xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยโควิดเพิ่ม 102 คน ตายเพิ่ม 3 คน อัตราตายอยู่ที่ 0.97% พบ 50% มีเบาหวานร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป่วยโควิดรายใหม่กลับมาเพิ่มอีก เป็น 102 ราย ตายเพิ่ม 3 ราย กลุ่มใกล้ชิดผู้ป่วยเก่ายังพบมาก คนไทยกลับจากต่างประเทศป่วย 13 ราย สรุปป่วยสะสม 2,169 ราย ตายรวม 23 ราย รักษาหายรวม 674 ราย พบอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.97% ผู้ชายตายมากกว่าหญิง เฉลี่ยอายุ 58.8 ปี ส่วนใหญ่มีโรคเบาหวานร่วม 50% ขณะที่ยิ่งสูงอายุอัตราป่วยตายยิ่งสูง แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศ กทม.ลดลง ต่างจังหวัด คงที่ การติดเชื้อจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากยุโรป



วันนี้ (5 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 102 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รักษาหายเพิ่ม 62 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 2,169 ราย รักษาหายรวม 674 ราย เสียชีวิตรวม 23 ราย โดยรายที่เสียชีวิต ได้แก่ 1. ชายไทย 46 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงไทยวันที่ 22 มี.ค. เข้ารับการรักษาวันที่ 25 มี.ค. มีไข้ 38.9 องศา เซลเซียส มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก เสียชีวิตวันที่ 3 เม.ย.

2. ชายสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 82 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ประวัติเสี่ยง คือ 2 สัปดาห์ก่อนไปร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.หัวหิน และร่วมงานเลี้ยงบาร์ร้านอาหารแถวสุขุมวิท กทม. วันที่ 29 มี.ค. มีไข้  วันที่ 31 มี.ค. เข้ามารับรักษา รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แรกรับมีไข้ 39.2 องศาเซลเซียส ความดันโลหิต 181/113 หายใจเหนื่อยหอบ ชีพจร 100 ครั้งต่อนาที หายใจเร็วมาก 24 ครั้ง แพทย์วินิจฉัยเป็นปอดบวม มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ส่งรักษาต่อ รพ.เอกชน ที่ จ.เพชรบุรี วันที่ 1 เม.ย. แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจ และวันที่ 2 เม.ย. เสียชีวิตทางเดินหายใจล้มเหลว

3. ชายไทยอายุ 30 ปี ทำงานอาชีพก่อสร้าง ดื่มสุราประจำ วันที่ 19 มี.ค. เดินทางมาจากพัทลุงถึงสุรินทร์ วันที่ 20 มี.ค. ทำงานก่อสร้างที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีอาการไอ ไม่มีไข้ เสมหะเขียว อาเจียนเป็นเลือด มีประวัติน้ำหนักลด เหนื่อยหอบ ต่อมาวันที่ 2 เม.ย. มีไข้ ไอมากขึ้น เหนื่อยหอบ กู้ชีพจึงส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แรกรับพบว่าออกซิเจนในเลือดต่ำเหลือ 92 เอกซเรย์ปอดเข้าได้กับปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย.

