xs
xsm
sm
md
lg

โควิดทั่วโลกทะลุล้านราย ไทยป่วยเพิ่ม 103 ราย ตายอีก 4 ราย พร้อมกักตัว 3 กลุ่มกลับไทย สกัดแพร่เชื้อในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกทะลุล้านคนแล้ว ไทยป่วยเพิ่ม 103 ราย ตายเพิ่ม 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ยอดสะสมป่วย 1,978 ราย ตายรวม 19 ราย พบกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้ายังเพิ่มสูง เช่นเดียวกับผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ จึงต้องชะลอเดินทางเข้าไทย ชี้ กลุ่มกลับจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย นร. AFS จะต้องกักตัวในที่รัฐจัดให้ 100% ป้องกันติดสู่คนไทยในประเทศ เผย 15 จังหวัดไม่พบผู้ป่วย ระบุ “ภูเก็ต” ป่วย 88 ราย แต่อัตราป่วยต่อประชากรสูงสุดในประเทศ 



วันนี้ (3 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานช่วง 22.00-04.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.เป็นต้นไป ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกและกักตุนสินค้า เพราะยังซื้อของยามกลางวันตามปกติได้ และขอให้เว้นระยะห่างทางสังคม สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า มีผู้ป่วยแล้วทะลุ 1 ล้านคน เสียชีวิต 5.2 หมื่นคน โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 คือ 2.44 แสนราย อิตาลี 1.15 แสนราย  สเปน 1.12 แสนราย ส่วนเสียชีวิตเกิน 1 หมื่นราย คือ อิตาลี และ สเปน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 103 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รักษาหายเพิ่ม 76 ราย ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเป็น 1,978 ราย รักษาหาย 581 ราย และเสียชีวิตรวม 19 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้รักษาหายน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการรายงานเรียกข้อมูล ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์กรอกข้อมูลผ่านออนไลน์ ซึ่งกำลังมีการปรับระบบอยู่ นอกจากนี้ ใน กทม.ส่วนใหญ่รักษาใน รพ.เอกชน เป็นกำลังหลักในการรักษาผู้ป่วยจนหายดี จึงต้องเรียกข้อมูลชุดนี้จาก รพ.เอกชนเข้ามาด้วย จึงเชื่อว่าผู้ป่วยรักษาหายดีน่าจะมีมากกว่านี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 4 ราย ได้แก่ 1. ชายไทยอายุ 59 ปี เป็นพนักงานการรถไฟฯ ป่วยวันแรกวันที่ 16 มี.ค. มีอาการไข้ โดยวันที่ 21 มี.ค.มาพบแพทย์ รพ.บางปะกอก แล้วกลับไปทำงานโดยปกติ แสดงว่า การรักษาตอนนั้นอาการน้อยมาก แต่สักระยะหนึ่งอาการหนักขึ้น โดยวันที่ 31 มี.ค. เหนื่อยหอบมากขึ้น เข้ารักษาที่ ร.ร.แพทย์แห่งหนึ่ง พบว่าผลยืนยันและเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย.  2. ชายไทยอายุ 72 ปี ประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ คือ ลูกที่ไปดูมวยและป่วย โดยรักษาที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. รายนี้มีโรคประจำตัว คือ โรคไต เริ่มป่วยวันที่ 16 มี.ค. และเสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย.  3. ชายไทยอายุ 84 ปี ทำงานที่สนามมวยราชดำเนิน มีโรคไต ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ รักษา รพ.แห่งหนึ่ง กทม. เมื่อวันที่ 26 มี.ค. และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. และ 4. ชายไทยอายุ 84 ปี ไปสนามมวยราชดำเนิน และป่วยวันที่ 14 มี.ค. เข้ารักษาวันที่ 21 มี.ค. โดยมีไข้ 39.3 องศาเซลเซียส มีน้ำมูก ไอ ไป รพ.รัฐแห่งหนึ่งใน กทม. เสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. ทั้งนี้ 3 ใน 4 รายเป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น และมีโรคประจำตัว

“เดือนนี้เทศกาลสงกรานต์ ถ้าจะเป็นลูกกตัญญู คือ ไม่ควรเข้าใกล้พ่อแม่ผู้สูงอายุ เพราะมีความเสี่ยงสูงมาก ปีนี้หลายคนบอกว่า รดน้ำสงกรานต์ไม่ควรมี หรืออาจใช้แอลกอฮอล์เจลรดขอพรก็คงจะดี ไม่ไปเปลืองน้ำในหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม ที่ต้องเน้นย้ำ คือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี ที่เป็นกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมาก โดยเพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะมีการเดินทาง เคลื่อนย้าย พบปะสังสรรค์จำนวนมาก เป็นกลุ่มเสี่ยงทำให้แพร่กระจายของเชื้อ ต้องสื่อสารกลุ่มนี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 103 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยหรือสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า จำนวน 48 ราย ได้แก่ สนามมวย 1 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย กลุ่มกลับจากพิธีทางศาสนาอินโดนีเซีย 6 ราย และกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 39 ราย   2. ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 44 ราย  ได้แก่ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 7 ราย คนต่างชาติเดินทางเข้ามา 8 ราย สัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 4 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 13 ราย บุคลากรทางการแพทย์ 5 ราย และอื่นๆ 5 ราย และ 3. กลุ่มอยู่ระหว่งสอบสวนโรค จำนวน 11 ราย

“ที่นายกฯ สั่งให้ชะลอการเดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าสู่เมืองไทย เพราะผู้ป่วยกลุ่มคนไทยกลับจากต่างประเทศ คนต่างชาติมาจากต่างประเทศ คนอาชีพเสีย่งจำนวนยังไม่ลดลง นี่คือสาเหต อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ขออนุญาตกลับมาล่วงหน้าแล้วยังคงให้เดินทางเข้ามา ซึ่งมีกลุ่มกลับจากอินโดนีเซีย 100 คน วันที่ 6 เม.ย. กลับจากมาเลเซีย 83 คน และกลุ่มนักเรียน AFS จำนวนหนึ่งจากอเมริกา ซึ่งทั้งหมดต้องร่วมมืออยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ 100% เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงนำเชื้อมาสู่คนไทยภายในประเทศนี้ ขอบอกกับคนไทยในประเทศด้วยว่า เขาเป็นญาติลูกหลานเรา อย่ารังเกียจ เราต้องดูแล” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเล็กน้อย แต่ยังไม่น่าวางใจ โดย กทม.ที่ดูลดลงเมื่อวาน วันนี้กลับเพิ่มขึ้น ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ยังทรงตัว ส่วนยอดตัวเลขรวมตามกราฟ ยังไม่สามารถกดหัวลงได้ เพราะเพิ่มวันละ 100 กว่าราย จะต้องจัดการตรงนี้ให้โดยเร็ว ส่วนผู้ป่วยสะสมทั้งประเทศกระจายตัวไม่ต่างจากเมื่อวาน แต่ส่วนผู้ป่วยรายใหม่กระจายตัวลดลงเหลือ 14 จังหวัด ต้องขอบคุณพี่น้องทั่วประเทศ ส่วนที่ต้องให้กำลังใจและส่งใจช่วย คือ 15 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเลย คือ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พระนครศรีอยุธยา พังงา พิจิตร ระนอง ลำปาง สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และ อ่างทอง ขอให้ไม่พบผู้ป่วยอย่างนี้ตลอดไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาอัตราการป่วยของแต่ละจังหวัด พบว่า จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีอัตราการป่วยสูงสุด แม้จะมีผู้ป่วยแค่ 88 คน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแสนคน ถือว่ามีอัตราป่วยสูงที่สุด คือ 21.67 ต่อแสน  ส่วน กทม.ป่วย 896 ราย คิดเป็นอัตรา 15.78 ต่อแสนประชากร  นนทบุรี 109 ราย คิดเป็น 8.80 ต่อแสนประชากร ยะลา 42 คน อัตรา 7.93 ต่อแสนประชากร ทั้งนี้ จากการจำแนกตามปัจจัยเสี่ยงรายสัปดาห์ พบว่า กลุ่มเสี่ยงมากสุด คือ กลุ่มใกล้ชิดสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ซึ่งพุ่งทะยาน และคนไทยต่างประเทศ กลุ่มอาชีพเสี่ยงที่ไม่ลดลงเลย ตอนนี้ต้องช่วยกันจะได้ลดน้อยลง ผลักดันรายใหม่ให้ลดลง เพราะแมจะหลักร้อย แต่ 10 วันก็เป็นพันแล้ว สำหรับอัตราเสียชีวิตไทยอยู่อัตราที่ 0.96 ต่อผู้ติดเชื้อรายงาน 
























กำลังโหลดความคิดเห็น