เปิดเคสตัวอย่างกลับจากต่างประเทศไม่ยอมกักตัว ทำแม่ติดเชื้ออาการหนัก ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หมอเล่าอุทาหรณ์อย่าเข้าใจว่าไม่มีอาการ คือ ไม่ติดเชื้อ พร้อมยืนยันสถิติผู้ติดเชื้อจากทั่วโลก วัยรุ่น-วัยทำงาน คือ ตัวแพร่เชื้อ สู่ผู้สูงอายุมากที่สุด
ติดเชื้อไม่แสดงอาการ แต่แพร่คนอื่นได้
“การส่งผ่านเชื้อแบบไม่ได้ตั้งใจให้คนรอบข้าง การติดต่อของโรคโควิดเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เดิมเคยเชื่อว่าการติดต่อเกิดหลังจากที่คนไข้มีอาการแล้วเหมือนโรค SARS แต่ข้อมูลในปัจจุบันเชื้อไวรัสนี้ อาจติดต่อผ่านได้จากคนที่ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ หรือก่อนที่จะมีอาการ (asymptomatic transmission และ presymptomatic transmission)
ดังนั้น หากกลับมาจากต่างประเทศ แม้ว่าไม่มีความผิดปกติอะไรเลยควรกักตัวอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน อย่าเข้าใจว่าไม่มีอาการ คือ ไม่ติดเชื้อ”
ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Opass Putcharoen” ของ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โพสต์เล่าเหตุการณ์อุทาหรณ์ กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนอาการหนัก ซึ่งติดเชื้อมาจากลูกสาวที่กลับจากต่างประเทศ แล้วไม่ได้กักตัว เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีเชื้อ
“เคสคุณป้าคนหนึ่งอยู่บ้านสบายดี ติดเชื้อโควิดจากลูกสาวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ไม่ระวังเรื่องการกักตัว เพราะคิดว่าตัวเองยังไม่มีอาการ ไม่น่าป่วย เลยไปอยู่ด้วยกันตามปกติ แต่แยกตัวออกไปหลังจากที่ลูกสาวเริ่มมีอาการเหมือนเป็นหวัด
แต่ก็ไม่ทันการณ์ วันที่มาตรวจคุณป้ามีอาการคล้ายเป็นหวัดมา 6 วัน เอกซเรย์ปอดยังปกติ อีกวันถัดมาอาการปอดอักเสบชัดขึ้น คนไข้หายใจเหนื่อยจนระบบหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว และใส่ท่อช่วยหายใจ ย้ายเข้าห้องไอซียู คนไข้อาการหนักมาก เข้าใจความรู้สึกของลูกที่รู้ทีหลังว่าแม่ตัวเองต้องมานอนไอซียูเพราะไม่ระวังเรื่องการกักตัว
ต้องรู้นะครับว่าเราอาจจะทำให้คนในครอบครัวที่เรารักป่วยจากความไม่เข้าใจ และไม่มีระเบียบวินัย หากกลับมาจากต่างประเทศต้องกักตัวจนครบ 14 วันครับ เพราะหลังจาก 14 วัน แม้ว่าติดเชื้อจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้น้อย อาจจะทำยากแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะเคสใหม่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเคสที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ”
[ภาพเอกซเรย์ปอดจากเคสตัวอย่างที่ติดเชื้อ]
ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ประจำสถาบัน Warwick Business School ประเทศอังกฤษ ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nattavudh Powdthavee” เปิดเผยสถิติทั่วโลกของการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
ในขณะที่อายุยิ่งน้อย อัตราการเสียชีวิตก็ยิ่งต่ำลง ดังนั้น กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ อาจนำเชื้อกลับไปแพร่ให้คนในครอบครัว หรือผู้สูงอายุที่บ้านได้
“สถิติของการเสียชีวิตของคนอายุ 80 ปีขึ้นไป = 21.9% อายุ 70-79 ปี = 8% อายุ 40-49 = 0.4% อายุ 30-39 = 0.2% อายุ 20-29 = 0.2%
ระยะเวลาการฟักตัว (incubation period) = 2-14 วัน อัตราการแพร่เชื้อ (R0) = 2-2.5 คน 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปถึง 2-2.5 คนโดยเฉลี่ย
สรุปคือ โอกาสที่คนส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ Covid-19 นี้ มีอยู่น้อยถึงน้อยมาก แต่ด้วยเหตุที่ระยะเวลาของการฟักตัว = 2-14 วัน โอกาสที่คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ แต่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ จะแพร่เชื้อไปถึงกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด อายุ 80 ปีขึ้นไปก็จะมีอยู่สูงมาก”
