ผู้เชี่ยวชาญคาด “แมทธิว” บอกป่วยโควิด-19 อาจเป็นการตรวจแค่แล็บเดียว จึงยังไม่ได้ยืนยันเคส ระบุ รพ.เอกชน มักตรวจแค่แล็บเดียว หากเป็นบวกจะส่งตรวจยืนยันเพิ่มอีกแล็บกับ รพ.ปลายทางที่ส่งต่อ ชี้ การตรวจอีกแล็บก็ต้องใช้เวลา หากตรงกันถึงยืนยันเคส จะยืนยันด้วยแล็บเดียวไม่ได้ แว่วส่งมาตรวจสถาบันบำราศฯ แล้ว
วันนี้ (13 มี.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณี แมทธิว ดีน ดารานักแสดงออกมาโพสต์คลิปในอินสตาแกรม ว่า ป่วยโรคโควิด-19 ว่า ตนได้เห็นคลิปดังกล่าวแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางเจ้าพนักงานต้องมีการติดตามข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า ป่วยจริงหรือไม่ เพราะพิจารณาจากชุดที่สวมหน้าแล้ว ไม่ใช่ชุดของสถานพยาบาล หากป่วยก็ต้องได้รับการดูแลในสถานพยาบาล ส่วนเรื่องการโพสต์สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากตรวจแล้วไม่ได้ป่วยจริง อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะเท่ากับเป็นการให้ข้อมูลเท็จ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน และความปั่นป่วนในสังคม
นพ.โอภาส กล่าวว่า การตรวจสอบยืนยันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องมีการตรวจยืนยันในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ถึง 2 แห่งตามปกติ โดยปกติแล้วผู้ตรวจแล็บจะไม่ทราบว่า ตัวอย่างที่ส่งมาตรวจเป็นของใคร เพราะไม่ได้มีการติดชื่อ แต่จะเป็นรหัสของการตรวจ เป็นภาษาอังกฤษ และตามด้วยตัวเลข 7-8 หลัก ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังยืนยันจำนวนผู้ป่วยเท่าเดิม ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงาน
ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยพสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า จากคลิปดังกล่าวที่บอกว่าติดเชื้อโควิด-19 ตนไม่ทราบว่ามีการตรวจยืนยันเชื้อจากทั้ง 2 แล็บแล้วหรือไม่ เพราะปกติแล้วการตรวจยืนยันจะต้องตรวจ 2 แล็บ ยืนยันตรงกันว่า มีเชื้อ ซึ่งหากตรวจเจอเชื้อจริง รพ.ให้ผู้ป่วยกลับบ้านไม่ได้ ซึ่งจากในคลิปจะเห็นว่าสวมชุดธรรมดา ไม่ได้สวมชุด รพ. จึงทำให้เป็นที่สงสัยได้ เพราะหากติดเชื้อจริงก็ต้องทำการรักษาใน รพ. ไม่สามารถให้กลับบ้านได้ และต้องอยู่ในห้องแยกโรค แต่เท่าที่ฟังการรายงานข่าวก็พบว่า เป็นการไลฟ์ที่ รพ.แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะส่งตัวต่อไปที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็น รพ.เอกชน เพราะส่วนใหญ่กลุ่มศิลปินดาราคงไม่ได้เข้ามารับบริการ รพ.รัฐ
เมื่อถามว่า รพ.เอกชนส่วนใหญ่ส่งตรวจแล็บ 2 ครั้งเลยหรือไม่ นพ.ทวี กล่าวว่า รพ.เอกชนส่วนใหญ่ตรวจแล็บเพียงครั้งเดียว ซึ่งหากผลเป็นลบก็จบไป แต่หากยังคิดว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยง เช่น ยังมีไข้ก็อาจเก็บไว้ดูอาการก่อน เพื่อตรวจซ้ำ หรืออย่างกรณีคนกลับจากญี่ปุ่นที่แขนหักแล้วมา รพ.เอกชนเพื่อผ่าตัด ก็ตรวจออกมาเป็นลบ แต่ยังสงสัยเพราะมาจากพื้นที่เสี่ยง ไป รพ.ในญี่ปุ่นมาด้วย ก็มีการตรวจติดตามต่อ และเมื่อมีไข้ ทางเดินหายใจก็ตรวจซ้ำ จนกระทั่งเจอเชื้อ เป็นต้น แต่หากตรวจออกมาเป็นบวก ก็ต้องมีการตรวจยืนยันอีกที่ และอาจมีการส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.รัฐ เพื่อดูแล เช่น ส่งต่อมาที่สถาบันบำราศฯ สถาบันบำราศฯ ก็ต้องมีการตรวจยืนยันอีกครั้งว่าผลตรงกันหรือไม่ หากตรงกันก็เท่ากับ 2 แล็บตรงกัน คือ ติดเชื้อจริง แต่การตรวจก็ต้องใช้เวลา อาจต้องข้ามวัน ดังนั้น ทำไมถึงเวลามีเคสแบบนี้ถึงต้องใช้เวลาในการยืนยัน ขณะที่คนมักถามว่าทำไมไม่ยืนยันเคสไปเลย ซึ่งเราต้องตรวจยืนยันให้แน่ใจก่อน หากผลออกมาเป็นบวกเหมือนกันเราก็จะยืนยันเคส แต่หากผลออกมาเป็นลบก็จะยิ่งยุ่ง เพราะผลออกมาไม่ตรงกัน ก็ต้องมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจใหม่ และต้องส่ง 2 ที่ ก็ทำให้ต้องใช้เวลาออกไปอีก ไม่ใช่เรื่องของการปิดบังหรืออะไร
นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับการที่ รพ.เอกชน จะส่งผู้ป่วยต่อไป รพ.รัฐ จะมีหลักเกณฑืที่เราวางไว้อยู่แล้วว่า ห้ามส่งทางรถสาธารณะเด็ดขาด เช่น ใส่แท็กซี่แล้วไปเอง เราห้ามเลย ซึ่งการที่ รพ.เอกชน ไม่รับดูต่อไม่เป็นไร แต่ขอให้ใช้รถพยาบาลส่งมา หรือคลินิกเล็กๆ ไม่มีรถ ก็ โทร. 1669 ก็จะจัดรถไปรับ ส่วนบุคลากรก็ต้องป้องกันตนเอง เพราะแม้จะตรวจว่าเป็นบวกแค่แล็บเดียวก็ต้องป้องกัน และไปตรวจคอนเฟิร์มที่ รพ.ปลายทาง