เซกเตอร์ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6-8 แสนล้านบาท แต่มูลค่าตลาดกำลังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งปัจจัยภายในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2562 มาตรการเรื่อง LTV ที่ยังคงทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจนทำให้แบงก์มองว่า ความสามารถในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยของลูกหนี้จะด้อยลง ประกอบช่วงปีที่ผ่านมา ยอดขายของลูกค้าต่างชาติ (โควตา) หดหายไปจากตลาด ยังไม่นับรวมลูกค้าต่างชาติที่ตัดสินใจเลื่อนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมออกไป
อย่างไรก็ตาม "มรสุม" ที่กระหน่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีที่ผ่านมา แม้จะรุนแรง ก็ยังพออยู่ในวิสัยที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ แต่ช่วงปลายปี 2562 ไม่มีใครคาดคิดว่า เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลายเป็น "ระเบิดลูกใหญ่" ที่ส่งผลลบและสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีก ธุรกิจล้มตายเป็นจำนวนมาก หลังจากก่อนหน้า บอบช้ำมาจากพิษสงครามทางการค้า (เทรดวอร์)
ทั้งนี้ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 กำลังซื้อในตลาด หรือโอกาสขายของใหม่ได้ของผู้ประกอบการลดลงอย่างน่าตกใจ โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินติดลบ 30% และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้ซื้อในประเทศที่ระมัดระวังในการก่อหนี้ใหญ่ด้านที่อยู่อาศัย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มลดค่าใช้จ่ายและคุมต้นทุน ส่งผลตัวเลขอัตราการดูดซับในครึ่งหลังของปี 62 ลดเหลือ 2.54% จาก 4.11% ในปีก่อน
โครงการใหม่ขายอืดเฉลี่ยลดลงถึง 50%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกและยังต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ของปี 2563 ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์และการบริหารธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อรักษาองค์กรให้อยู่รอด เนื่องจากความ "รุนแรง" ครั้งนี้ยากจะเคาเดาถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นยาวนานแค่ไหน แต่บทสรุปในเบื้องต้น ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะท้อนฐานะทางการเงินออกมาผ่านตัวเลขรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และผลกำไรสุทธิ ที่โดยรวมอยู่ใน "แดนลบ" เกือบทุกบริษัท
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักวิจัยอสังหาฯแห่งหนึ่งระบุว่า ไตรมาสแรกปี 63 ภาพรวมตลาดอสังหาฯ มียอดขายลดลงมาก ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีมูลค่าตลาดรวม 55,082 ล้านบาท ลดลงถึง 45% (YOY) โดยลดลงในทุกประเภท โดยเฉพาะคอนโดฯ ที่มีมูลค่าขายลดลงมากถึง 60% บ้านเดี่ยวลดลง 30% ทาวน์เฮาส์ลดลง 26%
ทั้งนี้ ซัปพลายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในไตรมาสแรก มีมูลค่าน้อยลงมาก เหตุจากผู้ประกอบการหลายรายชะลอตัวการเปิดตัวโครงการ โดยซัปพลายใหม่ที่เข้ามาเฉพาะไตรมาสแรกมีมูลค่า 73,690 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 16% แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ตลาดคอนโดฯ ที่ลดลงมากถึง 42%
โดยพบว่า โครงการใหม่มีอัตราการขายช้าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยลดลงถึง 35-50% เทียบกับอัตราการขายใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และผลดังกล่าวทำให้จำนวนอุปทานยังไม่ขาย (Unsold Supply) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากตลาดดูดซับ (Absorb) ได้ช้ามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อลงลึกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ช่วงไตรมาสแรกได้รับผลกระทบจากตลาดคอนโดฯ อย่างหนัก ขณะที่ตลาดแนวราบยังพอไปได้ กระทบน้อย
