xs
xsm
sm
md
lg

ขยายเกณฑ์สอบสวนโรคโควิดเพิ่มขึ้น เพิ่มแล็บตรวจเป็น 110 ห้องใน เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ขยายเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด ชี้ กลุ่มมีไข้ อาการทางเดินหายใจ ครอบคลุมผู้มีประวัติมาจากทุกประเทศ อาชีพเสี่ยงที่ทำงานสัมผัสต่างชาติจากทุกประเทศ ไปในสถานที่ชุมชนแออัด กลุ่มบุคลากรการแพทย์ให้ตรวจได้ทุกราย หากแพทย์คิดว่ามีสงสัยติดเชื้อ ด้านกรมวิทย์ตั้งเป้าเพิ่มห้องแล็บตรวจยืนยันเชื้อให้ได้ 110 ห้องในสิ้น เม.ย. รองรับการขยายการตรวจผู้เข้าเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น

วันนี้ (7 เม.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีการขยายผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและสอบสวนโรคให้มากขึ้น และนำเข้ามาสู่การตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) โดยในส่วนของ 1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งเรากำหนดนิยามต้องมีไข้ 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งเดิมเรากำหนดอู่ฮั่น มาเป็นจีน และพัฒนามาจากลำดับ ตอนนี้มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วทั้งโลก 209 ประเทศ จึงปรับนิยามโดยขยายครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่ามาจากประเทศไหน หากป่วย มีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ อยู่ในข่ายต้องสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการ

2. การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล เกณฑ์คือ มีไข้ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับทางเดินหายใจ และโรคปอดอักเสบ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเดิม คือ มีประวัติเดินทางไปประเทศเขตติดโรคติดต่ออันตราย เราก็ขยายไปยังทุกประเทศ ทำให้กลุ่มประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวก็ขยายขึ้นทุกประเทศตามไปด้วยที่ต้องได้รับการสอบสวน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ประวัติเสี่ยงว่าไปสถานที่ชุมชน สถานที่แออัด มีการรวมกลุ่มคน หรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิม

3. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เราแยกออกมาจากกลุ่มสถานพยาบาล เพราะพบการรายงานติดเชื้อในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างวันที่ 6 เม.ย. ก็มีกรณี รพ.วชิระภูเก็ต รักษาผู้ป่วยต่างชาติประสบอุบัติเหตุแล้วพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีบุคลากรสัมผัส 112 ราย เบื้องต้นผลตรวจออกมามากกว่า 90 ราย ว่าเป็นลบ แต่มีความจำเป็นต้องกักและเฝ้าอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน จึงต้องแยกเกณฑ์สำหรับกลุ่มบุคลากรออกมา โดยอาการที่จะเข้าเกณฑ์สอบสวน คือ มีไข้ 37.5 องศา มีอาการทางเดินหายใจ หรือปอดอักเสบ ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ผู้สงสัยว่าป่วย และทุกรายที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าติดเชื้อ แสดงว่า บุคลากรสามารถได้รับการตรวจและสอบสวนทุกราย

และ 4. การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเรามีการกำหนดไว้แล้ว แต่จะมีความสำคัญในช่วงฤดูฝน เพราะมีเรื่องของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หากมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน โดยบุคลากรทางการแพทย์ติดเป็นกลุ่ม 3 ราย คนทั่วไป 5 ราย หากผลตรวจไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแรพิดเทสต์ หรือ พีซีอาร์ เป็นลบ ก็จะนำเข้าสู่การตรวจโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ไปสัมผัส แต่ไม่มีอาการนั้น โดยปกติเมื่อเจอผู้ป่วยยืนยันจะมีการแยกผู้สัมผัสใกล้ชิด หากมีไข้ก็จะเข้าสู่เกณฑ์การจัดการเหมือนกับผู้ป่วย แต่หากยังไม่มีไข้ก็จะเฝ้าระวังไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือกักตัวเองที่บ้าน โดยในส่วนของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์และตรวจทางห้องปฏิบัติการจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากรัฐออกให้ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่มีอาการ ทั้งที่เราติดตามได้ หรือผู้มีความเสี่ยงติดต่อเข้ามา จะได้รับการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติ โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากการปรับนิยามและขยายกลุ่มผู้สัมผัส จะทำให้ประชาชนทั้งกลุ่มป่วยและผู้สัมผัส เข้าถึงการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บที่จะตรวจมีเพียงพอหรือไม่นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่ตรวจยืนยันเชื้อด้วยวิธีการ RT-PCR จำนวน 80 ห้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอยู่ใน กทม. 39 แห่ง และต่างจังหวัดอีก 41 แห่ง ซึ่งศักยภาพในการตรวจสูงสุด คือ กทม. ประมาณ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยกรมฯ มีโครงการหนึ่งจังหวัดหนึ่งแล็บ 100 ห้องปฏิบัติการ รายงานผลใน 1 วัน โดยภายใน เม.ย.นี้จะเพิ่มห้องแล็บเป็น 110 ห้อง ซึ่งก็จะพอๆ กับเกาหลีใต้ ที่มีประมาณ 100 ห้อง และปรับปรุงกระบวนการรายงานแบบออนไลน์ทำให้สามารถรายงานผลได้สอดคล้องยิ่งขึ้นใน 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น