ถึงแม้จะมองว่า 21.9% เป็นความเสี่ยงที่ไม่ได้สูงอะไรเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือคนในครอบครัวต้องมาเสี่ยงกับความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยง
“เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจสถิติของความเสี่ยงเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะทำทุกวิถีทางในการที่จะปกป้องชีวิตของคนที่เรารักที่บ้านทุกคน โดยการไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับการติดเชื้อ ถึงแม้ว่าโอกาสที่เราจะสูญเสียชีวิตจากการติดเชื้อนั้น มันจะน้อยถึงน้อยมากก็ตามนะครับ นั่นก็คือ การทำงานที่บ้าน การไม่ออกไปสังสรรค์อะไรกับใครที่ไหน หรือถ้าจะออกก็อยู่ห่างๆ คนอื่นเท่าที่ทำได้
อย่าลืมนะครับว่า 21.9% ของ 0% มันเท่ากับ 0% แต่ถ้าคุณเป็นพาหะของเชื้อล่ะก็ คุณอาจจะต้องมานั่งเสียใจกับความเสี่ยงเพียงแค่ 21.9% ก็ได้”
วัยรุ่น-วัยทำงาน แพร่เชื้อมากที่สุด
จากสถิติข้างต้น ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ยืนยันว่า กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อมากที่สุด
“มันไม่มีใครรู้แน่นอน แต่ว่าสิ่งที่กระทบในโรงพยาบาลต่างๆ คือ พวกนี้ทั้งนั้นเลย เป็นกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงานที่เอามาติดหมอ ติดคนไข้
ที่เราโฟกัสตอนนี้ คือ พวกที่ไม่แสดงอาการมาปล่อยเชื้อ เพราะว่ามันปล่อยเชื้อให้คนไข้ในโรงพยาบาล คนไข้ในโรงพยาบาลก็ติดหมอไปด้วย ก็มันน่ากลัวครับ เพราะมันเต็มไปหมดเลยตอนนี้”
[ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา]
ทั้งนี้ ยังเคยโพสต์ถึงความกังวลผ่านเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” อีกว่า คนไม่รู้ตัวอาจไปแพร่เชื้อให้แก่ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเมื่อรับเชื้อก็เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น คนหนุ่มสาวต้องหยุดการแพร่เชื้อ
“คนติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีทางรู้หรืออาจจะยากมากที่จะระบุว่าติดจากไหน และจะสามารถแพร่เชื้อได้กี่วัน ก่อนมีอาการ ไม่มีใครบอกตัวเลขได้ชัดเจนในแต่ละราย ซ้ำร้าย พอมีอาการกลับอาการน้อยจนไม่รู้สึก กลายเป็นตัวแพร่เชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวแข็งแรง
ปัญหาญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล อาจจะพาโรคมาแพร่ให้ โดยวัดไข้ก็ไม่ขึ้น เดินกระฉับกระเฉง และเหล่านี้ คือ คนหนุ่มสาวเป็นส่วนมากที่กิจกรรมชีวิตโลดแล่น มีชีวิตชีวา เป็นตัวแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพ โฟกัส คนสูงอายุ มีโรคประจำตัว คือ เสี่ยงการเสียชีวิต โฟกัส คนหนุ่มสาว คือ หยุดการแพร่เชื้อ”
นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ได้แสดงถึงความกังวลของพฤติกรรมของคนวัยทำงาน และคนหนุ่มสาว เมื่อครั้งที่ออกมาแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ในเรื่องการกักตัว และเพิ่มระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้มีการแพร่เชื้อไปสู่คนจำนวนมาก
ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว และวัยทำงาน มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ไปสถานที่มีคนแออัด ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ และหลายคนไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ที่สำคัญ ไม่ยอมกักตัวเองอย่างเคร่งครัด เมื่อป่วยหรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้โรคไปติดทั้งคนใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
...ไม่มีอาการ-พร้อมแพร่ แม้แต่หมอยังกลัว!!...
— livestyle.official (@livestyletweet) April 8, 2020
>>> https://t.co/6EL6AcmYdh
.
“พวกที่ไม่แสดงอาการ มาปล่อยเชื้อให้คนไข้ใน รพ. แล้วคนไข้ใน รพ.ก็เอาไปติดหมอด้วย มันน่ากลัวครับ เต็มไปหมดตอนนี้”
.#LIVEstyle #โควิด19 #covid_19 #socialdistancing #ผู้ติดเชื้อ #กลุ่มเสี่ยง #พาหะนำโรค pic.twitter.com/Vte5XaZVIy
ข่าว : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : AFP, เฟซบุ๊ก “Opass Putcharoen”, “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **