xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่ช่วย “ช้างพลายขาเป๋” เขาอ่างฤาไน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉะเชิงเทรา - ทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่ดูอาการช่วยเหลือช้างพลายขาเป๋ เขาอ่างฤาไน พร้อมเตรียมเอกซเรย์ดูบาดแผล วางแผนการรักษา เผยหากอาการดีขึ้นแข็งแรงกว่าเดิมก่อนหน้า เตรียมทำการเคลื่อนย้ายส่งไปรักษายังศูนย์ คชบาลแห่งชาติลำปางทันที

วันนี้ (22 ก.พ.) เวลา 14.30 น.ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา คณะทีมสัตวแพทย์ นำโดยนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักราชวัง ได้เดินทางมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เพื่อเข้าดูอาการบาดเจ็บของช้างพลายขาเป๋ หรือพลายสามพราน ที่ถูกบ่วงแร้วนายพรานรัดข้อเท้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส แผลบวมอักเสบติดเชื้อ มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่จนผิดรูป ตั้งแต่เมื่อปี 2549 เพื่อร่วมกันตรวจดูอาการของบาดแผล และลงความเห็นจากสภาพอาการจริงในพื้นที่ ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา

ในนามนายสัตวแพทย์รับเชิญ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาช้างจากหลายพื้นที่ ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ทศพล ต่อศรี จากสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ กรมปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ นายสัตวแพทย์พัทรพล มณีอ่อน สัตว์แพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายสัตวแพทย์โอฬาร อุดมมะนะ จากสวนสัตว์นครราชสีมา นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล จากโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง และทีมสัตว์แพทย์พร้อมเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัย มหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเข้ามาดูอาการบาดแผลของช้างพลายสามพราน จากสภาพความเป็นจริง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร ช้างอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเคลื่อนย้ายได้หรือไม่ หากเคลื่อนย้ายได้จะส่งไปทำการรักษายัง ศูนย์คชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง แต่หากยังไม่แข็งแรงพอที่จะเคลื่อนย้ายได้ ก็อาจจะตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาทำการดูแลรักษายังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนก่อน ด้วยการกั้นคอกให้อยู่ไม่ให้เดินทางกลับไปยังที่เดิม และป้องกันช้างอื่นเข้ามารบกวน จนกว่าจะแข็งแรงดีพอจึงจะทำการเคลื่อนย้าย

หากปล่อยให้ช้างยังคงอยู่ในป่าบริเวณแนวเขตป่ากันชน ซึ่งติดกับสวนพืชไร่ของชาวบ้าน บาดแผลก็จะยังคงเรื้อรังรักษาไม่หายต่อไป เนื่องจากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า จำนวนมาก เมื่อบาดแผลสัมผัส ก็จะยิ่งทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูอาการในวันนี้แล้วจึงจะร่วมกันลงความเห็นอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยในวันนี้ทีมสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จ.นครปฐม ได้เตรียมนำเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ มาทำการเอ็กซเรย์บาดแผล เพื่อดูแนวกระดูกว่าผิดรูปไปหรือไม่ ผิดปกติไปมากน้อยเพียงใด สำหรับเป็นแนวทาง ในการรักษาข้อเท้าหลังจากการผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น