โควิดตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา! นักวิชาการ TDRI เผย “เรียนออนไลน์” มีปัญหาตั้งแต่ก่อนเริ่ม ทำเด็กนับล้านขาดโอกาสเรียน แถมเสี่ยงที่เด็กจะออกนอกระบบ ย้ำนโยบายนี้ไม่ควรใช้เหมือนกันทั้งประเทศ!
#เรียนออนไลน์ วันแรกก็ปัญหาเพียบ!
“ช่วงโควิดเราก็ยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในทุกด้าน พอมาเรียนออนไลน์ มันไปส่งผลต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย เด็กที่น่าเป็นห่วงมากๆ ก็คือเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน เพราะว่ามันจะทำให้เขาถูกดีดออกไปจากห้องเรียนออนไลน์ได้ง่ายมาก ถ้าเป็นนักศึกษา พอเขาไม่มีค่าเทอม ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่จะเรียนออนไลน์ บางทีมันเป็นการทำให้เด็กบางส่วนไม่ได้เรียนต่อ”
[ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ]
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ให้ความเห็นทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องราวของการเรียนการสอนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ทว่า…ขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ล่ม สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี บางบ้านมีสมาชิกในวัยเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ซ้ำร้ายหลายครอบครัวไม่แม้แต่จะเข้าถึงการเรียนการสอนนี้ได้ เนื่องจากฐานะทางครอบครัว หลากหลายปัญหาถูกสะท้อนผ่าน #เรียนออนไลน์ ส่งให้แฮชแท็กดังกล่าวขึ้นสู่อันดับ 1 บนทวิตเตอร์
“เราเห็นประเด็นนี้ตั้งแต่แรกๆ ช่วงโควิดระบาด การเรียนออนไลน์ มันพูดเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ง่าย ต้องดูความพร้อม หลักๆ ใน 3 เรื่อง 1.ผู้เรียน หมายถึงนักศึกษาก่อน เขามีคอมพิวเตอร์รึเปล่า มีอินเตอร์เน็ตรึเปล่า 2.ผู้สอน วิธีการสอน การสอบออนไลน์ มันแตกต่างจากตัวต่อตัวอย่างเห็นได้ชัด มีงานวิจัยว่า การสอนในห้องเรียนเด็กจะให้ความสนใจ ประมาณไม่เกิน 20 นาทีแรก แต่พอเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ไม่ถึง 10 นาทีที่เด็กจะให้ความสนใจ
ในส่วนเด็กเล็ก ด้วยความที่ผู้เรียนอายุน้อย อย่างนักศึกษาอาจจะสามารถมีสมาธิมากกว่าถ้าเทียบกับเด็กเล็ก เพราะฉะนั้น การปล่อยให้เด็กเล็กเรียนลำพัง มันเป็นสิ่งที่ยาก เป็นการท้าทายของผู้สอนที่จะต้องเปลี่ยนวิธีในการสอน มันต้องมีการให้เด็กมีส่วนร่วมในการดึงความสนใจเขาได้
3. ตัวระบบ ทั้งในเรื่องของซอฟต์แวร์ จะประชุมออนไลน์ยังไงให้เห็นเด็กเยอะๆ ได้คุยกับอาจารย์ท่านหนึ่ง บางคลาสที่ปกติเขาสอนเกือบพันคน จะทำได้ยังไง ส่วนใหญ่จะพูดกันแต่เรื่องแจกซิม แต่ถามว่าต่อให้มีซิม มีโทรศัพท์มือถือ มันไม่ได้เรียนได้ง่ายๆ หรือการสอบออนไลน์ ซึ่งก็พบว่ามีเด็กบางส่วน คอมพิวเตอร์เขาเก่า ติดๆ ดับๆ”
ไม่เพียงแค่นั้น นักวิชาการจากสถาบันดังยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่มีอยู่กว่าล้านคนในประเทศไทย เพราะการศึกษานั้นจะช่วยยกระดับชีวิตให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
“นักศึกษาที่มาจากครอบครัวยากจน ไม่มีคอมพิวเตอร์ อย่างน้อยเกือบ 300,000 คน ส่วนเด็กเล็กที่ยากจน ประมาณเกือบ 700,000 คน ต่อให้เด็กที่มาจากฐานะปานกลางลงไป ถ้าครอบครัวที่มีลูกหลายคน แต่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว จะทำยังไง กลายเป็นว่าพ่อแม่ต้องซื้อคอมพิวเตอร์ให้เด็กเหรอ มันก็ไม่ใช่
การลงทุนในทุนมนุษย์ ทั้งเด็กเล็กเด็กโต ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากฐานะยากจน เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าในการที่จะยกระดับฐานะทางสังคม ทำให้เขาสามารถยกระดับจากฐานะยากจนมามีฐานะที่ดีขึ้นได้ การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรียนออนไลน์ไม่ใช่โจทย์ที่มีคำตอบตายตัว”
“นโยบายเดียวทั้งประเทศมันไม่ใช่”
“ก่อนที่จะทำนโยบายอะไรก็ตาม ลองไปทำดูสำหรับคนกลุ่มนึง มีฟีดแบ็กยังไง มันใช้ได้จริงรึเปล่า ไม่ใช่พอเราออกแบบไปแล้วเราจะต้องตายตัวกับสิ่งนั้น มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ละเลยได้ เพราะกลุ่มเด็กที่ไม่มีคอมพ์ฯ เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เราต้องเช็กความพร้อมของผู้เรียน ผู้สอน และระบบ ถ้าเป็นเด็กเล็กต้องเช็กความพร้อมของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกลับเด็กกลุ่มที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน”
ไม่เพียงแค่การมองถึงประเด็นปัญหาเพียงเท่านั้น ดร.เสาวรัจ ยังได้สะท้อนทางออกสำหรับการศึกษาของเด็กไทยในยุคโควิด ผ่านมุมมองของเธอเองว่า ไม่ควรใช้นโยบายเดียวกันทั้งประเทศ ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่ม “เด็กชายขอบ”
“นโยบายเดียวทั้งประเทศมันไม่ใช่ ความพร้อมของเด็กมันแตกต่างมาก ต่อให้อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยังมีปัญหาในส่วนนั้น ประเทศไทยมี 70 กว่าจังหวัด ทำไมเราไม่ให้จังหวัดที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อไปโรงเรียนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้ชีวิตโดยปกติ โซนไหนที่เขาเปิดเรียนได้ก็ควรให้เขาเปิด โดยการที่ Social Distancing ยังต้องทำอยู่ ใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ ล้างมือ ต้องทำ รักษาระยะห่าง
เหมือนที่เห็นตัวอย่างในหลายประเทศ ใส่หน้ากาก ไม่สัมผัสกัน เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเมื่อก่อน ได้หมายความว่าไปเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ คุณครูด้วยไม่ใช่แค่เด็ก มันทำได้ มีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด มีการติดตาม เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ใช้นโยบายให้เรียนออนไลน์เหมือนกันหมดทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด คิดว่าตรงนี้มันไม่ค่อยสมเหตุผลค่ะ
อย่างเด็กเล็กที่มาจากครอบครัวยากจน ปกติมันมีการให้ค่าอาหารต่อหัวอยู่แล้ว พอเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ก็ควรจะเอาเงินส่วนนั้นไปให้ผู้ปกครองในการซื้ออาหารให้เด็ก ไม่ใช่พอไม่สามารถไปโรงเรียนได้แล้วกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องจะหยุดหมด อันนี้ไม่ถูก”
นอกจากนี้ นักวิชาการอาวุโส ยังได้เสนอแนวทางสำหรับการเรียนออนไลน์ไว้ ที่ไม่ใช่แค่ผู้เรียนเท่านั้นที่ต้องปรับตัว หากแต่เนื้อหาการสอนก็ควรปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย
“พอเราเรียนออนไลน์เราต้องปรับนะคะ มันไม่ได้หมายความว่าเด็กจะต้องอยู่หน้าจอตั้งแต่เช้าถึงเย็น เพราะความสนใจที่มันสั้นอยู่แล้ว แล้วให้เด็กนั่งยาวนาน มันไม่สามารถค่ะ ถ้าหากว่าเป็นการเรียนที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ อ่านเองได้ ขณะที่อีกส่วนนึงเรียนออนไลน์ มันควรจะเน้นในลักษณะ Active Learning ให้เด็กกับครูมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ครูพูดอยู่คนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ เด็กจะไม่มีความสนใจ และจะยิ่งไม่ได้ประโยชน์ค่ะ
ซึ่งทางภาครัฐ การตอบสนองต่อเรื่องการจัดหาคอมพิวเตอร์เรียนออนไลน์ยังน้อยมาก สำหรับนักศึกษาที่เขามีวุฒิภาวะพอสมควร การที่เขามีคอมพิวเตอร์ให้เรียนออนไลน์ มันมีความสำคัญมาก มหาวิทยาลัยอาจจะช่วย ให้ยืม หรือโครงการที่เราทำกันเองของ TDRI อย่างการขอบริจาคแล้วมอบให้นักศึกษา ในโครงการ “แบ่งปันคอมพิวเตอร์”
แต่เด็กเล็กมันต้องคิดเยอะ การศึกษาในต่างประเทศพบว่าพอมีคอมพิวเตอร์ก็มีแนวโน้มที่จะเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นการที่จะแจกคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตให้เด็กเล็ก อาจจะไม่ตอบโจทย์มาก”
ขอบคุณภาพ : dltv.ac.th และ #เรียนออนไลน์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **