เชียงราย – ชำแหละแล้วปลาบึกจากแม่น้ำโขงตัวแรกที่ถูกจับได้ในปีนี้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลี่ยงแพร่ภาพ ต่อสาธารณะ ขณะที่พรานปลาน้ำโขงยังคงล่องเรือจับต่อ จนกว่าจะได้ปลาบึกตัวที่ 2 ตามข้อตกลงถึงจะหยุดล่า
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ชาวประมงในแม่น้ำโขงที่หมู่บ้านหาดไคร้ หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงของ จำนวน 5 ราย ซึ่งขออนุญาตกับกรมประมงในการนำเรือออกหาปลาบึกยังคงนำเรือและ “มอง” อุปกรณ์จับปลาคล้ายอวนออกหาปลาบึกตามปกติ ซึ่งปลาบึกเป็นปลาหนังน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกและองค์กรไซเตสหรืออนุสัญญาว่า ด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ไกล้จะสูญพันธุ์กำหนดให้เป็นปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถจับปลาบึกเพศเมียน้ำหนักกว่า 180 กิโลกรัมมาได้แล้ว และเตรียมจะชำแหละเพื่อจำหน่ายในเช้าวันนี้ (4 พ.ค.)
การชำแหละปลาบึกนั้นไม่ได้เผยแพร่ต่อสังคมภายนอก โดยคณะกรรมการจับปลาบึกในปีนี้ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายปกครอง กรมประมงและชาวประมง ตกลงกันว่าจะเลี่ยงไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพการชำแหละปลาบึกออกสู่สาธารณชน เพราะเหตุผลด้านการอนุรักษ์และภาพลักษณ์
ทั้งนี้ ชาวประมงทั้ง 5 รายซึ่งอยู่ในชมรมปลาบึกบ้านหาดไคร้ ได้ทำตามข้อตกลงของกรมประมงในการออกปลาบึกได้ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.-27 พ.ค.หรือหากจับได้ครบจำนวน 2 ตัวก็ต้องยุติการหาโดยทันที ทำให้พวกเขายังคงเร่งออกหาปลาบึกอย่างขมักเขม้นเพื่อให้ได้ตัวที่ 2 ตามข้อตกลงขณะที่ปีนี้มีองค์กรเอกชนคือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลหรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature : WWF) ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยด้วย
ขณะที่ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรเอกชนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการหาปลาบึกในปีนี้มากนัก เนื่องจากเดิมนั้นเราได้เคยเข้าไปร่วมกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ปลาบึกธรรมชาติในแม่น้ำโขง โดยเรียกร้องให้มีการมองการอนุรักษ์ในภาพรวมโดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การห้ามไม่ให้มีการจับเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงมิติของการอนุรักษ์จากนั้นส่งเสริมให้ชาวบ้านที่หมู่บ้านหาดไคร้ได้เพาะพันธุ์ปลาบึก เพื่อให้พื้นที่หาดไคร้มีปลาบึกเป็นสัญลักษณ์อย่างยั่งยืน
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า สำหรับการอนุรักษ์ดังกล่าวมีหลากหลายวิธีการทั้งในด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านริมฝั่งโขงในการอนุรักษ์ เหมือนกรณีที่องค์กรเคยเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิงซึ่งไม่ใช่การห้ามหาปลาแต่มีการกำหนดเขตอนุรักษ์เอาไว้ การอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์ การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ทิ้งสารเคมีลงในแหล่งน้ำ เป็นต้น แต่เนื่องจากปลาบึกธรรมชาติอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ จึงควรให้ชาติต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทั้งไทย จีน สปป.ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการถกปัญหาเรื่องการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ฯลฯ ด้วย
นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแม่น้ำโขง มีคณะกรรมการแม่น้ำโขงหรือ The Mekong River Commission : MRC คอยดูแลอยู่ แต่ก็มีชาติสมาชิกเพียง 4 ชาติคือไทย สปป.ลาว กัมพูชาและเวียดนามเท่านั้นยังขาดพม่าและประเทศจีน ขณะที่การรวมตัวของเอ็มอาร์ซีก็ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในแง่ของภาคปฏิบัติ เพราะมีเรื่องที่อยู่ในข้อตกลงต่างๆ มากมาย ไม่ได้มุ่งดำเนินการเฉพาะการอนุรักษ์แม่น้ำโขงเท่านั้น
ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา กล่าวในตอนท้ายว่าการอนุรักษ์ปลาบึกไม่ได้หมายถึงการรีดไข่และน้ำเชื้อจากนั้นนำไปเพาะพันธุ์ปลาบึกให้มากๆ เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการร่วมกันอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์ คือ แม่น้ำโขงด้วย ดังนั้น ในอนาคตจึงได้แต่หวังว่าหลายฝ่ายจะมีการเปิดเวทีในการร่วมอนุรักษ์แม่น้ำโขงอย่างเป็นเอกภาพต่อไป