รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง วาง 10 มาตรการ 3 มิติงาน มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ระดับ Tier 1
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.รับผิดชอบงานด้านมั่นคง เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับกลุ่มที่ 1 (Tier 1) ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ตนเองเป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบนโยบายพร้อมขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1-9, บช.ก., บช.สอท., สตม., สยศ.ตร., สทส., จต. และ วน.
เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใน 3 มิติงาน 10 มาตรการ ดังนี้
มิติด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ต้องเร่งรัดให้มีผลการจับกุมคดีการกระทำความผิด
เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อย่างน้อย บช. ละ 3 คดีต่อเดือน และให้ชุดจับกุมสืบสวนขยายผลไปสู่ความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง โดยต้องมีความละเอียดรอบคอบในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีจับกุมคนต่างด้าวเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานภาคประมง ทั้งในอุตสาหกรรมบนบกและทางทะเล ให้พิจารณานำกลไกการส่งต่อ NRM (National Referral Mechanism) มาใช้ในกระบวนการคัดแยกเหยื่อ เพื่อขยายผลคดีการหลอกลวงและการบังคับใช้แรงงาน สำหรับประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในรูปแบบแรงงานประมงและแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง นอกจากการตรวจกลางทะเล ให้ บก.รน. ขยายผลการสืบสวนในกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้านประมงนี้ด้วย โดยประสานข้อมูลกับ 22 จว. ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และนำกลไกการส่งต่อระดับชาติ มาใช้กับการจับกุมเรือประมงไม่ปรากฏสัญชาติด้วย
ในคดีค้ามนุษย์ทุกคดี ให้พนักงานสอบสวนประสานกับอัยการแผนกคดีค้ามนุษย์โดยใกล้ชิด ก่อนมีความเห็นทางคดี และส่งสำนวนคดี เพื่อการสั่งคดีที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ทุกสถานีตำรวจต้องรายงานผลตามแบบ ปคม.01 และบันทึกข้อมูลลงระบบ E-AHT ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นปัจจุบัน
มิติด้านการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย ภายใต้หลักการสากลและเท่าเทียม ให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายภายใต้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ให้มีความพร้อม มีการคัดแยกผู้เสียหายค้ามนุษย์ทุกราย
ก่อนส่งตัวให้ สตม. ผลักดันส่งกลับประเทศ เน้นการบูรณาการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGOs รวมถึงการนำเทคโนโลยี ลดปัญหาการทำงานที่ล่าช้า และให้ทุกหน่วยให้ถือปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติ ตร. กรณีคนต่างด้าวเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา หรือถึงแก่ความตายโดยผิดธรรมชาติอย่างเคร่งครัด
มิติด้านการป้องกัน เน้นการสร้างภาคีเครือข่าย เฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์แบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีการทำงานเชิงรุก และให้ความสำคัญในคดีการบังคับใช้แรงงาน บริการภาคประมง และการนำคนมาขอทานให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการดำเนินโครงการ D.A.R.E 2 C.A.R.E อย่างต่อเนื่อง และให้ บก.รน. และ ภ.จว. ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 22 จว. ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออก PIPO (Port In Port Out) อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป