xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการคุมโควิด “กทม.” ยังอ่อน วอนรัฐ-เอกชนหนุนทำงานที่บ้าน คนป่วยกลับจากนอกยังสูง ขอร่วมมือกักตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ชี้ ผู้ป่วยโควิดดับ เกือบครึ่งไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง บางส่วนมารักษาช้า ย้ำ คนป่วยกลับจากต่างประเทศยังค่อนข้างสูง ต้องขอความร่วมมือกลับมาแล้วกักตัว เผย ปล่อยให้กลับประเทศในแต่ละวันมากแค่ไหน ขึ้นกับจำนวนห้องที่ใช้กักตัว หากมีมากก็ให้ทยอยเดินทางเข้ามาได้มาก รับมาตรการใน กทม.ยังอ่อนกว่าหลายจังหวัด แค่คุมการรวมตัวตอนกลางคืน แต่กลางวันยังไม่ดีเท่าที่ควร เหตุคนยังออกจากบ้าน วอนรัฐ-เอกชน ช่วยกันหนุนทำงานที่บ้าน ฝากทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะพ้นวิกฤตเร็วหรือช้า คนไทยเป็นผู้ตอบ 

วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยใหม่ 102 ราย พบว่า ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมาจากกลุ่มที่เฝ้าระวังอยู่แล้ว คือ ผู้สัมผัส ซึ่งเราติดตามอยู๋แล้ว หากมีอาการก็รับการรักษาเลย ขณะเดียวกัน ยังเจอผู้ป่วยใหม่อีกครึ่งหนึ่ง โดยเป็นการกลับจากต่างประเทศ 14 คน ถือว่าตัวเลขยังค่อนข้างสูง ต้องช่วยกันในการดูแล ดังนั้น คนกลับจากต่างประเทศเราจึงขอความร่วมมือว่าจะต้องกักกันเฝ้าระวังอาการใน 14 วัน ถ้าไม่กักกัน จะมีผู้สัมผัสอีกจำนวนหนึ่ง หากกักกันก็จะสามารถตัดวงจรได้เลย คนเดินทางเข้าประเทศมาเกิดป่วยจะมีผู้สัมผัสน้อยมากหริอไม่มีเลย ที่เหลือเป็นการติดเชื้อในประเทศ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า  ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในไทยขณะนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงประมาณครึ่งหนึ่ง คือ เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สำหรับแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ได้ลดต่ำกว่าร้อย แต่ตอนนี้กลับมา 102 ราย ภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มกราฟผู้ป่วยสะสมเริ่มคงที่และลดลง แต่ก็ยังไม่พอใจ เราต้องการให้ผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ เป็นหลักสิบ หลักหน่วย และเป็นศูนย์คน ถ้าได้รับความร่วมมือเชื่อว่าจะสามารถทำสิ่งที่พูดได้ ส่วนคำถามที่ถามบ่อยๆ ว่า จะพ้นวิกฤตเมื่อไร คำถามนี้ต้องให้คนไทยตอบ บุคลากรทางการแพทย์ตอบอย่างเดียวไม่ได้ การจะพ้นวิกฤตเร็ว ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทุกคนในประเทศและคนที่คิดจะกลับสู่ไทย เพราะเราอยู่ทีมเดียวกัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มีการถามมาเยอะมากว่า โรคโรควิด-19 ดูไม่ค่อยรุนแรง โดย 80% ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง ทำไมเราต้องวิตกกังวล นั่นเพราะโรคนี้เผลอไม่ได้ ระบาดได้เร็ว คนไข้ 1 คนมีโอกาสแพร่เชื้อได้มากกว่า 2 คน ถ้าไม่ควบคุมจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก สัดส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงก็มากตามไปด้วย ถ้าเกิดเกินระบบการแพทย์รับมือได้ก็จะลำบาก ดังนั้น ต้องชะลอการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ต่ำกว่าศุกยภาพระบบสาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพการดูแลคนไข้หนักมากสุดเท่าที่จะทำได้ การแก้ปัญหาในขณะนี้เป็นลักษณะของทุกหน่วยงานภาครัฐมาร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็ต้องมาร่วมด้วย เพราะภาครัฐเข้าไปจัดการไม่ได้ เช่น พนักงานบริษัทเอกชนทำงานกับบ้าน ก็ต้องขอความร่วมมือ โดยเป้าหมายแก้ปัญหา คือ 1. ป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าไทยและยับยั้งการระบาดภายในประเทศ 2. ทำให้ประชาชนไทยปลอดจากโรคนี้ และ 3. ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ

“ส่วนของการป้องกันสกัดกั้นเชื้อ มาตรการจะเริ่มจากเบาไปหนัก จัดการตามความเสี่ยง พอการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น เรามีผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศจากวันละคนสองคน เป็นวัน 10-20 คน การลดความเสี่ยงต้องเข้มขึ้นตามลำดับ จากเดิมมีใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองกระทรวงการต่างประเทศ มีประกันสุขภาพ 1 แสนเหรียญสหรัฐฯ มาถึงจุดหนึ่งเรามีการกักตัวทั้งในพื้นที่จังหวัด และในพื้นที่รัฐจัดให้เพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นการงดให้เดินทางเข้าประเทศชั่วคราว ส่วนการสกัดกั้นยับยั้งเชื้อ ต้องใช้มาตรการทั้งสาธารณสุข คือ ค้นหาและแยกผู้ป่วยออกมาให้เร็วและรักษาอย่างเหมาะสม ก็ไม่ไปแพร่โรค ค้นหาผู้สัมผัสให้ครบถ้วน ติดตาม 14 วัน ถ้ามีอาการขึ้นก็จะไม่แพร่โรค คือ การตัดวงจรแพร่ระบาด และต้องควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม เช่น เพิ่มระยะห่างทางสังคม” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ส่วนประชาชนป้องกันตัวเองได้อย่างไร คือ รับฟังข่าวสารอย่างเหมาะสมต่อเนื่อง อย่าไปฟังข่าวสารที่ทำให้จิตตก วิตกกังวล เครียด จนปฏิบัติตัวไม่ถูก เอาข่าวสารที่บอกความเสี่ยงและวิธีจัดการความเสี่ยงก็เพียงพอ แล้วมาเอาประยุกต์ใช้ในชีวิตอย่างมีสติ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป ลดและหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้อื่น คนไอจาม หรือใส่หน้ากากผ้า ซึ่งทั่วโลกเริ่มแนะนำอย่างชัดเจน แสดงว่า เราเป็นผู้นำเรื่องนี้ ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงเอามือโดนใบหน้า กินร้อนช้อนกลางส่วนตัว ถ้าเริ่มป่วย เรามีคนเป็นหวัดเยอะมาก ให้ตรวจทุกคนจะยากลำบากมาก และเป็นการตรวจโดยที่โอกาสเจอไม่สูงมาก เรายังตรวจผู้ป่วยและมีประวัติเสี่ยง ฉะนั้น คนป่วยและมีประวัติเสี่ยงควรรีบไปพบแพทย์ และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อขณะที่มีอาการ ดังนั้น ถ้าเรายังไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ และอาการยังเบาๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว คำแนะนำคือหยุดพักก่อนและหลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสผู้อื่น เมื่อมั่นใจสงสัยจะใช่อยากไปพบแพทย์ ให้ใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไป ต้องคิดว่าเราจะไม่แพร่ให้คนอื่นแล้ว 

“ส่วนเรื่องการวัดไข้ในองค์กรเพียงพอหรือไม่ จริงๆ แล้วช่วยได้เยอะ เพราะผู้ป่วยในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีอาการไข้ 89% ถ้าในเด็กจะมีไข้ไม่ถึงครึ่ง จึงต้องใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ในระดับองค์กร คือ ควรสนับสนุนให้ใช้หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ หากมีไข้ไอให้พักกับบ้าน ทุกหน่วยงานรัฐ เอกชน ควรสนับสนุนมาตรการพวกนี้เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังออกมาตรการต่างๆ ได้ประเมินสถานการณ์หรือไม่ว่าจะส่งสัญญาณในทางที่ดี นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โรคนี้ระยะฟักตัว 5 วันเฉลี่ย ตัวเลขที่เราใช้ คือ 7 วัน เวลาเราลงมาตรการแต่ละอย่าง ผลกว่าจะออกก็ 7 วัน เช่น เริ่มปิด กทม. ไม่ได้แปลว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลงพรุ่งนี้เลย แต่ต้อง 7 วัน หรือ 14 วัน ที่จะค่อยๆ ลดลง มาตรการที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นและเข้มข้นขึ้นนั้น ตอนนี้ใน กทม.มาตรการยังถือว่าอ่อนกว่าหลายจังหวัด อย่างวันก่อนหลายจังหวัดประกาศเพื่อกระตุ้นไม่ให้คนออกจากบ้านเลย และเป็นมาตรการภาคบังคับ ฉะนั้น แต่ละพื้นที่มีมาตรการความเข้มข้นต่างกัน ในพื้นที่ความเข้มข้นสูง ก็คาดเดาได้ว่า 5-7 วันจะได้ผลหรือไม่ ทั้งนี้ ตัวเลขครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยรายใหม่มาจาก กทม.และปริมณฑล ตัวเลขที่ลดลงในระยะหลังมาจาก 2 ฝั่ง คือ ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด ลดลงในลักษณะที่ค่อนข้างช้าอยู่ จาก 130 120 มาเหลือ 100 นิดๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีมาตรการใหม่ออกมาก็ต้องดูว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่อีกส่วนหนึ่งคือ มาตรการเคอร์ฟิว ปิดร้านอาหารเป็นการเฉพาะการรวมตัวตอนกลางคืน แต่การรวมตัวตอนกลางวัน คนยังรู้สึกไม่ไปไกลเท่าที่ควร ทั้งการทำงานบ้าน ฝั่งรัฐ และเอกชน รถน้อยลงบนถนนก็จริง แต่ยังไม่น้อยอย่างที่อยากจะเห็น ต้องย้ำทุกกรม กระทรวง บริษัทต่างๆ ที่สามารถสนับสนุนคนทำงานจากบ้านได้ ต้องให้มากกว่าเดิม หากเหลื่อมเวลาทำงานได้ ควรเหลื่อมตั้งแต่ 6 โมงถึงเที่ยงในเวลาเข้างาน เพื่อลดความหนาแน่นของรถเมล์ รถตู้ รถไฟฟ้า ให้โปร่งที่สุดในช่วงกลางวันเท่าที่จะทำได้ 