อสังหาฯ Q1 "รายได้การขาย-กำไร" ร่วงระนาว
โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 24 บริษัท มีรายได้จากการขายประมาณ 47,875 ล้านบาท ลดลงถึง 29.06% หรือรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงภาคอสังหาริมทรัพย์หายไปเกือบ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขความสามารถทำกำไรอยู่ที่ 7,131ล้านบาท ลดลงมากถึง 43.19% หรือกำไรสุทธิสูญหายไปในไตรมาสแรกเกือบ 5,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณาในส่วนของบริษัทอสังหาฯ ที่มีรายได้จากการขายมากกว่า 1,000 ล้านบาท จะมีอยู่ 13 บริษัท สามารถระบายสินค้า (สต๊อก) และแปลงเป็นรายได้ (สภาพคล่อง) กลับเข้าสู่ธุรกิจรวม 43,216 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 (เทียบกับ 13 บริษัทปี 63) มีตัวเลขรายได้อยู่ที่ 58,399 ล้านบาท ลดลงเกือบ 26%
และเมื่อส่องบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ พบว่า เกือบทั้งหมดมีรายได้การขายลดลงค่อนข้างมาก ยกเว้น บริษัทเมเจอร์ฯ (+41.47%) บริษัทแสนสิริฯ (+10%) บริษัทเอสซีฯ (+3.73) และบริษัทลลิลฯ (+4.5%) ที่มีผลประกอบการด้านรายได้ขายที่เติบโตขึ้น ในส่วนของกำไรสุทธิ ภาพรวมลดลงทุกค่าย ยกเว้น บริษัทเมเจอร์ฯ บริษัท สิงห์ เอสเตทฯ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ และบริษัทเสนาฯ
พฤกษา จ่อบุ๊กรายได้ตัดขายที่ดินหนุน Cash Flow
วกมาที่ "บิ๊กอสังหาฯ" บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PSH ในไตรมาสแรก สามารถสร้างรายได้จากการขายสูงสุดมีแชร์ 7,143 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกัน 11,881 ล้านบาท หรือลดลง 39.9% โดยบริษัทชี้แจงว่า รายได้จากการขายทุกผลิตภัณฑ์ลดลง เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และทั้งโลกชะลอตัว ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก และมาตรการ LTV ใหม่ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.2562 นอกจากนี้ ด้วยกลยุทธ์ในการเร่งระบายสต๊อกเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นรายได้ ทำให้บริษัทต้องลดราคาการขายและจัดแคมเปญพิเศษเพื่อกระตุ้นยอดขายโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม จูงใจลูกค้าเร่งตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขกำไรขั้นต้นในไตรมาสแรกลดลงไป 37.2%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา พฤกษา มีการลงทุนและขยายโครงการเป็นจำนวนมาก (ณ วันที่ 31 มี.ค.63) กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ มีโครงการที่เริ่มเปิดขายและยังดำเนินงานอยู่จำนวน 186 โครงการ มูลค่ารวม 211,434 ล้านบาท เฉพาะทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว รวม 152 โครงการ มูลค่าการขาย 134,432 ล้านบาท ที่เหลือเป็นโครงการอาคารชุดของกลุ่มธุรกิจ Value กลุ่มธุรกิจ Premium
นอกจากการโหมการขาย ลดต้นทุนต่างๆแล้ว พฤกษา เร่งตัดขายที่ดินเปล่า (แลนด์แบงก์) ที่ซื้อมารอพัฒนาโครงการออกไป โดยขึ้นป้ายประกาศขายที่ดินบนทำเลศักยภาพเบื้องต้น 5 แปลง ซึ่งมีการประเมินราคาลงทุนซื้อที่ดินไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า หากบริษัทสามารถแปลงที่ดินมาเป็นรายได้ ก็จะทำให้ผลประกอบการของพฤกษาปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเติมสภาพคล่องมาหล่อเลี้ยงองค์กรพฤกษา และลดภาระหนี้และดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งส่วนหนึ่งเงินที่ลงทุนซื้อที่ดิน ก็มาจากการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ (อนึ่ง ในปี 2562 พฤกษามีรายได้จากการขาย 39,885 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,459 ล้านบาท)
