xs
xsm
sm
md
lg

แฉปมบินไทยเดี้ยง! ควัก 1.1 หมื่นล.จ่ายแอร์บัส แถมพลาดเจ๊งค่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ยอมรับ "การบินไทย" โคม่าหนัก แนะทบทวนแผนซื้อฝูงบินแอร์บัส A330 ในช่วงที่ขาดสภาพคล่อง-ศก.ไม่เอื้อ แต่ยังดันทุรังควักเงินสด 1.1 หมื่นล้าน จ่ายเพิ่มในช่วงที่กระเป๋าแห้ง ทำให้ขาดสภาพคล่องหนัก แถมยังบริหารพลาดขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จนทำให้ต้องหาแหล่งเงินกู้เร่งด่วน 3 หมื่นล้าน เพื่อกู้วิกฤต

สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยรายงานต่อรัฐบาล โดยกล่าวถึงกรอบและงบประมาณของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2552 ระบุว่า ขณะนี้ สศช.พบว่ามีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ขาดทุนอย่างหนัก แต่ที่สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤตได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเสนอให้ทบทวนแผนการลงทุน และจัดทำแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และพลังงาน อาทิ การชะลอหรือระงับการจัดซื้อฝูงบินใหม่

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงรายงานผลประกอบการในปี 2551 ของการบินไทย ซึ่งมีตัวเลขการขาดทุนประมาณ 10,800 ล้านบาท ซึ่งภาระการขาดทุนหนัก เกิดจากการสั่งซื้อฝูงบินแอร์บัส 8 ลำ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และราคาน้ำมันแพง

ขณะที่ ช่วงเช้าวันนี้ มีกระแสข่าวสาเหตุการขาดทุนอย่างหนักของการบินไทย ที่แพร่สะพัดในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยระบุถึงต้นเหตุปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องขอให้รัฐบาลหาแหล่งเงินกู้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 จำนวน 8 ลำ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดก่อน ได้มีมติให้จัดหาโดยวิธีการเช่า

กรณีดังกล่าว การบินไทย ยอมรับว่า ได้นำเงินสดที่มีอยู่ไปใช้ในโครงการนี้แล้วประมาณ 11,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของการบินไทย จึงต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีโอนเงินรายได้จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ จากเดิมที่เคยฝากเงินไว้ที่ธนาคารในสิงคโปร์ เพื่อบริหารอัตราแลกเปลี่ยน

โดยแผนเดิมที่วางเอาไว้ การบินไทยจะโอนเงินเข้ามาในประเทศ ก็ต่อเมื่อ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากที่สุด แต่เมื่อต้องเร่งโอนเงินเข้ามาในประเทศ แบบฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลให้การบินไทยได้รับผลกระทบจากการขาดทุนอย่างหนักจากอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับรายละเอียดในการนำเงินสด 1.1 หมื่นล้านบาท ไปใช้ในการซื้อฝูงบินแอร์บัส แบ่งเป็นดังนี้ เงินมัดจำล่วงหน้าและค่างวดในส่วนของตัวเครื่องบิน ประมาณ 3 พันล้านบาท ค่าเครื่องยนต์ ประมาณ 5 พันล้านบาท และค่าอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องประมาณ 3 พันล้านบาท

ล่าสุด การบินไทยอยู่ระหว่างการเร่งปรับแผนการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2552 จะมีรายได้ 120,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ 170,000 ล้านบาท หรือลดลง 50,000 ล้านบาท

สำหรับแผนการแก้ปัญหาวิกฤตทางการเงิน การบินไทยเตรียมกู้เงินระยะยาว 15,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนเงินกู้ระยะสั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาที่จะกู้เงินระยะยาวอีก 19,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในปี 2552 และได้เสนอขายหุ้นกู้ชนิดเจาะจง ( Private Placement) มูลค่ารวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท สำหรับระยะเวลา 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น