ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กลุ่มคณาจารย์-นักศึกษา สุดทนจี้ ป.ป.ช.สอบเอาผิด “อธิการบดี” และผู้บริหาร ม.ราชภัฏโคราช หมกเม็ดรับสภาพหนี้เน่าเอกชนโครงการฉาวร่วมทุนสร้างหอพัก นศ. 141 ล้าน ให้มหา’ลัยแบกรับอานฝ่ายเดียว แฉเส้นทางฉาวโฉ่ดื้อตาใสรวมหัวนายทุนผุดหอพักโคตรแพง นศ.เมินเข้าพัก ก่อนงัดวิชามารดันสภาฯ ไฟเขียวสร้างหนี้กู้ธนาคารหอบเงินสดประเคน เอกชนรวดเดียวจบ จากระยะชำระเดิม 25 ปี พร้อมโยนขี้ให้มหา’ลัยรับกรรมต้องนำงบฯ ไปชำระหนี้เน่าหอพักที่เต็มไปด้วยห้องร้าง นาน 20 ปี
วันนี้ (6 ก.พ.) ผศ.ดร.สามารถ จับโจร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและคณะนักศึกษาในฐานะตัวแทนกลุ่มคณาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และคนงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลและทำให้มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยของรัฐได้รับความเสียหาย อาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิหน้าที่โดยมิชอบ ของ อธิการบดี และ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ในกรณีที่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์) ได้นำเรื่องเสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ พิจารณามีมติอนุมัติให้มหาวิทยาลัยฯ รับสภาพหนี้ 141 ล้านบาท ของโครงการร่วมลงทุนจัดสร้างหอพักนักศึกษากับเอกชน ในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยล่าสุด 12 ธ.ค.2551 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มติดังกล่าว มหาวิทยาลัยต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 100 ล้านบาท และนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยอีก 41 ล้านบาท ไปใช้ชำระหนี้ให้กับเอกชน คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรนารีซัพพลายส์ ทั้งหมดในครั้งเดียวรวมเป็นเงินจำนวน 141 ล้านบาท จากเดิมกำหนดชำระเป็นระยะเวลา 25 ปี
ส่วนหนี้เงินกู้ธนาคารกรุงไทย 100 ล้านบาทนั้นระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยจะทยอยนำรายได้ส่วนต่างๆ ทั้งรายได้จากหอพักและอื่นๆ โดยขออนุมัติงบประมาณจากสภามหาวิทยาลัย ปีละ 3-8 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 5 ล้านบาท นำไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธนาคารเป็นระยะเวลา 20 ปี ต่อไป
ผศ.ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเดิมทีตาม “สัญญาร่วมลงทุนจัดสร้างหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” 18 ต.ค. 2549 นั้น เอกชน คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรนารีซัพพลายส์ ในฐานะ “ผู้ลงทุน” เป็นผู้กู้เงินธนาคารออมสินมาลงทุนก่อสร้างหอพักนักศึกษาหญิงจำนวน 1 หลัง ขนาด 10 ชั้น พักได้ 760 คน มูลค่า 141 ล้านบาท บนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ในฐานะ “ผู้ร่วมทุน”
และเมื่อสร้างเสร็จให้ส่งมอบเป็นของมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการหอพัก โดยตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการบริหารจัดการหอพักนักศึกษาชำระคืนเงินทุนก่อสร้างให้กับ หจก.สุรนารี ซัพพลายส์ เป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่ได้เริ่มเปิดดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง คือ เมื่อหอพักสร้างเสร็จในเดือน มิ.ย. 2551 และเปิดดำเนินการให้นักศึกษาเข้าพักครั้งแรกในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มียอดนักศึกษาเข้าพักไม่ถึง 300 คน และล่าสุดทราบว่าคงมีเหลืออยู่ไม่มาก ปัจจุบันจึงกลายเป็นหอพักที่เต็มไปด้วยห้องร้างว่างเปล่า ไม่มีรายได้เพียงพอสำหรับชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้เอกชน ตามที่เคยได้อวดอ้างไว้แต่เดิม
