xs
xsm
sm
md
lg

“อาตมากลับใจคน เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี” “พระนักพัฒนา” สร้างอาชีพ-ให้โอกาส-ชุบชีวิตคนยากไร้!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รายจ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท วิกฤตโควิด-19 กระทบกับวัด รายได้หายไปเดือนนึง 6-7 ล้าน” เปิดใจ “พระพยอม” พระนักเทศน์ชื่อดัง ในระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ครองผ้าเหลือง อุทิศตน ต่อลมหายใจ ให้โอกาสคนยากไร้-อดีตนักโทษ ให้มีอาชีพ กว่า 1,500 ชีวิต อีกทั้งยังคิดพัฒนา โครงการต่างๆ ช่วยคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น บนเส้นทางที่ยากลำบากในสังคมไทย


อุทิศตน ชุบคนยากไร้ 1,500 ชีวิต!!


“อาตมาไปอยู่สวนโมกข์ 7 ปี พอถึงฤดูบวชเณรภาคฤดูร้อน ก็จะมาที่นี่ มีอยู่วันหนึ่งหลวงพ่อพุทธทาสพูดว่า พยอมสวนโมกข์เรานี่มันไกลจากกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯอยากเห็นวัดแบบนี้ บางคนคงมาไม่ค่อยถึง

เพราะว่าคนที่ฐานะไม่ดี ค่ารถไฟ ค่ากินอยู่ อาจจะไม่พอจึงไม่ได้มา คุณลองคิดไปสร้างวัดสวนโมกข์ชานเมืองไหม เราก็หนักใจว่ามันจะทำได้เหรอ เนื้อที่เป็น 100 ไร่ ถ้าสร้างสวนโมกข์แบบนั้น มันต้องเป็น 100 ไร่ ก็รับปากบอกว่าครับ จะพยายามไปทำ”

พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม (พยอม กลฺยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี บอกเล่าเส้นทางจุดเริ่มต้นการครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตกว่า 50 ปี ทั้งยังอุทิศตน สร้างงาน สร้างอาชีพ ดูแลคนยากไร้กว่า 1,500 ชีวิต หวังเพียงมีที่ยืนในสังคม


“มันไปโดนคำไม่กี่คำ หลวงพ่อพุทธทาส หรือพระผู้ใหญ่บางองค์ ท่านบอกว่าสืบพันธุ์กับสืบศาสนา ไอ้ลูกผู้ชายยุคนี้มันจะเลือกอันไหน

ไอ้สืบพันธุ์มันทำกันเยอะแยะ ผู้ชาย 100 คนก็จ้องจะสืบพันธุ์ ถามผู้ชายยุคนี้ว่าระหว่างคิดเป็นผัว กับคิดเป็นพระ มึงคิดจะเป็นอะไรมากกว่ากัน โดนคำนี้ เราก็เลยบอกสืบศาสนา มันไม่ต้องกลัวว่าลูกออกมาจะติดยา

สืบพันธุ์เดี๋ยวลูกออกมาจะดีหรือเลว ติดยา ติดเหล้า เห็นพ่อแม่เป็นทุกข์ที่จะตาย เราก็เลยบอกชาตินี้จะไม่ยอมเสียเหงื่อให้ใครแค่ไหน มันจะสวยยังไง จะไม่ยอมเสียเหงื่อให้มันเด็ดขาด เราจะเสียเหงื่อรับใช้ให้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ให้เต็มที่”

พระนักเทศน์ พระนักพัฒนาผู้นี้ ถือเป็นหนึ่งในศิษย์ผู้ใกล้ชิดของท่านพุทธทาส ภิกขุแห่งสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี

เมื่อย้อนกลับไป ถ้าไม่มีวัดสวนโมกข์ ก็ไม่มีสวนแก้วในวันนี้ ซึ่งหลวงพ่อพระพยอมไม่เพียงทำวัดสวนแก้ว ให้เป็นวัดสวนโมกข์ชานเมืองตามปณิธานของท่านพุทธทาส
แต่หลวงพ่อยังเป็นพระผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือสังคม และประชาชนผู้ทุกข์ร้อนยากไร้

ไม่ว่าเด็ก คนชรา หรือ คนพิการ เช่น โครงการสลบมาฟื้นไป โครงการที่พักคนชรา โครงการช่วยน้องท้องหิว โครงการซูเปอร์มาร์เกต โครงการผลไม้กระจายบุญ

“ตอนมีข่าวเรื่องคนไทยเหลื่อมล้ำเรื่องการมีที่ดิน เจ้าสัวก็มีทรัพย์สิน 4 แสนไร่ 5 แสนไร่ แต่คนจนตารางวางยังไม่มี เราคิดว่าเราจะหยุดสร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์แบบวัดอื่นเขา วัดอื่นเขาสร้างกันเยอะแล้วล่ะ

เราน่าจะสร้างงาน สร้างอาชีพ เราก็เลยเก็บเงินทุกอย่างที่บิณฑบาต หรือว่าไปเทศน์ ไปซื้อที่ดิน ซื้อจนได้ 3,900 ไร่ แล้วเอาคนจนที่ไม่มีที่ทำมาหากิน มาปลูกผัก ผลไม้ จนเราเป็นฝ่ายหาพันธุ์แปลกๆ ที่เกษตรกรทั่วไปที่มี ที่ยังไม่ได้ติดตามข่าวสารการเกษตร


เราจะติดตามตัวไหนมีพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา เราจะมีพันธุ์มะม่วงอย่างเดียว 40-50 สายพันธุ์ มะม่วงปลูกน่าจะเป็นแสน เป็นล้านต้น มันก็เลยออกมาจนล้น

คนที่อาจจะกำลังทรัพย์น้อย ตกงาน อะไรก็แล้วแต่ บางคนหยอด 10 บาท เอาไปเป็นถุงไปเลย ถามว่าเอาไปทำไมเยอะ บอกว่าเอาไปกวน ซื้อไปกวน เพราะตกงาน ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไร

อันนี้เหมือนให้ฟรีเลย บางคนหยอด 5 บาท แต่เอาไปเป็นถุงเบ้อเริ่ม บางคนหยิบไปเต็มถุงแล้ว ยังถือใส่มือ 2 ลูก 3 ลูกอีก ไม่ว่างมือเลย อันนี้แล้วแต่หยิบ แล้วแต่หยอด

เมื่อไหร่ที่มันยุบ ก็เอามาเติมอีก ตรงนี้จะเป็นจุดไฮไลต์เลย ช่วงนี้เราถือว่าคนจนที่มี 5 บาท 10 บาท ไปซื้อที่อื่นไม่ได้ แต่ซื้อตรงนี้ได้


ตอนนี้วัดสวนแก้วมีสาขาทั่วประเทศ 11 สาขา รวมแล้ว 3,900 ไร่ โครงการที่ยังดำเนินการอยู่เป็นสัตว์ จะเป็นเป็นวัว ควาย แมว สุนัข ก็จะเอามา บางครั้งก็มี เป็ด ไก่ มาปล่อย เช่น ไก่จะถูกฆ่า เป็ดจะถูกฆ่า เขาก็ไถ่ชีวิตมาแล้วก็เอามาให้ เราก็ให้คนเลี้ยงไป จ่ายค่าแรงไป แต่เราไม่มีเวลาไปเลี้ยงดูเขาหรอก เพราะว่างานเราเยอะ ก็เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ


โครงการหลักๆ ที่ถือว่าเป็นการสงเคราะห์ มี 3 ตัว ตัวใหญ่ๆ ก็ คือ เกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม
“ตอนนี้เลี้ยงคนไว้ 1,500 คน รายจ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท วิกฤตโควิด-19 กระทบกับวัด รายได้หายไปเดือนนึง 6-7 ล้าน

เพราะว่าเมื่อก่อนนี้เราเลี้ยงคน 1,500 คน มันต้องจ่ายต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มันต้องมีรายได้อย่างน้อย 6, 7, 8 แต่มีช่วงนี้รายรับกับรายจ่ายแตะกันไม่พอดี ไม่เหลือเงินเข้าบัญชีเลย…ไม่เหลือเลย”

ทว่า ยังมีโครงการสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล ซึ่งโครงการนี้ทำมาแล้วกว่า 10 ปี มีผู้สูงอายุอยู่ภายใต้การดูแลของหลวงพ่อกว่า 100 ชีวิต

“ตอนนั้นมันมีข่าวลือใช่ไหม ต้องบอกว่าทั้งโลกมันมีคนชราเพิ่มขึ้น แต่คุมกำเนิดเด็กที่เกิดมามันน้อย คนทำงานที่จะได้ภาษีดูแลคนแก่ มันไม่ balance กัน มันขาดแคลน เราก็เลย

ชีวิตเราไหนๆ ก็มีคนสนับสนุน ทำบุญทำทาน พอจะมีบุญบารมีที่จะเลี้ยงดูเขาได้ ก็เลยจัดตั้งกองทุนผู้สูงวัย ได้เงินเยอะ 4-5 ล้าน กองทุนนี้คนชอบบริจาค บางคนก็บอกว่าเผื่อแก่แล้ว ไปไหนไม่ได้ ก็จะมาอยู่ที่นี่”


ครองผ้าเหลือง … หวังให้โอกาสคนมีชีวิตใหม่!!


อย่างไรก็ดี พระพยอม ไม่ใช่แค่อุทิศตัว พัฒนาศักยภาพ ชุบชีวิตคน แต่ยังมีแนวคิดไม่เน้นสร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์เหมือนวัดอื่น แต่จะสร้างอาชีพให้คนยากจนมากกว่า
หลวงพ่อจึงรวบรวมปัจจัยที่ได้รับจากการบิณฑบาตและเทศน์ มาซื้อที่ดิน จนปัจจุบันวัดสวนแก้ว มีที่ดินกว่า 200 ไร่ ซึ่งหากรวมทั้ง 11 สาขาของวัดสวนแก้วแล้วนั้นจะมีที่ดินกว่า 3,900 ไร่
“คนที่ออกจากเรือนจำมา เพราะญาติพี่น้องไม่รับเยอะแยะนะ เขากลัวว่ามันจะไปก่อเรื่องอีก เขาก็จะเอามาพักไว้ที่นี่ จนกว่าจะเห็นช่องทางไปทำมาหากินข้างนอกได้ ก็ไป ถ้าไม่มีช่องทางก็อยู่กับเราเยอะเลย อาตมาคิดว่าอาตมากลับใจคน เปลี่ยนคนชั่วให้เป็นคนดี น่าจะพันชีวิต”

ไม่เพียงแค่นั้น พระพยอมยังเป็นพระผู้ให้โอกาสแก่คนที่สังคม และครอบครัวไม่ต้องการ อย่าง “อดีตนักโทษ” ที่เพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำให้ได้มีชีวิตใหม่ มีอาชีพและรายได้ รวมทั้งมีพื้นที่ยืนในสังคม

“เขามากันเอง ตอนแรกเราต้องรับก่อน ส่วนพฤติกรรมที่ไม่ดี เราบอกว่า อย่ามี 3 ขี้มานะ ขี้เกียจ ขี้ขโมย ขี้เมา ถ้าไม่มี 3 ขี้ มีเท่าไหร่ก็รับหมด และถ้านอนติดเตียงก็ไม่รับนะ เพราะว่าไม่มีคนเลี้ยงดู”


ด้าน จิตรกร คนขับรถส่วนตัวของพระราชธรรมนิเทศ เปิดเผยว่า เป็นหนึ่งในคนที่พระพยอมให้โอกาส ทำให้ตนมีที่ยืนในสังคม จากการถูกมองว่าเป็นคนคุก

“ผมเป็นคนขับรถใกล้ชิดท่าน ท่านสนทนากับผมแค่ครั้งเดียว ตอนที่ผมจะมาทำงาน ตอนนั้นผมเพิ่งออกจากคุกมา ท่านก็พูดไว้ว่าถ้าอะไรไม่ดีแล้ว ก็ปล่อยทิ้งไป แล้วก็เริ่มต้นใหม่ แค่นั้นแหละครับท่านก็ไม่ได้ถามอะไรอีกเลย

แต่ตอนนี้ทางบ้านเขาก็ดีใจมาก ที่ผมได้มาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อ เพราะผมก็ยอมรับที่ผ่านมา ผมก็เป็นคนไม่ดีเท่าไหร่ แต่ผมก็อยากเป็นคนดีนะครับ เพราะว่าผมอยากมีโอกาส แต่ว่าบางทีสังคมมันไม่ค่อยให้โอกาสเรา ส่วนมากจะปิดกั้น
ผมภูมิใจมาก ผมไม่สนใจเรื่องค่าแรงเลย ว่าจะให้เท่าไหร่ ก็แล้วแต่ท่านเลย เพราะว่าท่านเป็นบุคคล เป็นพระที่อัจฉริยะ เป็นพระนักพัฒนาจริงๆ ท่านไม่คิดเอาเปรียบใครเลย”