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 102 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วย 48 ราย คือ กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย กลุ่มพิธีศาสนา 2 ราย กลุ่มใกล้ชิดผู้ป่วยรายเก่า 44 ราย เช่น กทม. 14 ราย ภูเก็ต 8 ราย สมุทรปราการ 6 ราย 2. ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 42 ราย คือ กลุ่มคนไทยกลับจากต่างประเทศ 13 ราย ส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ 7 ราย เป็นนักศึกษาและทำงานร้านอาการ  กลุ่มคนต่างชาติเข้ามา 1 ราย กลุ่มสัมผัสคนเดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย กลุ่มไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 5 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานที่แออัด ทำงานใกล้ชิดคนต่างชาติ 19 ราย ส่วนใหญ่คือภูเก็ต 10 ราย เป็นพนักงานนวด 5 ราย และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย และ 3. อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 12 ราย ถือว่ากลับมาเพิ่มขึ้นมาอีกหลังจากลดลงไปเหลือ 2 หลัก คือ 89 รายเมื่อวันก่อน ซึ่งเราจะต้องลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงอีก มิเช่นนั้นตัวเลขสะสมจะพุ่งทะยานขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่กระจายใน กทม. 34 ราย ภูเก็ต 24 ราย สมุทรปราการ 9 ราย ชลบุรี 8 ราย นนทบุรี 7 ราย เชียงใหม่ 3 ราย  เป็นต้น โดยผู้ป่วยสะสม 2,169 คน กระจาย 69 จังหวัด เป็น กทม. 1,011 ราย นนทบุรี 137 ราย ภูเก็ต 131 ราย สมุทรปราการ 108 ราย  ชลบุรี 68 ราย ยะลา 52 ราย เป็นต้น โดยจังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยลดลงเหลือ 11 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี และอ่างทอง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต พบว่า ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. - 4 เม.ย. 2563 ผู้ป่วย 2,067 ราย เสียชีวิต 20 ราย อัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.97% ผู้ชายป่วย 1,124 ราย เสียชีวิต 18 ราย อัตราป่วยตาย 1.6% ผู้หญิงป่วย 874 ราย เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยตาย 0.2% ค่ามัธยฐานอายุเสียชีวิต 58.5 ปี ต่ำสุด 35 ปี สูงสุด 84 ปี โรคประจำตัวที่พบ คือ เบาหวาน 50% ความดันโลหิตสูง 35% โรคไตเรื้อรัง 15% ไขมันในเลือดผิดปกติ 15% และอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง วัณโรค และมะเร็ง  โดยกลุ่มปัจจัยเสี่ยง มาจาก สนามมวย 5 ราย เดินทางต่างประเทศ 5 ราย (มาเลเซีย อังกฤษ ปากีสถาน) กลุ่มอาชีพเสี่ยง 5 ราย (ขับรถสาธารณะ ร้านอาหาร พนักงานขายของ) กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 2 ราย และกลุ่มสถานบันเทิง สถานพยาบาล สถานที่แออัด อย่างละ 1 ราย การเสียชีวิตอยู่ใน กทม.มากที่สุด

หากเทียบเป็นช่วงอายุ จะพบว่า อายุ 0-9 ปี ป่วย 29 ราย ไม่มีเสียชีวิต อายุ 10-19 ปี ป่วย 53 ราย ไม่มีเสียชีวิต อายุ 20-29 ปี ป่วย 504 ราย ไม่มีเสียชีวิต  อายุ 30-39 ราย ป่วย 487 ราย เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นอัตรา 0.2% อายุ 40-49 ปี ป่วย 368 ราย เสียชีวิต 2 ราย คิดเป็น 0.5%  อายุ 50-59 ปี  ป่วย 275 ราย เสียชีวิต 8 ราย คิดเป็น 2.9% อายุ 60-69 ปี ป่วย 149 ราย เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 0.7% อายุ 70-79 ปี ป่วย 57 ราย เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็น 10.5% และอายุ 80-89 ปี ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 2 ราย คิดเป็น 16.7% ยังไม่มีข้อมูล 133 ราย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือลดการสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุเพราะมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง 

“จากข้อมูลช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ใครกลับจากต่างประเทศแล้วคุมได้ไม่ดี เพียงแค่ 1-2 คน จะกระจายและเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้ ดังนั้น 158 คน ที่กลับมาแล้วเข้ารับการกักตัวต้องขอบคุณมาก จากตัวเลขจะเห็นว่าคนไทยกลับจากต่างประเทศป่วยถึง 249 คน แม้จะบอกว่าตัวเองแข็งแรงแล้ว วัดไข้แล้ว ได้ใบรับรองแพทย์แล้วจะเอาอะไรนักหนา แต่สิ่งนี้เป็นมติทางการแพทย์ยืนยันแม้จะกักตัวก่อนกลับมา 14 วัน ก็ต้องกลับมากักตัวอีก 14 วัน เพื่อความมั่นใจ แม้จะบอกว่าแข็งแรง แต่ก็มีผู้เสียชีวิตอายุ 35 ปี ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดกับท่านและครอบครัว เพราะการกลับมาแล้วจะเห็นว่ามีการกระจายตัวไปทั่วประเทศ สำหรับการติดเชื้อในประเทศ พบว่า กทม.มีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดค่อนข้างคงที่ ส่วนการติดเชื้อจากต่างประเทศ เป็นคนต่างชาติไม่เหิน 10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากยุโรป และคนไทยไม่เกิน 10-25 รายต่อวัน มาจากยุโรป ปากีสถาน และ อินโดนีเซีย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว






















กำลังโหลดความคิดเห็น