ถามถึงการเสียชีวิตในกลุ่มที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กลุ่มหนุ่มสาวที่เสียชีวิต คือ ถ้าอายุ 10-40 ปี อัตราเสียชีวิตอยู่ระดับ 0.2-0.4%  ส่วนอายุ 50-59 ปี ก็จะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย และจะสูงเรื่อยๆ ในกลุ่มพวกนี้นอกจากโรคประจำตัวแล้ว เรายังไม่ทราบปัจจัยอื่นๆ เพราะยังเป็นโรคใหม่ มีเรื่องต้องเรียนรู้อีกเยอะ อย่างแนวทางการรักษาก็ปรับมาหลายรอบ ยาบางตัวที่เคยใช้ก็มีผลวิจัยชัดเจนว่า ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างก็ต้องตามดูกันไป ตัวเลขที่บอกว่ากลุ่มเสียชีวิตนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง อีกครึ่งไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ตรงนี้ต้องดูให้ดี เพราะว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ของเราอยู่ช่วงอายุ 20-40 ปี หรือคนไข้ 100 คน กว่าครึ่งเป็นคนอายุน้อย ไม่มีประวัติเสี่ยงใด พอความเสี่ยงต่ำ แต่มีจำนวนผู้ป่วยเยอะ ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้มากเหมือนกัน ขณะที่กลุ่มเสี่ยงสูงมีจำนวนป่วยน้อยกว่า แต่จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณนี้ในเชิงระบาดวิทยาก็อธิบายได้ ดีที่สุดคือไม่ติดเชื้อ รักษาให้ตัวเองปลอดภัย อย่าเอาตัวเองไปเสี่ยง คือ อย่าออกจากบ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คนหนุ่มสาวทำไมเสียชีวิต พบว่า ส่วนหนึ่งเยอะพอสมควร 20-30% เพราะว่ามาช้า วันก่อนมี รพ.แห่งหนึ่งรับคนไข้อายุประมาณ 50 ปี ไม่ถือว่าเยอะ แต่มาถึงห้องฉุกเฉิน ก็ต้องมาปั๊มกัน แล้วมาเจอทีหลังว่าเป็นโควิด-19 คือ มาตอนหนักแล้ว เราก็เป็นห่วง ถ้าช่วงนี้ประชาชนมีอาการและสงสัยตัวเอง ให้รีบไปตรวจ จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้ส่วนหนึ่ง

เมื่อถามถึงการชะลอการเข้าประเทศ มีการประเมินหรือไม่ว่า แต่ละวันควรปล่อยให้เข้ามาประมาณเท่าไร ถึงจะเพียงพอมาตรการการกักตัวในที่รัฐกำหนด นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตรงนี้เราสามารถขอความร่วมมือโรงแรมในการเข้ามาช่วยกันได้ เพราะขณะนี้โรงแรมก็ไม่มีคนพัก ถ้าเรามีโรงแรมที่สนใจเข้ามาสนับสนุนงานพวกนี้ได้ ประเด็นเรื่องของจำนวนคนเข้าประเทศก็จะประเมินได้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนห้องว่ามีมากน้อยเท่าไร ตอนนี้เราก็ได้ห้องมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีกี่ห้อง สมมติว่า เราต้องกักตัว 14 วัน ถ้าเรามี 14,000 ห้อง ก็จะเข้ามาได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน แต่ถ้าอยากได้เข้ามามากกว่านั้นก็ต้องมีห้องมากกว่านั้น




กำลังโหลดความคิดเห็น