xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดรามาคนไร้บ้าน เปิดบัญชีม้า เหยื่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์  “คนเร่ร่อนไร้บ้าน”  เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยภาครัฐมีพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่นการสร้างกลไกนำ  “คนเร่ร่อนไร้บ้าน” เข้าสู่ “ทะเบียนบ้าน พม.” เพื่อรับสวัสดิการของรัฐในฐานะเป็นคนไทย

แต่ที่กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ กรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ  “ทนายเกิดผล แก้วเกิด”  ได้โพสต์อุทาหรณ์  “คนเร่ร่อนไร้บ้าน รับจ้างเปิดบัญชีม้า” ระบุความว่า “ตามจับบัญชีม้า และศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่หดหู่คือ บัญชีม้า เป็นแค่คนไร้บ้าน นั่งขอทาน แต่มีคนมาจ้างเปิดบัญชี 300 บาท 300 บาท ติดคุก 2 ปี คุ้มไหม”

และเกิดคำถามเพิ่มเติมตามมาว่า คนเร่ร่อนไร้บ้านมีบัตรประชาชนมาเปิดบัญชีได้อย่างไร? ซึ่งต่อมา ทนายเกิดผลเปิดเผยว่าคนเร่รอนที่ถูกจับกุมข้อหาเปิดบัญชีม้า มีบัตรประจำตัวประชาชนก่อนมาเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้าน

อย่างไรก็ตาม หลายปัจจัยทางสังคมทำให้เกิดคนเร่รอนไร้บ้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยไม่อยู่นอกระบบรัฐสวัสดิการ เป็นกลุ่มตกหล่นไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองใดๆ ในฐานะประชากรไทย รัฐจึงเกิดแนวทาง  “ทะเบียนบ้าน พม.”  โดยเป็นข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาทางการทะเบียนราษฎรสำหรับคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนที่เป็นคนไทย เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทางทะเบียนราษฎรสำหรับคนไร้บ้าน หรือคนเร่ร่อน

โดยวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลคนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน และคนเปราะบางทั่วประเทศในทุกระดับ โดยมีการผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนที่เป็นคนไทย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ให้สามารถย้ายเข้าทะเบียนบ้านปกติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐได้

โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. จะรับผิดชอบให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจำจังหวัด ภายใต้ พ.ร.บ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เป็นสถานที่ตั้งของเลขประจำบ้านและทะเบียนบ้านสำหรับคนไร้บ้าน หรือคนเร่ร่อนที่เป็นคนไทย (ทะเบียนบ้าน พม.) โดยมีผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านของทะเบียนบ้าน พม. ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ในจังหวัดที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งตั้งอยู่

 ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เปิดเผยข้อสังเกตคนเร่ร่อนไร้บ้านเมืองไทยไว้อย่างสนใจ อาทิจำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากปัญหาการตกงาน และไม่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่พักได้ จึงเลือกที่จะมาอาศัยนอนอยู่ตามท้องถนนแทน, คนไร้บ้านส่วนหนึ่งยังมีงานทำ แต่มีรายได้ที่น้อยเกินไปจนทำให้พวกเขาไม่มีความสามารถพอที่จะชำระค่าเช่า, คนจำนวนหนึ่งมีปัญหากับคนในครอบครัวและรู้สึกอึดอัดใจจนเกินกว่าจะอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องมาอาศัยพื้นที่ถนนเป็นที่อยู่อาศัยแทน, เด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหาครอบครัว และตัดสินใจออกมาอาศัยอยู่ตามริมถนนแทน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคม การไม่มีทะเบียนบ้านหรือไม่มีบัตรประชาชนทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ ดังนั้น ควรมีนโยบายด้านเศรษฐกิจและนโยบายด้านสังคมที่เข้ามาจัดระบบระเบียบคนไร้บ้าน

นอกจากนี้ รัฐต้องทบทวนนโยบายคนไร้บ้านที่อยู่ในสถานพักพิงของภาครัฐ ซึ่งกลายเป็นแรงงานที่ไม่สร้างผลผลิต (unproductive) ให้แก่สังคม ควรมีการจำแนกบุคคลที่สามารถทำงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้สามารถสร้างผลผลิต (productive) ส่วนหนึ่งให้แก่สังคมได้ รวมทั้งควรเพิ่มงบประมาณให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบสถานพักพิงของคนไร้บ้าน เพื่อที่จะให้มีการแยกกันระหว่างผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชกับผู้ไร้บ้านที่ไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต

ที่สำคัญคือรัฐบาลควรหามาตรการที่จะส่งเสริมให้คนไร้บ้านที่สามารถประกอบอาชีพได้ๆ ออกไปสู่สังคมและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไป ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรภาคเอกชนที่ทำงานด้านคนไร้บ้าน เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ

 อ้างอิงข้อมูลการแจงนับคนไร้บ้านปี 2566 จำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศมีอยู่ราวๆ 2,499 คน โดย พื้นที่ กทม. พบคนไร้บ้านสูงสุด 1,217 คน คิดเป็น 50.86% ในพื้นที่เขตพระนคร และราชดำเนินมีการกระจุกตัวมากที่สุด 500 – 600 คน รองลงมาคือ จ.ชลบุรี 126 คน และ จ.เชียงใหม่ 118 คน หากแบ่งตามเพศพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 82.5% หญิง 16.2% ที่เหลือไม่ต้องการระบุเพศ อายุของคนไร้บ้านส่วนใหญ่คือ 40 - 59 ปี 56.8% รองลงมาคือ 60 ปีขึ้นไป 22.1% และ 19 - 39 ปี 20% โดยภาครัฐและภาคีเครือข่ายมีความพยายามแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง 

 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเป้าหมายของการดำเนินการด้านคนไร้บ้านคือการคืนสิทธิ การให้งาน หรือการทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างครบวงจร โดยแผนงานปี 2566 จะทำจุด Drop in เพื่อจัดระเบียบคนไร้บ้าน รวมทั้ง การจัดการมิติอื่นๆ ติเรื่องการอยู่อาศัย เรื่องสุขภาพ เป็นต้น รวมกับภาคีเครือข่าย เช่น เดลโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งมาใช้ ซึ่งเป็นการจัดการที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ให้คนไร้บ้านสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วนประมาณ 60:60 ของค่าเช่าห้อง โดยทางโครงการจะแบ่งส่วนที่เพิ่มร้อยละ 20 ไปไว้ในกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มคนไร้บ้านในด้านอื่น ๆ หรือรายอื่น ๆ ต่อไป ระยะสัญญาอยู่ที่ประมาณ 6 - 7 เดือน สามารถต่อสัญญาได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหน่วยงาน มูลนิธิ หรือองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านดีขึ้น ตั้งแต่การได้สิทธิ ได้รับอาหาร ได้งาน ได้รับการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร งบประมาณปี 2567 จะนำโมเดล “บ้านอิ่มใจ” ในรูปแบบ Emergency Shelters กลับมาใหม่ และหากบ้านอิ่มใจแล้วเสร็จ การอยู่ชั่วคราวเพื่อจะคืนสภาพให้คนไร้บ้านได้มีงานและสวัสดิการต่างๆ ก็กำลังจะครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินต่อของคนที่ขาดสิทธิสามารถไปต่อได้ ทั้งนี้ อนาคตอาจต่อยอดไปถึงบ้านของคนรายได้น้อยด้วย

รวมทั้งการจัดการปัญหาทางจิตเวชในกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน กรุงเทพมหานครจะบูรณาการร่วมกับทาง พม. ที่มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครหรือบ้านมิตรไมตรี 5 แห่ง แต่ไม่มีกำลังเรื่องการแพทย์ โดยกรุงเทพมหานครอาจเข้าไปสนับสนุนเรื่องการแพทย์ เพื่อทำให้เป็นศูนย์ที่ดูแลทางด้านจิตเวชได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการบำบัดดูแลคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตเวชให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย

และประเด็นที่น่าสนใจคือการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านโดยส่งเสริมเรื่องอาชีพสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ผ่านแผนช่วยเหลือและสนับสนุนการจ้างงานคนเร่ร่อน เช่น โครงการจ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา โดยนายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่าการสนับสนุนพื้นที่การทำงานสำหรับคนเร่ร่อนไร้บ้านของ กทม. พื้นที่สาธารณะในเขตพระนครให้แก่คนไร้บ้านที่ผ่าน “โครงการจ้างวานข้า” สร้างรายได้วันละประมาณ 50 - 100 รายต่อวัน ทำให้คนไร้บ้านหรือคนจนเมืองเข้าถึงสิทธิปกติที่คนทั่วไปพึงมี เช่น การได้ซักเสื้อผ้า อาบน้ำ มีอาหารการกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนผ่านจากคนไร้บ้านสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง คาดว่าในการสนับสนุนด้านพื้นที่ออกแบบการทำงานจากภาคีภาคส่วนต่างๆ จะสามารถขยายผลนำคนไร้บ้านเข้าสู่ระบบแรงงานอีกจำนวนมาก เพื่อคลี่คลายสถานการณ์คนเรร่อนไร้บ้านในไทย

 สถานการณ์คนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่จัดสรรพื้นที่อาศัย การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้ง การนำเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการ คงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดตัวเลของคนคนชายขอบกลุ่มนี้จะลดลงหรือไม่ 


กำลังโหลดความคิดเห็น