xs
xsm
sm
md
lg

‘ขอทาน’ ปัญหาเรื้อรัง รายได้งาม ยิ่งจับยิ่งโต ทั้งไทย ต่างด้าวเต็มเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ ‘ขอทาน’ ปัญหาเรื้อรัง รายได้งาม ยิ่งจับยิ่งโต ทั้งไทย ต่างด้าวเต็มเมือง



ปัญหาเรื่องขอทานล้นเมืองถือเป็นปัญหาโลกแตกที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่อาจหาวิธีมาจัดการได้เด็ดขาดเสียที ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงพื้นที่วัดกัลยาณมิตร เพื่อตรวจสอบบุคคลไร้บ้านและขอทานในพื้นที่ โดยสามารถควบคุมตัวขอทานได้ 2 ราย

พฤติกรรมของขอทานทั้งสองรายนี้เป็นที่เอือมระอาของประชาชนในพื้นที่และผู้ที่เข้ามาทำบุญเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินขอเก็บที่จอดรถ ขอเงิน การใช้สารเสพติด จนสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนทั่วไป

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ขอทานทั้งสองรายมีรายได้จากการขอทานมากว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวไปบำบัดอาการติดสารเสพติดและอาการทางจิตต่อไป

ขณะเดียวกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มีเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจให้กับสังคม ภายหลังนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจ สถานตำรวจนครบาลบางพลัด ร่วมกันไปตรวจสอบที่หน้าสะพานลอย บริเวณห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จนได้พบกับหญิงวัย 40 ปี ชาวจีน สวมชุดคล้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรี ถูกตัดมือทั้งสองข้างและถูกน้ำกรดราดที่ใบหน้าจนเป็นแผล มานั่งขอทาน

การตรวจสอบและสอบสวนพบเงินที่ได้มาจากการนั่งขอทานตลอดทั้งวันประมาณ 10,000 บาท จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามาตรวจสอบ เพราะมองว่าอาจเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์

การสำรวจข้อมูลจำนวนขอทานในประเทศไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระยะ โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2566 จำนวนขอทานต่างด้าว 683 คน ปี 2561 จำนวน 190 คน ปี 2562 จำนวน 172 คน ปี 2563 จำนวน 115 คน ปี 2564 จำนวน 86 คน ปี 2565 จำนวน 69 คน ปี 2566 จำนวน 136 คน

ขอทานคนไทย 1,794 คน ปี 2561 จำนวน 341 คน ปี 2562 จำนวน 261 คน ปี 2563 จำนวน 227 คน ปี 2564 จำนวน 220 คน ปี 2565 จำนวน 333 คน ปี 2566 จำนวน 400 คน

ขณะที่ ตัวเลขรายได้จากการขอทานขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น ย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อวัน บางรายมีรายได้ประมาณ 6,000 – 7,000 บาทต่อวัน แต่ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ทำการขอทานมีรายได้ลดลงอย่างมากเช่นกัน เฉลี่ยประมาณ 50 บาทต่อวัน

ตัวเลขจำนวนขอทานที่สูงขึ้น ด้านหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่ควบคุมการห้ามคนเป็นขอทานอย่างพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 นั้นไม่ได้ผล ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกกับผู้ที่เป็นขอทาน และผู้สนับสนุนช่วยเหลือผู้เป็นขอทาน ไม่ใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขขอทานทั้งคนไทยและคนต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นนั้น มาจากลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นคนใจบุญและจะมักสงสารและให้เงินแก่คนที่ด้อยกว่า โดยไม่ได้มองว่าการทำบุญดังกล่าวจะกลายเป็นการส่งเสริมขบวนการค้ามนุษย์แต่อย่างใด ทำให้เจ้าหน้าที่ปราบเท่าไหรก็ไม่อาจปราบได้หมด

ในแง่นี้ หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พยายามรณรงค์และเรียกร้องให้ตัดวงจรขบวนการนี้ด้วยการขอให้คนไทยหยุดให้เงินขอทาน ถึงขนาดที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ต้องเคยออกมาเรียกร้องด้วยตัวเอง มิเช่นนั้น ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ปัญหาขอทานคงเป็นเป็นปัญหาเรื้อรังไปอีกนาน ถ้าตราบใดยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาไปถึงต้นตอได้

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น