จับตา สนช.พิจารณางบ 3 ล้านล้านบาท พรุ่งนี้ คาดเศรษฐกิจปีหน้าโต 3.9% ตั้งงบขาดดุล 4 แสนล้าน พร้อมตั้ง 7 ยุทธศาสตร์จัดงบรายจ่าย
วันนี้ (6 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 7 มิ.ย.มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เพื่อลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียด
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้เสนอภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.9-4.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีการขยายตัวในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ท่ามกลางแนวโน้มการปรับทิศทางของนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ ที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับนโยบายงบประมาณปี 2562 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,000,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น มีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
ส่วนการประมาณการรายได้สุทธิจำนวน 2,550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังกำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วย (1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 329,239.6 ล้านบาท (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 406,496.0 ล้านบาท (3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 560,884.9 ล้านบาท (4) ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน 397,581.4 ล้านบาท (5) ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 117,266.0 ล้านบาท (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 838,422.2 ล้านบาท และ (7) รายการค่าดำเนินการภาครัฐ เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 350,109.9 ล้านบาท