ทั้งนี้เนื่องจากได้จัดเก็บค่าห้องพักในอัตราแพงเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งความต้องการ-กำลังจ่ายของนักศึกษา และไม่สามารถบังคับให้นักศึกษาเข้าพักได้ โดยจัดเก็บค่าห้องพักแบบอัตราก้าวหน้า เริ่มต้นที่ปีแรกเดือนละ 1,200 บาท/คน พัก 4 คน/ห้อง รวมเป็นห้องละ 4,800 บาท/เดือน และจะปรับขึ้นค่าห้องพัก 10% ทุก 3 ปี ซึ่งปีที่ 25 เก็บที่อัตราเดือนละ 2,400 บาท/คน รวมเป็นค่าห้องพักที่สูงมากถึง 9,600 บาท/เดือน/ห้อง
ผศ.ดร.สามารถ กล่าวอีกว่า การก่อสร้างหอพักนักศึกษาดังกล่าว นับเป็นโครงการที่ไม่ชอบมาพากลและถูกจับตามองจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะผู้บริหารดื้อดึงดิ้นรนผลักดันทุกวิถีทางเพื่อให้การก่อสร้างเกิดขึ้นให้จงได้ ด้วยการร่วมมือกับเอกชนและอ้างว่าเป็นการสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยที่ไม่เคยฟังเสียงท้วงติงคัดค้านหรือข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการไม่คำนึงความคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องดำเนินการ ความต้องการหอพักที่แท้จริงของนักศึกษาและผู้ปกครอง และยังมีการแก้สัญญาเพิ่มมูลค่าการก่อสร้างถึง 2 ครั้ง จาก 135,000,000 บาท มาเป็น 141,476,719,.92 บาท
อีกทั้งต่อมาได้พยายามบิดเบือนความล้มเหลวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ว่า โครงการจัดสร้างหอพักดังกล่าวเป็น “หอพักสวัสดิการนักศึกษา” ที่ไม่ต้องการหารายได้จากนักศึกษา พร้อมกับพยายามนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาฯ ให้พิจารณาอนุมัติการรับสภาพหนี้ ดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง จนประสบผลสำเร็จสมใจ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ครั้งล่าสุดที่มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการดำเนินการในช่วงที่อธิการบดีอยู่ในตำแหน่ง “ผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี” เนื่องจากหมดวาระแล้ว ด้วย
ส่งผลให้มหาวิทยาลัยฯ ต้องรับกรรมแบกภาระหนี้เน่าหอพักนี้ทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว และต้องนำงบประมาณไปชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสิ่งปฏิกูลของการก่อสร้างแห่งนี้ต่อไปอีก 20 ปี แทนที่จะนำไปพัฒนาการเรียนการสอนสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ โดยที่เอกชนไม่ต้องมาร่วมรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำผิดอะไร แต่เป็นการบริหารผิดพลาดล้มเหลวของผู้บริหารและเอกชน ซึ่งพยายามอ้างเหตุผลว่า การรับสภาพหนี้มาเป็นของมหาวิทยาลัยแล้วชำระหนี้กับธนาคารโดยตรงทำให้จ่ายน้อยกว่าการชำระหนี้ผ่านเอกชน ซึ่งเป็นการคำนวณจากฐานระยะเวลาการชำระที่ต่างกันคือ 20 ปี กับ 25 ปี และเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ
รวมทั้งท่าทีผู้บริหารเองดูเหมือนไม่พยายามที่จะบริหารจัดการหอพักที่ตัวเองไปก่อหนี้สร้างขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้นำไปชำระหนี้ได้ แต่กลับมุ่งหวังกับการขออนุมัติงบฯ จากมหาวิทยาลัยปีละ 3-8 ล้านบาทเป็นหลัก ในการนำไปชำระหนี้ธนาคารกรุงไทย 100 ล้านบาท ดังที่ปรากฏในมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ 12 ธ.ค. ดังกล่าว
นอกจากนี้เป็นที่สังเกตว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการรับสภาพหนี้ดังกล่าวขึ้นมา แล้วตั้งแต่การก่อสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำ คือ แต่งตั้งคณะกรรมการฯ วันที่ 17 มี.ค.2551 ทั้งที่หอพักทำสัญญาเริ่มก่อสร้าง 18 ต.ค. 2549 และ กำหนดแล้วเสร็จ 8 มิ.ย. 2551
“การกระทำดังกล่าวซับซ้อน มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง อาจเข้าข่ายความผิดอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของอธิการบดี และ สภามหาวิทยาลัยหรือไม่ หรือเป็นการมุ่งผลาญงบประมาณในการสร้างหอพักเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการก่อสร้างและเอื้อแก่นายทุนหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วน หากมีความผิดขอให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียกับผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศให้ถึงที่สุด” ผศ.ดร.สามารถ กล่าวในตอนท้าย