เพื่อการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม และเป็นเครื่องมือจัดการปัญหาในยามประเทศชาติเกิดวิกฤต ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมของโลกจะมีขึ้นมีลง เมื่อมีการปั่นเศรษฐกิจกันมากๆ ก็นำไปสู่การพังพินาศดังที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ หลังจากนั้นรัฐวิสาหกิจก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นวัฏจักร

หากรัฐบาลแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชนหมด รัฐก็จะขาดเครื่องมือยามวิกฤต เช่น กรณี ปตท. ที่มีปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ก๊าซฯ รัฐจะเข้าแทรกแซงไม่ได้ เพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ รัฐต้องจ่ายชดเชยหากให้ปตท.รับภาระขาดทุน ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น การรถไฟฯ ให้ยกเว้นค่าโดยสารเพื่อช่วยเหลือประชาชน เมื่อสนองนโยบายรัฐแล้วขาดทุนรัฐบาลก็ค้างจ่ายไม่ชดเชยให้ตามกำหนด เวลาจะลงทุนก็ต้องไปกู้ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วผู้ดูแลนโยบายและรับผิดชอบงานรัฐวิสาหกิจไม่ได้โง่ แต่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ติดเรื่องผลประโยชน์ คิดแบบธุรกิจเอาความร่ำรวยนำหน้า เพราะถ้าหากไม่ยึดติดในผลกำไรขาดทุนเป็นที่ตั้ง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาในในระดับเชิงโครงสร้างได้

ที่ปรึกษา สรส. ให้รายละเอียดว่า การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจของประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 แห่ง มีที่มาและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหารายได้ เช่น โรงงานยาสูบ กองสลาก การบินไทย กลุ่มที่สนับสนุนส่งเสริมนโยบายของรัฐ เช่น กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น รถไฟ ประปา ไฟฟ้า ท่าเรือ ปตท. โทรศัพท์ สื่อสาร ขนส่งมวลชน

ดังนั้น แต่ละกลุ่มจึงมีเป้าหมายแตกต่างกัน กลุ่มที่หารายได้ หากมีปัญหาขาดทุน ก็ต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่ง กลุ่มสนับสนุนหรือกลุ่มสาธารณูปโภคก็แก้อีกอย่าง ต้องมีความชัดเจน รัฐวิสาหกิจที่หารายได้ กำไร ก็มีเป้าหมาย บริหารจัดการเหมือนองค์กรธุรกิจ มีแผนการลงทุนชัดเจน ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่สนับสนุนหรือสาธารณูปโภค ก็ต้องดูว่าจะทำกำไรได้แค่ไหน หรือขาดทุนได้เท่าไหร่ เพื่ออะไร เช่น เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนยามวิกฤตเศรษฐกิจ

“รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการด้านสาธารณูปโภคความจริงแล้วจะไปคิดแข่งขันแสวงหากำไรอย่างบริษัทเอกชนไม่ได้ อย่าเอานักธุรกิจคิดแต่กำไรเข้ามาบริหารจัดการ เพราะประชาชนจะเดือดร้อน”

นายสมศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การตอกย้ำถึงปัญหาการขาดทุน หนี้สินของรัฐวิสาหกิจ โดยสร้างภาพให้เห็นว่าปล่อยไว้เจ๊งแน่ๆ เป็นเพราะต้องการเอาเอกชนมาเสียบแทนหรือไม่ เหมือนกรณีองค์การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ที่ถูกยุบทิ้ง แล้วมีบริษัทเอกชนเข้ามาสวมแทนได้ทั้งลูกค้า เส้นทาง และพนักงาน โดยบริษัทที่เข้ามาสวมแทนก็เป็นของนักการเมือง
 
หรือกรณีการรถไฟฯ ก็เช่นกัน บอกว่าขาดทุน ต้องแปรรูป เอาบริษัทเอกชนเข้ามาเสียบแทน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ก็มีปัญหามาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร การทุจริต เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องนักการเมือง และปัญหานี้มีทางแก้ไขได้ไม่ยากหากคิดจะทำกันจริงจัง
แฉโกงทำ รสก.ขาดทุนยับ สคร.ยังหวังปี 52 พลิกฟื้น
ASTVผู้จัดการรายวัน – แฉรัฐสาหกิจบักโกรก หนี้รุงรัง ส่อเค้าเจ๊ง ต้นตอปัญหาหลักมาจากการทุจริต โกงกินสารพัดทุกรูปแบบ ทุกขั้นตอน ทุกโครงการตั้งแต่ซื้อไม้กวาดยันเครื่องบิน เผยทุกกระทรวงนักการเมืองตั้งบริษัทนอมินีเข้าประมูลงาน สูบงบหลวงเข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่า 30-40% พร้อมกับดันเด็กในคาถาเข้าคุมการบริหารยันบอร์ด ชี้แนวทางแปรรูปเป็นเอกชนไม่ช่วยแก้ปัญหาตัวอย่างชัดการบินไทย แทรกแซงยามประเทศเจอวิกฤตเช่นกรณีปตท.ที่กลายสภาพเป็นองค์กรธุรกิจคำนึงถึงแต่กำไรสูงสุด ด้าน สคร. กางตัวเลขผลประกอบการปีงบประมาณ’ 51 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดรายได้เพิ่มกว่า 20% แต่กำไรลดสวนทาง 15% อ้างต้นทุนจากค่าจ้างบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น – ราคาน้ำมันรับกรรม พร้อมโดดป้องการบินไทยมั่นใจฟื้นตัวเร็ว ระบุหากยื่นแผนฟื้นฟูเสร็จจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น