xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฏฐพล” ยันเปิดเทอม 1 ก.ค.ลั่นไม่ได้ผลักภาระผู้ปกครองซื้ออุปกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ณัฏฐพล” ยันเปิดเทอม 1 ก.ค. ลั่นไม่ได้ผลักภาระให้ผู้ปกครองซื้ออุปกรณ์ มอบอาชีวะเช็กกล่องรับสัญญาณเพื่อจูนคลื่น DLTV หากไม่มีกล่อง กสทช. ให้ฟรี

วันนี้ (18 พ.ค.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนโรงเรียนวัดศรีมหาโพธิ จ.อ่างทอง หลังกระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ ออกอากาศทางช่องฟรีทีวี จำนวน 17 ช่อง เป็นวันแรกนั้น ตรงนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม การให้เด็กเรียนผ่านฟรีทีวี ทำให้เราเจอปัญหาหลายปัญหา มีทั้งเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ ทีวีเก่า กล่องรับสัญญาณไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความพร้อมของครอบครัว และเด็กๆ อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมผู้บริหารสถานศึกษา คุณครูที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งทุ่มเทเพื่อลูกศิษย์ และแจ้งข้อมูลต่างๆ จะได้นำไปแก้ไขต่อไป

“วันนี้เราได้ปล่อยสัญญาณจริง ก็พบปัญหาหลายอย่างที่เราคงต้องไปหาทางปรับปรุง ในส่วนของอุปกรณ์ความพร้อมในแต่ละพื้นที่ ส่วนสัญญาณสาระต่างๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เด็กๆ ก็มีความเข้าใจดีพอสมควรในทุกๆ ชั้นเรียน อาจจะมีเด็กบางกลุ่มที่มองว่า สาระอาจจะเร็วไปหรือช้าไป คุณครูก็ต้องเข้ามาปรับจูนความเหมาะสม ในการที่จะให้เด็กๆ ทำข้อสอบ แบบฝึกหัด แสดงความสามารถของเด็กๆ หลังจากที่ได้ดูสาระทางโทรทัศน์แล้ว ทั้งนี้ ผมยังคงยืนยันว่า 1 ก.ค.นี้ การเรียนการสอนน่าจะเกิดขึ้นได้ที่โรงเรียน โดยมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรคงไม่เหมือนเดิมที่เราจะสามารถเรียนที่โรงเรียนตามปกติ ในอนาคตการเรียนโรงเรียนคงต้องมีการเว้นระยะห่าง อาจจะจัดให้เรียนห้องละ 20 คน เหลื่อมเวลากันมาเรียน ที่สำคัญจะต้องมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ สวมหน้ากากตลอดเวลา การล้างมือบ่อยๆ”

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เราไม่ต้องการผลักภาระให้ผู้ปกครองในเรื่องการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อทีวี กล่องรับสัญญาณ เราจะให้อาชีวะลงไปดูว่า ทำไมรับสัญญาณไม่ได้ หากพบว่าเป็นที่กล่องรับสัญญาณก็จะนำไปติดตั้งให้ เนื่องจาก กสทช.มอบให้ฟรี อย่างไรก็ตาม สำรวจยังพบว่าเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายมีความพร้อมสามารถเรียนออนไลน์ประมาณiร้อยละ 90 เพราะมีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ส่วนที่เหลือร้อยละ 10 ไม่มีอุปกรณ์ มั่นใจว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ต้องหาวิธี มาเสริมทักษะในการเรียนให้กับเด็กกลุ่มนี้ จึงขอย้ำว่า ไม่ได้มีนโยบายผลักภาระให้ผู้ปกครองไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงอินเทอร์เน็ตด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น