“กัลยา” ชี้ปัญหา “เรียนออนไลน์” สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ทั้งการเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต-อุปกรณ์ แนะ กสทช. เร่งโครงการ uso net ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมวางโครงสร้างโทรคมนาคมอย่างยั่งยืน
วันนี้ (18 พ.ค.) น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการเปิดระบบทดลองเรียนออนไลน์ ว่า เสียงสะท้อนของประชาชนต่อเรื่องนี้ พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายเรื่อง หลายครอบครัวที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีอุปกรณ์ในการรองรับการเรียนออนไลน์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ เพราะบางครอบครัวนั้น มีลูกหลายคน พ่อแม่ต้องออกไปทำงานทำให้ดูแลเรื่องการเรียนในระบบออนไลน์ไม่ได้ หรืออย่างกรณีที่ยายและหลานต้องแคะกระปุกจูงมือกันไปหาซื้อสมาร์ทโฟนราคาถูก เพื่อให้หลานได้เรียนผ่านออนไลน์ เพราะกลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อนๆ เห็นแล้วก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้ บางครอบครัวกว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทต้องทำงานหนักมาก
น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า การคิดและริเริ่มการเรียนออนไลน์เป็นสิ่งที่ดี แต่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต เรื่องอุปกรณ์ การจัดสรรเวลาการเรียน ความพร้อมของครู และการดูแลเด็กๆ ซึ่งเรามีโครงการ uso net ก็ต้องฝากไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะต้องเริ่งให้ผู้ดำเนินโครงการจัดทำเป็นศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ให้ทั่วถึงทุกชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต วันนี้โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในต่างจังหวัดหลายๆ แห่ง อย่าว่าแต่อินเทอร์เน็ตเลย น้ำและไฟฟ้าบางที่ยังไม่มีใช้ด้วยซ้ำ ตนอยากฝาก กสทช.ต้องเร่งทำให้ ประชาชนทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่าทั่วถึงและเท่าเทียม
“ปัญหาการเรียนออนไลน์ สะท้อนปัญหาหลายอย่างของประเทศไทย ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น วันนี้เราต้องมาดูว่าการบริหารจัดการต่างๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือยัง และเราควรต้องวางแผนในการจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รวมทั้งเป็นการวางโครงสร้างทางระบบโทรคมนาคมเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในด้านอื่นๆ ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย” น.ส.กัลยา กล่าว