สำหรับเกณฑ์การรับคนช่วยคนตกทุกข์ได้ยากนั้น ด้าน พรสิน ศักดิ์สม ฝ่ายบุคคลวัดสวนแก้ว บอกเล่าให้ฟังว่า ก็จะให้เกณฑ์กับคนตกทุกข์ได้ยาก คนที่ไม่มีเงินแม้แต่กลับบ้านได้ทำงาน หากเมื่อถึงวันที่กำหนด ก็จะให้เขาเลือกว่าจะอยู่ต่อ หรือกลับบ้าน

“ส่วนใหญ่ถ้าเป็นนโยบายของทางหลวงพ่อพระพยอม ก็จะให้เกณฑ์กับคนตกทุกข์ได้ยาก คนที่มาแบบไม่มี จะมีโครงหนึ่งชื่อว่าโครงการสลบมา ฟื้นไป คือ จะให้มาทำงานที่นี่ วันสองวัน สามวัน สี่วัน จนกว่าตัวเองจะมีค่ารถ แล้วก็กลับบ้านได้

คือ สลบมา มาแต่ตัวเลยครับ เราก็จะรับ บัตรประชาชนใบเดียวมา มาปุ๊บเราก็จะรับแล้วหางาน หาที่เหมาะกับคนคนนั้น แล้วให้ทำสัก 15 วัน เกิน 10 วันอย่างนี้ แล้วเราถึงจะให้เขาเลือกว่าจะกลับบ้าน หรือจะอยู่ต่อ ก็คือ เป็นโครงการของหลวงพ่อพยอม จนตอนนี้ก็มีมาเรื่อยๆ จนบางคนก็มาสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่นี่เลย ก็มีครับ”


ตายในการต่อสู้ ดีกว่าอยู่อย่างคนแพ้


จากชายหนุ่มที่เคยคิดจะบวชแค่ 3 เดือน แล้วสึก ปัจจุบันหลวงพ่อครองตนอยู่ในเพศบรรพชิต 50 ปีแล้ว จากศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านพุทธทาส สู่เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ในปัจจุบัน

แน่นอนหากย้อนไป 30 ปีที่แล้ว ถ้ากล่าวถึง พระพยอม กลฺยาโณ พระนักเทศน์ชื่อดัง ไม่มีใครไม่รู้จัก ถือเป็นพระที่สปอตไลต์ส่องมากที่สุดในเวลานั้น ซึ่งในชีวิตหลวงพ่อยอมรับว่าส่งผลกระทบ และทำให้มีสติ ระวังตัวมากขึ้น
“ถ้าไปเทศน์ที่ไหน ไม่เคยนึกว่ามันจะเป็นไปได้ อาตมาดังรุ่นเดียวกับ สายัณห์ สัญญา วันนั้นไปที่อุบล เราไปเทศน์ที่สนามทุ่งศรีเมือง คุณสัญญาเขาเล่นอยู่ห่างกัน 3 กิโล คนมาฟังเรา 5 หมื่นกว่า สายัณห์ สัญญา 3 หมื่น เราชนะ 2 หมื่น ยุคนั้นไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้น คนปีนต้นไม้ เพื่อขึ้นมาฟังล้นไปหมด 4-5 หมื่น มันเยอะเกินคาดเลย

บังเอิญชุดช่วงที่เราดัง จะมีพระดังใกล้เคียงหรือเลยเราด้วยซ้ำไป ทำให้ระวังตัว วันหนึ่งเราไปบิณฑบาต มันมีคนเหมือนจะพูดจาถากถาง เยาะเย้ย ร้านเหล้า ร้านกาแฟ พอเราอุ้มบาตรเดิน (เขาพูดว่า) พระดังๆ พังไปตั้งหลายองค์ กูว่ารายต่อไปพระพยอม


ทำให้เราต้องระวังตัว ตั้งแต่นั้นก็มีอธิษฐานใจว่าไปเทศน์ที่ไหน ต้องไม่ให้ผู้หญิงนั่งรถคันเดียวกับเราเด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะเป็นพระส่วนใหญ่ก็พังเพราะผู้หญิง เราก็เลยระวังตัว ก็เลยอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้”

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ ชีวิตคนเราไม่ว่าจะอยู่ในเพศฆราวาส หรือเพศบรรพชิต ย่อมมีทั้งขาขึ้นและขาลง หลวงพ่อก็เช่นกัน แม้จะได้รับความเลื่อมใสศรัทธา ในความเป็นพระนักเทศน์ที่แสดงธรรมได้เฉียบคม แต่เมื่อขาลงก็เกิดเหตุการณ์ที่ก่อวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ต่อหลวงพ่อเช่นกัน