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทิศทางธุรกิจของพฤกษาฯ ในปีนี้คงต้องเร่งขจัดอุปสรรรค และลดความเสียโอกาสในมาร์เกตแชร์ที่ลดลง โดยจะหันมาเน้นน้ำหนักตลาดแนวราบ เรียลดีมานด์ในกลุ่มกลางถึงล่าง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าปรับลงมาซื้อบ้านในราคาต่ำลง รวมถึงเน้นเลือกเปิดโครงการที่เป็นเกรด A และเป็นโครงการที่มั่นใจเท่านั้น โดยประเมินว่า ในไตรมา 2 ตลาดจะลดลงมากขึ้น โดยคาดการณ์ตลาดปี 63 หดตัวรุนแรง ปรับลดลง 37% มูลค่าตลาดรวม 243,237 ล้านบาท
อสังหาฯ โละสต๊อกขายขาดทุนเพิ่มสภาพคล่อง
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้สร้างความเซอร์ไพรส์กับผลประกอบการ โดยนายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI อธิบายถึงเหตุผลที่ต้วเลขรายได้การขายไตรมาสแรกปี 63 เพิ่มขึ้น 10% ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายโครงการคอนโดฯ 2,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% และโครงการมิกซ์ อยู่ที่ 166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 241% ในขณะที่รายได้จากการขายโครงการทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวลดลง 26% และ 22% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลยุทธ์เรื่องราคาและผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเร่งระบายสต๊อกที่มีอยู่ ในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้นทุนโครงการเพื่อขายเท่ากับ 4,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาสนี้มาอยู่ที่ 17.9% ลดลงจาก 26.7%
"ยอดขายที่แสนสิริทำได้ ล่าสุดอยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเร่งการขายโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ให้เร็วกว่าแผนเดิม เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาด ส่งผลให้มียอดขายและยอดโอนที่ดี สวนกระแสตลาดหดตัว รวมถึงบริษัทยังมีสภาพคล่องและกระแสเงินสดอีกถึง 10,000 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีตัวเลขสต๊อกคงเหลือประมาณ 8,000 ล้านบาท"
ทั้งนี้ ช่วงปลายไตรมาสแรกและต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 บริษัทอสังหาฯ ทุกค่าย รวมถึงบริษัทบริหารการขาย (โบรกเกอร์) ได้จัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายอย่างหนัก ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการขายและโครงการใหม่ โดยมีการจัดราคาพิเศษลดต่ำกว่า 50-70% ถือว่าเป็นราคาที่จูงใจและต่ำมาก เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และยังมีโปรโมชันที่แบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ซื้อ เช่น การจัดแคมเปญอยู่ฟรี 2-3 ปี หรือการผ่อนให้แก่ลูกค้าช่วง 2 ปีแรก ยังไม่นับรวมสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการกระหน่ำจัดใหญ่ เพื่อเร่งระบายสต๊อกที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มกระแสเงินสดในมือให้มากที่สุด ดังนั้น สงครามราคายังคงไม่หมดในครึ่งปีแรก แต่คาดว่าจะหนักและรุนแรงขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และคาดว่าความต้องการซื้อที่มีอยู่ในตลาดจะกลับมาดีตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
LH กำไรนำโด่ง ทะลุพันล้าน
นายวิทย์ ตันติวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีรายได้จากการขายเท่ากับ 5,048.29 ล้านบาท ลดลง 11.41% ขณะที่ราคาขายไม่ได้มีการปรับขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นจากการขายเท่ากับ 29.51% ลดลงจาก 32.31% ในช่วงเดียวกันของปี 62 หรืออัตรากำไรขั้นต้นลดลง 2.80%
อนึ่ง เมื่อพิจารณากำไรสุทธิของทั้งระบบ จะพบว่ามีเพียงบริษัทแลนด์ฯ ที่สามารถทำกำไรสูงสุดในไตรมาสแรกปี 63 ตัวเลขเกิน1,300 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นบริษัทพฤกษาฯ กำไร 922 ล้านบาท
ลุ้นลูกค้าจีนกลับมาโอนห้องชุดครึ่งปีหลัง
แหล่งข่าวจากโบรกเกอร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ช่วงแรกที่หลายประเทศมีการปิดเมืองตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เจ้าของโครงการพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างลูกค้าชาวจีน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ ขณะที่ทางผู้บริหารการขาย ก็ได้ยืดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดออกไป เพราะลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่ยังมองว่า อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ตลาดคอนโดมิเนียมยังเติบโตได้อีก ประกอบกับ ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ลูกค้าชาวจีน มองประเทศที่ปลอดภัย ซึ่งประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่ลูกค้าชาวจีน ฮ่องกง รวมถึงสิงคโปร์ ต้องการเข้ามาอยู่หรือเป็นบ้านหลังที่ 2 หากเกิดเหตุการณ์เหมือนโควิด-19 อีกครั้ง
"ยอมรับว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การขายห้องชุดและโอนกรรมสิทธิ์ของกลุ่มโควตาต่างชาติลดลงแน่นอน จะมาบอกว่าดี คงไม่ใช่ แต่แนวโน้มครึ่งปีหลัง เริ่มดีขึ้น ลูกค้าต่างชาติเริ่มติดต่อกลับมา หลังจากรัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่เปิดการบินระหว่างประเทศเท่านั้น"
อนึ่ง ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ระหว่างปี 2561-2562 กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ได้โอนห้องชุดออกไปถึง 27,926 หน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยโอนของกลุ่มคนไทย มีมูลค่าการโอนรวมสูงถึง 111,252 ล้านบาท หรือเกือบ 21% เมื่อเทียบกับมูลค่าการโอนห้องชุดของกลุ่มคนไทยที่ 539,443 ล้านบาท
ส่องรายได้-กำไรโครงการ JV สะท้อนผล Q2
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการสำรวจบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีการพัฒนาโครงการร่วมทุนลงทุน( (Joint Venture : JV) และทำตลาดกลับลูกค้าต่างชาติ พบว่า โดยส่วนมากรายได้จากส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น (JV) ลดลง
นายไลโอเนล ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) (RML) ผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีของประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศจีนตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 62 ทำให้ลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าหลักของโครงการ เดอะ ลอฟท์ สีลม ลูกค้าชาวต่างชาติมากถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทย เพื่อทำการรับโอนโครงการได้ ซึ่งทางบริษัทฯ มีการสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลูกค้ามีการตอบรับที่ดีและพร้อมรับโอนห้องชุดเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
นายชานนท์ เรืองกฤตยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กล่าวว่า กำไรสุทธิไตรมาสแรกปี 63 ลดลง 82.1 ล้านบาท หรือ 35.5% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า ซึ่งยอดโอนของโครงการร่วมทุนที่โอนต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกปี 62 มาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไตรมาสแรกปี 63 อยู่ในช่วงท้ายของการโอนโครงการร่วมทุนดังกล่าว และโครงการไอดีโอ สุขุมวิท 93 ที่โอนครบทั้งโครงการไปแล้วช่วงปลายปีก่อน
บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า โครงการร่วมทุนลงทุนยังสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีให้แก่บริษัท โดยในไตรมาสแรกปี 63 อัตรากำไรขั้นต้นของโครงการร่วมทุนยังอยู่ในระดับสูง และช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นของรายได้จากอสังหาฯ (รวมรายได้ 51% จากโครงการร่วมทุน) อยู่ที่ 35% เพิ่มขึ้น 0.5% จากปีก่อน ขณะที่รายได้จากโครงการ่วมทุน (100%) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1,421 ล้านบาท (ลดลง 36.5%) และมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้า 109 ล้านบาท ลดลง 62.8%
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสแรก บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตรากําไรขั้นต้นที่ 39.9% และเริ่มรับรู้กําไรจากโครงการคอนโดฯ ร่วมทุนกับบริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ซึ่งสร้างเสร็จใหม่ 2 โครงการเป็นครั้งแรก ได้แก่ โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม รัชโยธิน และโครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง ที่มียอดขาย (Presale) มากกว่า 93% จากมูลค่าโครงการรวมกว่า 3,700 ล้านบาท และเกิดการรับรู้กำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 141.2 ล้านบาท (สัดส่วน 51%)
นางวีรพร ไชยสิริยะสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและเลขานุการบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิเท่ากับ 226.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.6% เป็นผลมาจากรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุน ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2563 โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 34.8 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกลุ่มพัฒนาอสังหาฯเพื่อขาย ได้แก่ โครงการนิช โมโน สุขุมวิท แบริ่ง และในไตรมาส 2 ปี 63 จะเริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์จากการขายโครงการนิช ไพรด์ เตาปูน
อสังหาฯ จ่อลดเป้ายอดขาย-รายได้ เซ่นโควิด-19
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้การทำธุรกิจไม่ง่าย ทำให้สิ้นไตรมาส2 จะมาพิจารณาในเรื่องเป้ายอดขายเดิมวางไว้ 26,000 ล้านบาท และตัวเลขรายได้ที่ 24,000 ล้านบาท การปรับเป้าเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และก็ดูว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนในครึ่งปีหลังก็จะมีการบันทึกรายได้จากแบ็กล็อก ประมาณ 9,500 ล้านบาท จากทั้งหมด 39,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการที่เปิดส่วนใหญ่ในปีนี้จะเป็นแนวราบ แต่ละโครงการจะมีการส่งมอบสินค้าใหม่ได้ทันในปีนี้ ทำให้มีรายได้จากโครงการใหม่ด้วย ขณะเดียวกัน เพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้า โปรโมชันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ออกมาตรการพักการผ่อนชำระให้ลูกค้าเป็นระยะเวลา 3 เดือน
สำหรับเป้าหมายการเปิดโครงการใหม่ปีนี้ ในส่วนของโครงการแนวราบ ยังคงตามเป้าเดิม 25 โครงการ มูลค่าโครงการ 19,200 ล้านบาท ส่วนโครงการคอนโดฯ ปีนี้จะเปิด 5 โครงการ มูลค่า 10,800 ล้านบาท โดยเปิดไปแล้ว 1 โครงการคือ โครงการศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท จรัญฯ 91 มูลค่า 2,100 ล้านบาท ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงอยู่ ก็อาจเลื่อนโครงการคอนโดฯ ทั้งหมดไปเปิดในปี 2564 แทน
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้นฯ กล่าวว่า ในไตรมาส 2 บริษัทเน้นแผนการตลาดไปที่กลุ่มโครงการพร้อมอยู่ (Ready to Move) และสินค้ารอขาย (Inventory) ด้วยหลากหลายแคมเปญ เช่น แคมเปญ Keep Your Distance เว้นระยะผ่อน ให้ผู้ซื้ออยู่ฟรีนานสูงสุด 3 ปี โดยในแผนครึ่งปีหลัง มีโครงการรอเปิดอีก 12 โครงการ แบ่งเป็นคอนโดฯ 4 โครงการ และบ้านจัดสรรอีก 8 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 16,700 ล้านบาท มีแบ็กล็อกรวมกว่า 17,000 ล้านบาท (รวมโครงการร่วมทุนมูลค่า 5,300 ล้านบาท) และยืนยันคงเป้ายอดขายทั้งปี 21,500 ล้านบาท และเป้าโอนกรรมสิทธิ์ 16,000 ล้านบาท