xs
xsm
sm
md
lg

พิษน้ำมันซัดบินไทยเกือบล้มทั้งยืน จับตาครึ่งหลังปี 51 ตัวเลขปูดโชว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร การบินไทย ยอมรับครึ่งปีหลัง 51 ขาดทุนยับจากการเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้า เพราะเป็นช่วงที่น้ำมันพุ่งสูงสุด 147 ดอลลาร์/บาเรล ในเดือน ก.ค. 51 และลดลงต่ำสุดเหลือ 40 ดอลลาร์/บาเรล ในเดือน ธ.ค. 51 โดยไตรมาส 3 ขาดทุนสูงถึง 600 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าจะมีผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำสถิติ โดยตัวเลขภาระการชดเชยจะประกาศพร้อมกับผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2551 และเป็นต้นเหตุสำคัญของการขาดสภาพคล่อง เพื่อขอรับเงินอุดหนุนเหมือนเดิม

นายชาย เอี่ยมศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยานในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ช่วงที่ราคาน้ำมันผันผวนหนักที่สุด โดยพุ่งสูงสุดในเดือนกรกฎาคม ที่ระดับ 147 ดอลลาร์ต่อบาเรล และลดลงมาต่ำสุดในเดือนธันวาคม ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาเรล โดยระบุว่า บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ที่ร้อยละ 41 ของปริมาณการใช้ โดยกำหนดราคาน้ำมันขั้นสูงอยู่ที่ 182 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และขั้นต่ำ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ การบินไทย ยืนยันว่า เป็นการดำเนินการตามปกติ เนื่องจากสายการบินทั่วโลก ก็ทำประกันความเสี่ยงน้ำมันเช่นกัน แต่จะแตกต่างในเรื่องระยะเวลาและราคา ขณะที่ การบินไทย ทำประกันความเสี่ยงระยะเวลาสั้นมาก คือ 3-6 เดือน โดยสัญญาล่าสุดจะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552 และขอยืนยันว่า การบินไทยไม่มีการทำประกันความเสี่ยงไว้ถึง 2 ปี ตามที่กระแสข่าวออกมาแต่อย่างใด

สำหรับวิธีบริหารความเสี่ยงสายการบินอื่น พบว่า ในครึ่งปีแรก 2551 ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ต้องจ่ายชดเชยค่าประกันความเสี่ยงน้ำมันไว้สูงถึง 49 % เป็นจำนวนเงินกว่า 221 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเทียบในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 กับการบินไทยแล้ว การบินไทยจ่ายน้อยกว่า โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ก็จ่ายเพียง 590 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผลกระทบภาระการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันที่การบินไทยได้รับ ในไตรมาส 3 การบินไทยมีภาระชดเชยทั้งสิ้น 590 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 คาดว่าจะมีผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำสถิติ สำหรับตัวเลขภาระการชดเชยจะประกาศพร้อมกับผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2551

ส่วนราคาน้ำมันในต่างประเทศ ณ วันที่ 30 มกราคม 2552 ราคาน้ำมันดิบนิวยอร์ก สัญญาส่งมอบเดือน มีนาคม 2552 ปรับลด 72 เซนต์ มาปิดที่บาร์เรลละ 41.44 ดอลลาร์

โดยวานนี้ พลอากาศเอกณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักเลขานุการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ (Business Improvement Plan) ของปี 2552-2554 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและรองรับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

พลอากาศเอกณรงค์ศักดิ์ ระบุเพิ่มเติมว่า แผนดังกล่าวจะเน้นในด้านการเพิ่มรายได้ ประกอบด้วย การเพิ่มรายได้ต่อหน่วย (Yield) การปรับปรุงระบบการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (e-commerces) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบอินเทอร์เนต การปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางน้อย และไม่ทำกำไร การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เช่น การลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงการบิน การควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากร ชะลอการลงทุนที่ยังไม่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัทฯ

ส่วนแผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่น การทบทวนแผนการปรับปรุงฝูงบิน และการปลดระวาง เครื่องบินเก่า รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิ การปรับปรุงที่นั่ง และระบบสาระบันเทิงบน เครื่องบิน ทั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยบริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายวางแผน ผู้แทนสายการพาณิชย์ ผู้แทนสายการเงินการบัญชี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการเงิน เพื่อให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คาดว่าการจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจนี้ จะแล้วเสร็จและสามารถนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ได้ภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น