เผยเรื่องราวของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หลังรักษาคนไข้ที่ปกปิดข้อมูลการเดินทาง จนทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั้งโรงพยาบาลจนเกือบจะต้องปิดห้องฉุกเฉิน แนะทุก รพ.ติดประกาศหากปกปิดหรือให้ข้อมูลเท็จมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 500,000 บาท
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Somboon Patimaarak” ได้โพสต์ข้อความแชร์ประสบการณ์ความวุ่นวายของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจากการถูกผู้ป่วยปกปิดข้อมูลการเดินทางที่เพิ่งกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามารักษาอาการหอบ จนทำให้เจ้าหน้าที่หลายรายได้รับความลำบาก รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่สามารถเข้ารักษาได้ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 แม้สุดท้ายผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แต่การกระทำดังกล่าวได้สร้างความวุ่นวายให้กับหมอ พยาบาล และผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“ขออนุญาตเล่าเป็นอุทาหรณ์นะครับ สำหรับเรื่องปกปิดประวัติ Covid-19 เรื่องมีอยู่ว่า เวรบ่าย (คือ ช่วง 16.00-24.00 น.) มีคนไข้มีประวัติไข้ หอบ มาที่ รพ.โดยมีโรคประจำตัวเป็นธาลัสซีเมีย มาที่ ER โดยเบื้องต้นพยาบาลคัดกรองหน้าห้อง ได้ซักประวัติตามแนวทางทุกอย่าง รวมถึงโควิดด้วย แต่คนไข้ให้การปฏิเสธการเดินทาง หรือสัมผัสกลุ่มเสี่ยงใดๆ จากนั้น คนไข้ก็ได้เข้ามานอนห้องฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์ตรวจ และแพทย์ก็ได้ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อให้การรักษา คนไข้ยังยืนยันปฏิเสธเกี่ยวกับภาวะเสี่ยงโควิดทุกอย่าง จากนั้นแพทย์ได้สั่งเจาะเลือดและตรวจเอกซเรย์ปอด (ซึ่งแน่นอน คนที่สัมผัสผู้ป่วย เพิ่มมีทั้ง พยาบาลคัดกรอง แพทย์ พยาบาลเจาะเลือด และเจ้าหน้าที่ห้องเอกซเรย์)
รอผลตรวจทุกอย่าง ประมาณ 2-3 ชม. ระหว่างนี้ คนไข้เดินลุกไปมาจากเตียงตลอด โชคดีที่ไม่ไอ จาม พอผลตรวจออก สรุปว่าเป็น ปอดอักเสบ แพทย์จึงสั่งการรักษาให้นอน รพ. ตามแนวทาง โดยเข้าไปที่ตึกอายุรกรรม (คนที่สัมผัสคนไข้เพิ่มคือ คนไข้ที่อยู่ใกล้ๆ รอบๆ เตียง เจ้าหน้าที่เวรเปล และแพทย์ พยาบาลทุกคนที่ตึกอายุรกรรม) หลังจากนั้น ก็มีโทรศัพท์มาจากตึก อายุรกรรม โทรมาแจ้งว่า สอบถามคนไข้เเล้ว ยอมรับว่าเดินทางมาจากญี่ปุ่น เมื่อ 4 วันก่อน สงสัยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เลยจะย้ายผู้ป่วย ไปห้องความดันลบด่วนเลย คราวนี้เป็นไงครับ วงแตก ตอนนั้นเวลาเกือบเที่ยงคืนแล้ว
เริ่มจาก ที่ ER ตอนนี้ทีมเวรบ่ายอาจารย์แพทย์สั่งให้
1) เคลียร์คนไข้ทุกคน กลับบ้าน คนไข้ที่เหลือเกือบทั้งหมด สมัครใจขอกลับบ้าน ทาง รพ.ขอเบอร์โทรไว้ จะแจ้งผล ส่งโทรศัพท์
2) Decontamination หรือล้างห้อง ER ทั้งหมด เพื่อให้เวรดึกทำงานต่อได้
3) แจ้งแพทย์ พยาบาล เวรบ่ายทุกคน ให้รอผลตรวจโควิด ซึ่งที่ รพ.ตรวจเองได้แล้ว แต่ต้องตามเจ้าหน้าที่ห้องแล็บ มาตรวจนอกเวลาให้ ด่วนเลย ซึ่งผลประมาณ 4 ชม. ดังนั้น ต้องกักตัวแพทย์ พยาบาล ที่ทำงานเวรบ่ายทั้งหมด เกือบสามสิบชีวิต รอผลตรวจก่อน ให้ลงเวรไม่ได้ จนถึงตีสาม 3.00 น.
ถ้า positive (บวก) ให้กักตัวเอง 14 วัน ถ้า Negative (ลบ) ให้มาทำงานต่อตามปกติ
4) เวรดึกวันนี้ X ray เหลือ จนท.คนเดียว เพราะ จนท. สัมผัสคนไข้ ต้องลงเวรและ รอผล จนท.เหลือคนเดียวทั้ง รพ. ให้เอกซเรย์เฉพาะผู้ป่วย FAST Tract เร่งด่วน
ถึงตอนนี้ นึกภาพออกไหมครับ ว่าทุกคนต้องอยู่ยังไง เวรบ่ายก็กลับบ้านไม่ได้ เวรดึกก็เข้าทำงานไม่ได้ นี่ไม่รวมถึงแพทย์พยาบาลที่ตึกอายุรกรรมอีกไม่รู้กี่ชีวิตนะครับ ตอนนี้เดือดร้อนไปถึง รพ. ด้วย (ขอโทษมา ณ โอกาสนี้ครับ) เนื่องจาก รพ. เรา ไม่สามารถตรวจคนไข้ได้ และถ้ามีโรงพยาบาลไหนส่งตัวมาจากต่างอำเภอ ต้องส่งเข้าที่ รพ. แทนทั้งหมด จนกว่าผลตรวจจะออก)
เป็นไงบ้างครับ เดือดร้อนกันไปหมดเลย
พอผลตรวจออก เป็นลบ ทุกคนโล่งอกมาก สามารถทำงานต่อได้ แต่ถ้าสมมติผลเลือดเป็นบวก ลองคิดดูสิครับ ว่า ถ้าต้องปิดห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.จังหวัดที่ติดอันดับมีคนไข้มากที่สุด รพ.หนึ่งในประเทศ จะเป็นยังไง จะมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ อีกกี่ร้อยคนที่ต้องหยุดงานเพื่อถูกกักตัว เพียงเพราะปกปิดประวัติ เพราะกลัวสังคมรังเกียจ มันไม่สนุกนะครับ ผมเชื่อว่า ทุกโรงพยาบาลคงประสบปัญหาแบบนี้ ไม่มากก็น้อยครับ
หลังจากเหตุการณ์นี้ ทีมเราได้ประชุมด่วน และปรึกษานิติกร เห็นควรว่า เราจะติดป้ายประกาศ เกี่ยวกับการปกปิดหรือให้ข้อมูลเท็จ ถ้ามีความเสี่ยงทำให้เจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา ฐานให้ข้อมูลเท็จแก่เจ้าพนักงาน และมีความผิดพระราชบัญญัติโรคติดต่อร้ายแรง พ.ศ. 2558 มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 500,000 บาท ด้วยนะครับ"