ตรัง – กลุ่มเกษตรกร จ.ตรัง แถลงถึงเดือดร้อนยางพาราราคาตก ยืนยันว่า ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ มาจากภาครัฐที่ไม่เร่งแก้ปัญหา โดยกลุ่มเครือข่ายต่างๆ จะมีการนัดรวมพลชุมนุม เพื่อแสดงพลังในการหาทางออกร่วมกัน ในวันที่ 17 ธ.ค. เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง
วันนี้ (15 ธ.ค.) นายสมนึก พุฒนวล นางกันยา กันกิติ และนายอานนท์ ศรีเพ็ญ ในนามตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดตรัง จำนวน 11 คน ได้แก่ เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายลุ่มน้ำ กลุ่มปฏิรูปการเมือง กลุ่มรักษ์ถิ่นทุ่งค่าย สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์อุทยานหาดเจ้าไหม ชมรมชาวประมงพื้นบ้าน โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา และโครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชน ในนามเครือข่ายเกษตรกรชาวสาวยางชุมชนท้องถิ่นและคนจนเมือง ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ณ สำนักงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ซึ่งตั้งอยู่บนถนนรักษ์จันทน์ ในเขตเทศบาลนครตรัง
ในแถลงการณ์ระบุถึงวิกฤตเศรษฐกิจ และสถานการณ์ชนชั้นนำอย่างนักการเมืองว่า มีการแก่งแย่งชิงอำนาจ เพื่อหวังกอบโกยเอาตัวรอดในหมู่กลุ่มพรรคพวก จนละเลยปัญหาของประชาชนในประเทศ ทำให้เกษตรกร กลุ่มอาชีพแม่ค้า นักธุรกิจรายย่อย และประชาชนทุกระดับ อยู่ในสภาพของการดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ดังต่อไปนี้ คือ
1.ราคายางพาราปั่นป่วนตามกลไกตลาด โดยมีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตที่ไม่ควรมีราคาต่ำกว่า 55 บาท ตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
2.สินค้า ค่าครองชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และบริการสาธารณะมีราคาแพง จากการฉกฉวยโอกาสของกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการ ทั้งที่ราคาน้ำมันมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
3.ปัญหาหนี้สินของเกษตกรชาวสวนยางชุมชนท้องถิ่น ที่กำลังเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลทำได้เพียงโยกย้ายหนี้จากเอกชนมาสู่การดูแลของรัฐ (กองทุนฟื้นฟู) เป็นมาตรการเบื้องต้นที่ดีแต่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งไม่มีการทบทวนกฎหมายนโยบายและยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาในระดับชาติและจังหวัด ที่จะนำมาซึ่งความเข้มแข็ง และการมีอธิปไตยทางอาหาร และอธิปไตยชุมชน สังคม อย่างแท้จริง
4.การใช้นโยบายและกฎหมายละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิกองทุน (สกย.) และการคุกคามทำลายอาสิน จับกุมดำเนินคดีอาญา และเรียกค่าเสียหายทางเพ่ง แก่เกษตรกรชาวสวนยางชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนกว่าแสนล้านบาท จนเป็นข้อพิพาทกับส่วนราชการ โดยที่รัฐบาลไม่มีความจริงจังในการแก้ปัญหา แต่กลับยกเลิกเก็บภาษีข้อตกลงระหว่างเครือข่ายกับส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นการยืนยันอำนาจ ในการยึดที่ดินทำกินของเกษตรกรชาวสวนยางชุมชนท้องถิ่น และ
5.ปัญหาการพัฒนาและใช้ทรัพยากร จนขาดความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์ความรู้ภูมิปัญญาของวิถีชุมชน เช่น โครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมตำบลทุ่งค่าย
ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดตรัง จึงได้มารวมตัวกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาของรัฐบาลใหม่ พร้อมกับเดินหน้าตรวจสอบและกำกับอำนาจรัฐ ให้หันมารับใช้ประชาชนคนยากจน ก่อนที่วิกฤติทางเศรษฐกิจจะล้มละลายในทุกระดับ โดยเฉพาะระดับรากหญ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งทางกลุ่มเครือข่ายต่างๆ จะมีการนัดรวมพลชุมนุม เพื่อแสดงพลังในการหาทางออกร่วมกัน ในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเครือข่ายที่เข้าร่วมในการแถลงการณ์ครั้งนี้ ยืนยันว่า ปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ มาจากภาครัฐที่ไม่เร่งแก้ปัญหา รวมทั้งในส่วนของการดูแลเรื่องราคาสินค้าที่ยังคงมีราคาแพง แม้ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตได้ปรับลดต่ำลงอย่างมากแล้วก็ตาม จนทำให้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มหนี้สินของประชาชน และเพิ่มปริมาณอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากความยากจน จึงยิ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกระดับเป็นอย่างมาก