หยุด!! สนับสนุน “ธุรกิจขอทาน” เผยรายได้บางคน “หลักแสนต่อเดือน”!! จับกี่ครั้งกลับมาเพราะ “เงินดี” วิเคราะห์หนัก ปัญหาจริงๆ ของ “ขอทาน” ไม่ใช่เพราะ “สิ้นไร้ไม้ตอก” แต่คือ “นักฉวยโอกาส” จากความใจบุญ
เป็น “หมื่น” แค่นั่งขอวันๆ
“วราวุธ ศิลปะอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วอนหยุดสนับสนุนขบวนการผิดกฎหมายอย่าง “ขอทาน” ชี้ที่ผ่านมา “ปัญหาขอทานเพิ่มขึ้นสูง” เพราะ“รายได้ดี”
ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา มีการจับกุมขอทานไปแล้วกว่า 7,000 ราย โดยประมาณ 30%เป็นชาวต่างขาติ แม้จะยังไม่มีข้อมูลยืนยันรายได้ที่แน่นอนของอาชีพนี้ แต่ถ้าเป็นช่วงไฮซีซัน โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว พุ่งสูงถึง “เดือนละแสน!!”
ไม่แปลกใจ ทำไมหลังถูกจับก็ยังพบหลายรายกลับมานั่งขอใหม่ เพราะ “ค่าปรับถูกกว่ารายได้” จนไม่ว่าจะต้องเข้าตะรางกี่ครั้งก็คุ้ม
“สมมติว่าเดือนหนึ่งได้มาคนละ 20,000 บาท แล้วโดนปรับครั้งละ 5,000 บาท ในมุมมองของคนทำอาชีพขอทานก็ถือว่าคุ้มค่า ดังนั้น การที่เราให้ทาน เป็นการสนับสนุนให้มีการขอทานมากขึ้น”
ในปกติ ถ้า “ขอทาน”ที่ถูกจับถ้าเป็นชาวต่างชาติ จะถูกผลักดันให้กลับภูมิลำเนาเดิม ส่วนถ้าคนไทยจะส่งไปที่สถานดูแลบุคคลไร้ที่พึ่ง ภายใต้การดูแลของ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)” ซึ่งฝึกอาชีพและสนับสนุนให้หางานทำ
แต่ด้วยรายได้ที่มาก “กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)”เคยเผยข้อมูลกับสื่อเมื่อปี 66 ว่า ในย่านท่องเที่ยวหรือชุมชน อย่าง ศาลาแดง, ย่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มีรายได้ต่อวันมากถึง 10,000 บาท หรือความจริงอาจมากกว่านั้นส่วนในโซนเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาท
ปัญหาเรื่อง “ขอทาน” ในไทยเป็นสิ่งมีมานาน และยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ เพราะอะไร? ลองขอให้ “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร”นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ช่วยวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา
นักวิชาการจากTDRIรายนี้บอกว่า ปัญหาขอทานมันมี 2 กลุ่มที่ทับซ้อนกันอยู่คือ “คนที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ” กับ “คนที่ขอทานเป็นอาชีพ” และอีกมันเรื่องคือ “คนไร้บ้าน”
{ “ดร.นณริฏ” นักวิชาการอาวุโสจากTDRI }
“แต่แน่นอน ขอทานบางคนอาจจะไม่ใช่คนไร้บ้านก็ได้ แต่ว่ากลุ่มคนที่จำเป็นแล้วต้องขอทาน มีไม่น้อยที่เป็นคนไร้บ้าน ก็คือเขาไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีงานทำ เขาต้องการความช่วยเหลือ”
จากการเก็บข้อมูล“คนที่ไม่มีทางเลือก” จำใจต้องเป็นขอทานมีราวๆ 3,000-5,000 คนทั่วประเทศ คนกลุ่มนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแล ซึ่งกลไกที่มีก็ดีในระดับนึง ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีเข้าไปช่วยเหลือ ฝึกอาชีพและส่งเสริมงานให้แล้ว
คนเหล่านี้คือคนที่ถูกระบบทุนนิยมผลักออกจากสังคม และไม่สามารถกลับมาได้ ในกลุ่มนี้ไม่มีใครอยากเป็นขอทาน เพราะ “เขาไม่อยากขอคนอื่นทานหรอก มันดูเสียศักดิ์ศรี”
“นักฉวยโอกาส” จากความเชื่อ
“กลุ่มที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาสังคมเลย ก็คือมันเริ่มกลายเป็นธุรกิจ”
“ขอทานอาชีพ” นี่คือปัญหาที่แท้จริงของสังคม “ดร.นณริฏ” นักวิชาการอาวุโสจากTDRI บอกว่า ด้านหนึ่ง “ธุรกิจทำทาน” บ้านเรานั้น “รายได้ดีเกินคาด” ทำให้ทั้งคนไทยและต่างชาติ โดดเข้ามาฉวยโอกาสนี้
