“สภาพัฒน์” กังวล! แผนมหาดไทย เยียวยายกเว้นค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรม ห้องพักละ 40 บาท ที่จมพิษโควิดระยะยาว หลังจ่อยกเว้นต่อเนื่องถึงปี 69 ชี้ควรพิจารณายกเว้น “ในอัตราที่ไม่เท่ากัน” หลักเสมอภาค แทนยกเว้นเท่ากันทุกราย แนะภาครัฐ นำค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่ง ใช้พัฒนาท่องเที่ยว บริการภาพรวม แนะปรับแนวทางชูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จูงใจผู้ประกอบการนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น
วันนี้ (27 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย เตรียมประกาศใช้ กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2567 (ฉบับใหม่)
ทดแทนกฎกระทรวงฯ ฉบับ พ.ศ. 2565 ที่จะสิ้นผลใช้บังคับในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นี้ หลังคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยา “ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม” ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มี.ค.2563) ให้มีความต่อเนื่อง
“เห็นควรยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก ต่อไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 - 30 มิ.ย. 2569”
ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 44,199,440 บาท (ปีละ 27,099,720 บาท)
ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวผ่านมาตรการ ทั้งในเชิงกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยว และลดภาระผู้ประกอบการ
.
ซึ่งมาตรการขยายเวลาฯ ดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,099,720 บาทต่อปี (คำนวณจากห้องพักของโรงแรมประจำปี 67 จำนวน 677,493 ห้อง)
แต่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบและยังไม่อาจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เป็นกฎกระทรวงฉบับแรก พ.ศ. 2563 ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 - 30 มิ.ย. 2565
ซึ่งได้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม คิดเป็นเงินจำนวน 47,354,200 บาท
ขณะที่ กฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ พ.ศ. 2565 ยกเว้นค่าธรรมเนียม ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2565 - 30 มิ.ย. 2567
สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมฯ เป็นเงินจำนวน 49,786,160 บาท
ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อกฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า
“เห็นควรพิจารณามาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจโรงแรม สามารถปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น”
ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์ หรือสิ่งจูงใจ (Incentive) แก่ธุรกิจโรงแรม จะส่งผลต่อการพัฒนาต่อยอด ในการปรับปรุงสถานประกอบการ ที่จะเป็นการผลักดันให้การประกอบธุรกิจโรงแรมในไทยมีความเข้มแข็ง และยั่งยืนมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา
โดยเฉพาะมาตรฐานความมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “คาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)” เพื่อรองรับความท้าทายต้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานต้านความปลอดภัยในการให้บริการด้านที่พักในอนาคต
สภาพัฒน์ ยังเห็นว่า อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม “ในอัตราที่ไม่เท่ากัน” โดยยึดหลักความเสมอภาค (Equity) ของผลประโยชน์ที่จะได้รับในธุรกิจโรงแรมแต่ละประเภท
เพื่อให้ภาครัฐสามารถนำค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรมที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว และบริการในภาพรวม
ให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น แทนการยกเว้นค่าธรรมเนียมเท่ากันทั้งหมดให้กับธุรกิจโรงแรมทุกราย
ด้าน สำนักงบประมาณ มีความเห็นว่า กระทรวงมหาดไทย ควรจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับ กับการสูญเสียรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่จัดทำ เสนอคณะรัฐมนตรีเพี่อทราบเป็นประจำ ทุกสิ้นปีงบประมาณ