xs
xsm
sm
md
lg

แนวร่วมเกษตรกรรายย่อยลั่นล่า 3 หมื่นชื่อ - ดัน พ.ร.บ.ปลดแอกหนี้คนจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแกนนำเครือข่ายแนวร่วมเกษตรกรรายย่อย และ ผู้ยากจนในประเทศไทย รวมพลังแถลงข่าว ผลักดันร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน ที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 12 พ.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แนวร่วมเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนประเทศไทย 4 ภาคประกาศ ล่ารายชื่อ 30,000 คน ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน เสนอสภาผู้แทนฯ ให้ตราเป็น กม.บังคับใช้ภายในปีนี้ เรียกร้องรัฐบาล “สมัครหุ่นเชิด” หันมาให้ความสำคัญออกกม.เพื่อคนจนกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ แทนที่หลับหูหลับตาเร่งดันแก้ “รธน.” เพื่อ “พ่อแม้ว” และพวกพ้องตัวเองท่าเดียว ลั่นต่อสู้ผลักดัน กม.นี้จนถึงที่สุด

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เครือข่ายแนวร่วมเกษตรกรรายย่อย และผู้ยากจนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรเกษตรกรและองค์กรภาคประชาชน 3 องค์กรหลัก ประกอบด้วย สภาประชาชน 4 ภาค, สภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) และ เครือข่ายองค์กรเกษตรกรภาคอีสาน

นำโดย นายประพาส โงกสูงเนิน ประธานสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) ในฐานะผู้ประสานงานภาคอีสาน, นายสพรรณ์ นาคสิงห์ ผู้ประสานงานภาคกลาง, นายรวิภาส บัวล้อม ผู้ประสานงานภาคใต้, นายสมศักดิ์ โยอินชัย ผู้ประสานงานภาคเหนือ และ นายวชิร ศุภรมย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแนวร่วมเกษตรกรรายย่อยฯ พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายแนวร่วมฯ จำนวนกว่า 100 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าว การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน

ทั้งนี้ นายวชิร ศุภรมย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแนวร่วมเกษตรกรรายย่อย และ ผู้ยากจนในประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของเครือข่ายแนวร่วมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า ขณะนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนทั่วประเทศ มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับปัญหาหนี้สิน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด และถูกยึดทรัพย์สิน บ้านและที่ดินต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินและปัจจัยการผลิต กลายเป็นคนไทยไร้แผ่นดินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไม่อาจกระทำได้โดยอาศัยกฎหมายที่มีอยู่

ดังนั้น เครือข่ายแนวร่วมฯ จึงได้ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมา ก่อนที่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนทั้งหมดทั่วประเทศจะไม่เหลือที่ดินทำกิน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีสาระสำคัญที่จะแก้ปัญหาหนี้สินที่ดินทำกิน ความแตกแยกในสังคม และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ประกอบด้วยเนื้อหาหลักคือ

1.ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน”

2.หนี้ทุกประเภทที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องจนศาลสั่งยึดทรัพย์ได้ ให้ลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนนำเอาปัญหามาแก้ไขตาม พ.ร.บ.นี้

3.มีคณะกรรมการคุ้มครองลูกหนี้ฯ จำนวน 33 คน มาจากตัวแทนภาคราชการ 5 คน, ผู้ทรงภูมิปัญญาที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจนจำนวน 28 คน ได้แก่ ภาคเหนือ 6 คน, อีสาน 10 คน ใต้ 6 คน และ เหนือ 6 คน

4.การพิจารณาคดี ตามคำร้องของเกษตรกรฯ ต้องใช้ศาลที่มีอยู่เป็นศาลเกษตรกร และให้ศาลตัดสินให้ลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.นี้ได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้ต้องหยุดการฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ ให้เกิดการประนอมหนี้

5.คุ้มครองให้ใช้โครงการปลูกไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันเงินกู้หรือประกันหนี้ได้เป็นเวลา 20 ปี ในอัตราต้นละ 3,000 บาท บนที่ดินลูกหนี้ที่ได้รับการคุ้มครอง โดยไม่ตัดต้นไม้

และ 6.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้

นายวชิร กล่าวอีกว่า เครือข่ายแนวร่วมเกษตรกรฯ กำหนดขึ้นตอนในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ให้เกิดความสมบูรณ์ ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ จะนัดประชุมสมาชิกเครือข่ายฯ และเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวพร้อมออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ที่ จ.ขอนแก่น จากนั้นในเดือน มิ.ย.จะมีการประชุมแกนนำเครือข่ายแนวร่วมฯ และเปิดเวทีใหญ่รณรงค์แสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเครือข่ายแนวร่วมฯ จะออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ก่อนร่วมลงชื่อจำนวน 30,000 รายชื่อ และนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายให้ทันภายในปีนี้ต่อไป

“พวกเราขอเรียกร้องให้ ส.ส.และ รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้หันมาให้ความสำคัญในการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีอยู่กว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ แทนที่จะเร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนักการเมืองและพวกพ้องของตัวเองแต่ฝ่ายเดียวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งพวกเราเครือข่ายแนวร่วมฯ จะติดตามต่อสู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ถึงที่สุดจนกว่าจะตราบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม” นายวชิร กล่าวในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น