“ขาลงมันลงที่สุด ช่วงเกิดเรื่องเหลืองแดง เราเห็นว่ามันไปปิดถนนหนทาง ม็อบเยอะเหลือเกิน จะไปเทศน์ที่ไหนก็ไปไม่ทัน เพราะถนนปิด ก็เลยคิดว่าจะย้ายชุมนุมม็อบทั้งหลายมาที่วัดดีไหม ก็เลยจัดที่วัดสวนแก้ว ประกาศเลยเหลืองแดงมา
พอประกาศแดงสมัครมาก่อน พอจัดแดงเสร็จ เราก็จัดเหลือง ปรากฏว่า เกิดปฏิวัติ เขาไม่ให้จัด เหลืองก็เลยว่าเราลำเอียง อยู่ข้างฝ่ายแดง

จริงๆ เจตนาแรกๆ คือ อยากแก้ปัญหาเรื่องไม่ต้องไปชุมนุมบนท้องถนน ปรากฏว่า กระทบบรรลัย วายวอด ก็ถูกคนที่เคยรักเคยชอบเรา แต่เขาอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ด่าเราเช็ดเลย ไปบิณฑบาตตะโกนเลยทำไมไม่ห่มจีวรสีแดง ด่าตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย ตอนนั้นเราวูบเลย งานเคยรับเทศน์ปีละ 900 งาน เหลือไม่ถึง 100 งาน”

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการรับมือ และสิ่งที่ได้จากวิกฤตครั้งนั้น คืออะไร หลวงพ่อให้คำตอบเอาไว้ว่า ได้รู้ถึงสัจธรรม อีกทั้งทำให้เชื่อว่าถ้าไม่มีวิกฤตในวันนั้นก็ไม่มีสวนผัก ผลไม้ และโครงการต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยง 1,500 ชีวิตที่วัดสวนแก้วเลี้ยงดูอยู่ในวันนี้
“เริ่มรู้สัจธรรมว่านี่แหละอนิจจัง โลกนี้มีได้มีเสีย มีบวกมีลบ สมหวังผิดหวัง แพ้ชนะ มันก็ดีนะ ถ้าไม่เกิดเรื่องนั้น
คือ ก็คิดอย่างเดียว ชีวิตอะไรจะเกิดมันไม่เป็นโมฆะ ไม่เกิดเปล่าแก่เปล่าตายเปล่า อยู่เปล่าๆ แก่เปล่าๆ

เกิดเปล่าๆ นี่มันเสียชาติเกิด ฉะนั้น เกิดมาทั้งทีมันต้องทำอะไรให้ชาติให้บ้านให้เมือง เรากินใช้ทรัพยากรของโลก แต่เราไม่สร้างอะไรให้โลกสร้างสรรค์สวยงามเลย เราก็เอาเปรียบโลก เอาเปรียบชาติ เอาเปรียบวงศ์ตระกูล

วงศ์ตระกูลที่เราเกิดมา เราไม่มีส่วนสร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูลบ้างเลยเหรอ ไม่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศบ้างเหรอ ไม่สร้างอะไรให้คนทั้งโลกได้รับรู้ ได้ดู ได้เห็นบ้างเหรอ แล้วเรามีคติธรรมประจำใจว่า ใช้เวลาทุกนาทีให้มีประโยชน์ ขณะที่ใครเขา กิน นอน เที่ยว เล่น เรามุ่งมั่นทำอะไร พัฒนาทำไง สงเคราะห์ทำไง เผยแพร่ทำไง อย่างเผยแพร่เราคิดทำศูนย์เรียนรู้พุทธธรรม โดยนวัตกรรมใหม่ โดยย่านนี้ยังไม่มีใครมี”

สุดท้ายยังฝากคติธรรมแก่ผู้ที่กำลังยากไร้ ตกทุกข์ พบปัญหาชีวิต ให้มีกำลังใจ และต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะผู้ทุกข์ร้อนในสังคมมีจำนวนมากในสังคมไทย

“ชีวิตคือการต่อสู้ อย่ารีบฆ่าตัวตาย อยู่ดูฟ้าหลังฝน อยู่สู้ต่อไป ตายในการต่อสู้ ดีกว่าอยู่อย่างคนแพ้ คนแพ้ยังไม่ทันสู้เลยฆ่าตัวตายแล้ว สู้หน่อย ขอคำเดียว สู้ๆๆ”


สัมภาษณ์ รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"
เรียบเรียง : ผู้จัดการ Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : FB “พระพยอม กลฺยาโณ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น