เราจะเห็นเคสดังๆ ของขอทานตามวัดที่มีชื่อเสียง ที่พอตัวเองแก่ตัว กลับมีเงินบริจาคให้วัดหลัก “หลายล้านบาท” แปลว่าเป็นอาชีพที่ “รายได้ดี” จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ถึงภาครัฐจะมีการฝึกอาชีพให้ แต่ส่วนหนึ่งก็เลือกกลับไปเป็นขอทานอยู่ดี
“พอกลับไปทำงาน ท้ายสุดคุณก็ได้ทำงาน ลักษณะค่าแรงขั้นต่ำนะครับเต็มที่ ไปเป็นแรงงานเหนื่อย นั่งอยู่เฉยๆ ขอทาน มันก็ได้ตังค์ แล้วก็ได้เยอะกว่าด้วย“
กลุ่มที่ 2 ที่มองว่า “ขอทานคืออาชีพ” ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อคนกลุ่มที่แรก ที่ไม่มีทางเลือกอีกด้วย แทนที่พวกเขาจะอยากได้รับความช่วยเหลือ เพื่อกลับไปมีงานทำ กลับมาสู่สังคมได้
“มันกลายเป็นว่า เขาก็ถูกจูงใจ ให้กระโดดมาเป็นกลุ่มที่ 2 คือทำเป็นอาชีพไปเลยดีกว่า”
และปัญหาสังคมเชิงเศรษฐศาสตร์ คือเราอยู่ในโลกของทุนนิยม เราได้ผลตอบแทนจากการทำ หรือผลิตอะไรบางอย่างให้สังคม แต่ขอทานเป็นอาชีพที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับสังคม “เป็นการดึงเงินออกจากสังคม โดยไม่มีผลผลิตอะไร”
หากถามว่าทำไม “ธุรกิจขอทาน” บ้านเรามันถึงรายได้งาม และน่าจูงใจขนาดนั้น “ดร.นณริฏ” ให้คำตอบที่ฟังแล้วช่วยให้เห็นภาพความเป็นไทยได้อย่างดี คือ“เราทำบุญกันมากเกินไป”
เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ทำให้คนชอบอยู่แล้วเรื่อง “การทำบุญ”แต่มันกลับมีความเชื่อครึ่งๆ กลางๆ คือเรามักคิดแค่ “ทำบุญแล้วได้บุญ”โดยไม่ตั้งคำถามว่า “เงินที่ให้ไปนั้น ปลายทางมันจะถูกเอาไปใช้ประโยชน์อะไร”
หลักของการทำบุญในพุทธศาสนาคือ 1.คนทำต้องมีใจบริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทน ทำบุญแล้วขอให้รวย อยากขึ้นสวรรค์ จริงๆ อันนี้ก็ไม่ได้
2.ของที่ให้ก็ต้องบริสุทธิ์ ถ้าเป็นเงินจากการโกงก็ไม่ได้
และ 3.สุดท้าย คนรับเองก็ต้องบริสุทธิ์ ในกรณีขอทาน หมายความว่า เขาไม่มีทางเลือกแล้วจริงๆ ถึงมาเป็นขอทาน ไม่เช่นนั้น มันก็จะกลายเป็นอาชีพอย่างที่เราเห็น
“ถ้าคุณเอาเงินไปให้คน ที่ไม่ควรให้ มันเป็นการสงเสริมไม่ให้ทำงานด้วยซ้ำ มันก็ไม่ต่างกับ คุณเอาอาวุธไปให้คนไม่ดี”
{ ศรัทธาเมืองพุทธสร้าง “นักฉวยโอกาส” }
ปัญหาเรื่อง “ขอทาน” ในมุมนักวิชากาด้านเศรษฐศาสตร์ของ “ดร.นณริฏ” มองว่าในไทย คนที่เป็นขอทานเพราะสิ้นไร้ไม้ตอกมีไม่เยอะ หากเทียบกับประชากรไทยทั้งหมด ถึงแม้บ้านเราจะมี “ความเหลื่อมล้ำ” สูงก็ตาม
ถ้ามองในอเมริกาหรือยุโรปสัดส่วน “คนไร้บ้าน” ของเขาเยอะกว่าเรามาก นั่นอาจเป็นเพราะไทยมี “Social Safety Net” ที่ดีกว่า คือเรามีสายสัมพันธ์ของครอบครัวที่ค่อยดูแลกัน และกลไกลรัฐที่ดีระดับหนึ่ง
“แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนภาพความฉาบฉวยทางศาสนามากกว่า สำหรับผมนะ เพราะผมรู้สึกว่าขอทานที่เป็นปัญหาจริงๆ มันคือกลุ่มหลัง (กลุ่มที่เป็นอาชีพ)
กลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์ จากความเชื่อที่มันครึ่งๆ กลางๆ ของคนไทย”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...ย่านฮอตฮิต รายได้สูงถึงวันละ 10,000 บาท แถมค่าปรับยังถูกกว่าหลายเท่า เหล่านักขอจำนวนไม่น้อย เลยคิดว่าถึงจะต้องเข้าตะรางกี่ครั้งก็คุ้ม...
>>> https://t.co/HFCt81cLXQ
.#ขอทาน pic.twitter.com/eFYJCiRShl— livestyle.official (@livestyletweet) June 30, 2024
@livestyle.official ...ย่านฮอตฮิต รายได้สูงถึงวันละ 10,000 บาท แถมค่าปรับยังถูกกว่าหลายเท่า เหล่านักขอจำนวนไม่น้อย เลยคิดว่าถึงจะต้องเข้าตะรางกี่ครั้งก็คุ้ม... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ขอทาน ♬ original sound - LIVE Style
เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **