xs
xsm
sm
md
lg

สุเทพปัดดึงทนงนั่งบินไทยแจงซื้อน้ำมันล่วงหน้าไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สุเทพ" ปัดทาบ "ทนง" นั่ง ปธ.บอร์ด "บินไทย" รอบ 2 โยน "คลัง-คมนาคม" ตกลงกันเอง ชี้ วิกฤตสะสมมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ยันการแก้ปัญหาต้องแก้ไขที่ต้นตอเปลี่ยนใช้บอร์ดที่มีฝีมือ ลั่นต้องได้คนดีไม่ใช่ตั้งเพื่อเกียรติยศวงศ์ตระกูล ศักดิ์ศรี หรือหวังเพียงสิทธิประโยชน์นั่งเครื่องบินฟรีตลอด ขณะที่ผู้บริหาร การบินไทยโต้ชดเชยส่วนต่างทำประกันความเสี่ยงน้ำมันไม่ถึง 6,000 ล้านบาท เกทับ ต่ำกว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่ต้องชดเชยถึง 221 ล้านเหรียญสหรัฐ ยันทำประกันช่วงสั้นๆ 3-6 เดือน ไม่ใช่ 2 ปีตามที่มีข่าว ชี้บริหารความเสี่ยงต้นทุนน้ำมันถูกต้องทุกสายการบินก็ทำเหมือนกัน เผยแผนปรับปรุงธุรกิจปี 52-54 เพื่อ เสนอคมนาคม ก.พ. นี้
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นถึงกระแสข่าว กรณีที่รัฐบาลจะมีการแต่งตั้งนายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สมัยรัฐบาลทักษิณ กลับเข้ามานั้งเก้าอี้ประธานบอร์ดอีกครั้ง ถือว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
"ผมไม่เคยได้ยินเลย ส่วนที่นายทนงบอกว่า ได้รับการทาบทามนั้นไม่ทราบ ส่วนคุณสมบัติของนายทนงเหมาะจะมาเป็นประธานบอร์ดการบินไทยหรือไม่ ขออนุญาตไม่ตอบ เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคมต้องหารือกันก่อน"
ทั้งนี้ นายสุเทพ มองว่า ปัญหาของการบินไทยที่บานปลายใกล้ล้มในขณะนี้ เกิดจากรัฐบาลชุดเก่า ที่มีการแต่งตั้งตั้งบอร์ด ขึ้นมาบริหารงานที่ไม่เข้มแข็ง จนสร้างปัญหาขึ้น แต่รัฐบาลนี้พร้อมเข้าไปแก้ปัญหานี้ และยืนยันว่าหลักการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ ต้องได้คนที่ดี ไม่ใช่ตั้งเพื่อเกียรติยศ วงศ์ตระกูล ศักดิ์ศรี หรือหวังเพียงสิทธิประโยชน์นั่งเครื่องบินฟรีตลอดชีวิต ถ้าเป็นเช่นนี้ คงแต่งตั้งไม่ได้
นายสุเทพ ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาสภาพคล่องของการบินไทย ซึ่ง เดิมได้ตกลงและมีการนัดหารือกันเมื่อวานนี้ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดประชุมคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งปัญหาของการบินไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือนั้น เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ มีการนำส่งรายได้เข้ารัฐ และแม้แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้ว แต่รัฐบาลยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และบริษัทก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ต้องช่วยกันรักษา

ผู้บริหารTHAIแจงประกันความเสี่ยงน้ำมัน

นายชาย เอี่ยมศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน (Hedging) ของบริษัทว่า จากที่มีข่าวว่าบริษัทขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้าถึง 6,000 ล้านบาทในปี 2551 นั้นไม่เป็นความจริง โดยในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ของปี 2551 บริษัทรับภาระส่วนต่างราคาน้ำมันประมาณ 17 ล้านเหรียสหรัฐ (590 ล้านบาท) เท่านั้น ส่วนไตรมาส 4 ปี 2551 (ต.ค.-ธ.ค.) นั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ปกติ แต่หากจะต้องมีการชดเชยส่วนต่างในการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันก็ไม่ถึง 6,000 ล้านบาทแน่นอน
“ถ้าเทียบกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ ในช่วงต.ค.2551-มี.ค.2552 สิงคโปร์แอร์ไลน์ ต้องจ่ายชดเชยค่าประกันความเสี่ยงน้ำมันสูงถึง 49 % เป็นเงิน 221 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,700 ล้านบาท) ซึ่งเทียบกับในช่วงเดียวกันการบินไทยจ่ายน้อยกว่าแน่นอน และเทียบกับสายการบินอื่นๆ ในภูมิภาค การบินไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่ามาก ซึ่งการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันมีความจำเป็นเพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงของบริษัท เพราะบริษัทจะบริหารงานบนความไม่แน่นอนไม่ได้”นายชายกล่าว
นายชายกล่าวว่า ในการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันของบริษัทไม่ได้ทำระยะยาว 2 ปี โดยปี 51 จะทำประมาณ 3 – 6 เดือนโดยจะสิ้นสุดเดือนมี.ค.52 ในปริมาณ 17% ของปริมาณการใช้ต่อเดือนด้วยราคาขั้นต่ำที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอีก 73 % จะจ่ายตามราคาจริงในตลาดโลก ซึ่งการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันของการบินไทยเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือนม.ค. 2546 ที่อนุมัติให้บริษัททำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ไม่เกิน 50 %ของปริมาณการใช้ในแต่ละปี และระยะเวลาประกันไม่เกิน 1 ปี
โดยในช่วงครึ่งหลังปี 2551 (ก.ค.-ธ.ค.) นั้นการบินไทยได้จัดทำประกันความเสี่ยงไว้ที่ 41% ของปริมาณการใช้ โดยมีการกำหนดราคาน้ำมันขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ ในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถึง 182 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแต่ละสัญญาต่างหากราคาน้ำมันต่ำกว่า 137 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล บริษัทต้องรับภาระส่วนต่าง แต่หากราคาจริงสูงกว่า 137 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลบริษัทจะได้รับการชดเชย
ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันอีก 59 % ที่เหลือนั้น จะซื้อตามราคาตลาดโลก ซึ่งสายการบินอื่นทั่วโลกใช้แนวทางเดียวกับการบินไทย ซึ่งในปี 2551 บริษัททำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันรวม 14 ครั้ง ทยอยทำครั้งละประมาณ 3-5 % ของปริมาณการทำประกันตามความเหมาะสมของสภาพตลาด โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของบริษัทในปี 51 จำนวน 22 ล้านบาร์เรล ส่วนปี 2552 ประมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ระดับ 18 ล้านบาร์เรลลดลง เนื่องจากความต้องการเดินทางปรับตัวลดลง
นายชายกล่าวว่า บริษัทได้ใช้การปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการลดความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาใช้ Fuel Surcharge เฉลี่ยประมาณ70-80% เพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนน้ำมันที่เปลี่ยนแปลง แต่การใช้ Fuel Surcharge เป็นเครื่องมือจะดูแค่ราคาน้ำมันอย่างเดียวไม่ได้ต้องคำนึงถึงสายการบินคู่แข่งด้วยเพราะปัจจุบันอัตรา Fuel Surcharge เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดึงผู้โดยสาร โดยเฉพาะในขาลงการใช้ Fuel Surcharge เป็นเครื่องก็อาจจะควบคุมไม่ได้มากนัก
นายชายกล่าวว่า ปัจจุบัน แม้ราคาน้ำมันจะในแนวโน้มลดลง แต่ก็ต้องติดตามการคาดการณ์ราคาซึ่งบริษัทยังมีความจำเป็นในการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและอาจจะทำในระยะยาวกว่า 3- 6 เดือน แต่ต้องดูช่วงเวลาและระดับราคาน้ำมันที่จะทำ Hedging ที่เหมาะสม

จ้างบ.ที่ปรึกษาเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

พลอากาศเอกณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักเลขานุการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ (Business Improvement Plan) ของปี 2552-2554 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและรองรับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
ทั้งนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยบริษัทฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจ ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายวางแผน ผู้แทนสายการพาณิชย์ ผู้แทนสายการเงินการบัญชี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการเงิน เพื่อให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คาดว่าการจัดทำแผนปรับปรุงธุรกิจนี้ จะแล้วเสร็จและสามารถนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง ได้ภายในกลางเดือนก.พ.นี้
โดยแผนปรับปรุงธุรกิจ จะเน้นในด้านการเพิ่มรายได้ อาทิ การเพิ่มรายได้ต่อหน่วย (Yield) การปรับปรุงระบบพาณิชย์อิเล็คโทรนิกส์ (E-Commerce) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางที่มีความต้องการเดินทางน้อยและไม่ทำกำไร การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เช่น การลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงการบิน การควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากร ชะลอการลงทุนที่ยังไม่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัทฯ การบริหารจัดการทรัพย์สิน อาทิ การทบทวนแผนการปรับปรุงฝูงบิน และการปลดระวาง เครื่องบินเก่า รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการ อาทิ การปรับปรุงที่นั่ง และระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน
กำลังโหลดความคิดเห็น