หนองคาย - ไทย-ลาว ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลายี่สก 2 แสนตัว หวังอนุรักษ์และฟื้นฟูขยายพันธุ์ปลาพื้นเมือง หลังพบพันธุ์ปลาใกล้สูญพันธุ์
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ภายในสวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่า บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว ได้มีพิธีปล่อยพันธุ์ปลายี่สก ระหว่างประเทศไทยและ ส.ป.ป.ลาว โดยฝ่ายไทยนำโดย ดร.วิมล จันทรโรทัย รองอธิบดีกรมประมง ฝ่ายลาว นำโดย ท่านสมพัน จันเพ็งไซ รองหัวหน้ากรมเลี้ยงสัตว์และการประมง ท่านจันทะลา อินทะรังสี เจ้าเมืองหาดทรายฟอง พร้อมด้วย นายเจเรมี่ เบิร์ด หัวหน้าบริหารคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสากล และตัวแทนจากประเทศกัมพูชา เวียดนาม และประชาชนชาวลาว ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลายี่สกจำนวน 2 แสนตัว ลงสู่แม่น้ำโขง
กรมประมงประเทศไทย ร่วมกับกรมการเลี้ยงสัตว์และการประมง ส.ป.ป.ลาว ทำพิธีปล่อยปลาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในการปล่อยพันธุ์ปลาพื้นเมืองที่ได้จากการดำเนินงานของโครงการเพาะเลี้ยงปลาพื้นเมืองลุ่มน้ำโขงให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม
ดร.วิมล จันทรโรทัย รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลายี่สกเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่มีความยาวถึง 1.50 เมตร และเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 70 กก.พบในประเทศไทย, ลาว,กัมพูชา, เวียดนาม และ มาเลเซีย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN ตั้งแต่ปี 2543 ในอดีตประเทศไทยเคยพบชุกชุมในลุ่มแม่น้ำโขง
แต่ปัจจุบันแทบไม่พบเลย เพราะปลายี่สกเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย จึงถูกจับไปเป็นอาหารมาก ซึ่งไม่สมดุลต่อการเกิด รวมทั้งปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดหนองคาย ได้ทำการผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2517 และในปี 2533 สามารถเพาะพันธุ์ปลายี่สกด้วยการผสมเทียม
โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในบ่อดินได้สำเร็จ ทั้งยังได้สนับสนุนพันธุ์ปลายี่สกจำนวน 2 แสนตัวนำมาปล่อยในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประชากร 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้รับประโยชน์ต่อไป