“ต่อให้เอาเงินมาฟาดหัวหนูพันล้าน หนูก็ไม่เอา” น้องแบม นักศึกษาฝึกงานวัย 23 ประกาศจุดยืนของเธอด้วยน้ำเสียงฉะฉาน หลังจารึกประวัติศาสตร์ ลุกขึ้นมาเปิดโปง “ขบวนการโกงเงินคนจน” มูลค่า 6.9 ล้านบาท ที่ “ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” จ.ขอนแก่น จนขยายผลครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ล่าสุดพบศูนย์ที่ส่อทุจริตแล้ว 24 จังหวัด จากการตรวจสอบล็อตแรก 37 จังหวัด คาดมูลค่าหลาย 100 ล้านที่ถูกโกงไป และไม่ว่าจะต้องกลายเป็นศัตรูที่ถูกเพ่งเล็งจาก “อำนาจเงิน” และ “อำนาจยศ” มากขนาดไหน แต่เธอคนนี้ก็ขอสู้ต่อไป เพื่อกำจัด “ข้าราชการขี้โกง” ให้หมดไปจากแผ่นดิน!!
“ฮีโร่จำเป็น” ต่อต้านคนโกง ต่อสู้เพื่อคนจน!!
[น้องแบม ฮีโร่ที่ได้รับการเชิดชู]
มีคำสั่งจาก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เด้ง พวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ศูนย์อีก 3 คน ออกจากตำแหน่งในทันที หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการโกง “เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และไร้ที่พึ่ง” รวมมูลค่า 6.9 ล้านบาท
และมีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ย้าย พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ และ ณรงค์ คงคำ ปลัดและรองปลัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในทันที หลังขยายผลเปิดโปง “ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง” ทั่วประเทศ โดยตรวจสอบล็อตแรกใน 37 จังหวัด พบทุจริตถึง 24 จังหวัด คาดมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท และอาจทะลุ 1,000 ล้านบาท ถ้าตรวจครบทั้ง 77 จังหวัด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ผลการปราบทัพ “มาเฟียในเครื่องแบบ” ทั้งหมดนี้ จะมีต้นตอมาจาก “คนตัวเล็กๆ” เพียงคนเดียวที่ลุกขึ้นมาเปิดโปงขบวนการทุจริต จากนักศึกษาสาวเพียงคนเดียวที่ได้กลิ่นการโกงผ่าน “กองเอกสารต้องสงสัย” ซึ่งได้รับมอบหมายให้เขียนแทนลายมือชาวบ้าน ระหว่างฝึกงานอยู่ที่ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น
ถึงวินาทีนี้ ชื่อของ น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน ม.มหาสารคาม ได้ถูกจารึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เรียบร้อยแล้ว ในฐานะ “บุคคลต้นแบบ” ของสังคม และ “ฮีโร่” ของกลุ่มคนยากไร้ ทั้งกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ, กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ต้องการทุนประกอบอาชีพ และกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งควรได้รับเงินสงเคราะห์รายละ 1,000-3,000 บาท (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี) แต่กลับถูกทรยศ ด้วยน้ำมือผู้รับผิดชอบจัดสรรเงินสวัสดิการให้พวกเขาเอง
“อย่างน้อย สิ่งที่หนูเปิดโปงไป มันก็สามารถช่วยได้มากกว่า 2,000 คนที่หนูไปร้องเรียนอีกค่ะ ถือเป็นการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่และมหาศาลมาก ซึ่งหนูไม่คาดคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้น”
[นักศึกษาฝึกงานถูกสั่งให้กรอกข้อมูล ปลอมแปลงเอกสารเบิกเงิน]
นี่คือความรู้สึกของ “ฮีโร่ฝึกงาน” เจ้าของรางวัลเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ ถึง 7 รางวัลขณะนี้ ที่บอกกับผู้สัมภาษณ์เอาไว้ผ่านปลายสายด้วยน้ำเสียงซื่อๆ และเมื่อถามถึงคำว่า “ฮีโร่” ที่สังคมมอบให้ น้องแบมก็ได้แต่หัวเราะเขินๆ ตอบกลับมา ก่อนเปิดใจให้ฟังว่า ตอนดำเนินเรื่องครั้งแรก ไม่ได้หวังรางวัลหรือคำชมอะไร แค่อยากให้เกิดการตรวจสอบเรื่องที่ร้องเรียนไป แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้ เธอก็รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมาก ที่ได้ทำประโยชน์ใหักับสังคมและประเทศชาติ
“หนูรู้สึกดีนะคะ เพราะคำว่า “ฮีโร่” กว่าจะได้มา มันไม่ใช่ง่ายๆ เลย ฮีโร่ในความคิดของหนูก็คือ คนที่ช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ หรือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยที่ไม่หวังผลตอบแทน แต่หนูก็ไม่เคยคิดหรือมองว่าตัวเองจะเป็นฮีโร่ได้เลย เพราะว่าเราก็ไม่ใช่คนที่ดีอะไรมากมาย แต่ว่ามันก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราได้เป็นฮีโร่ในแบบของเรา โดยที่เราไม่เคยได้คาดหวังหรือคิดเอาไว้เลย
หนูแค่คิดว่า ในเมื่อเราเรียนมาด้านพัฒนาสังคม เราก็ต้องคิดถึงประชาชนเป็นหลัก ยิ่งเราได้เห็นชีวิตของคนที่เราได้ไปช่วยเหลือ ตอนไปลงพื้นที่สำรวจ มันยิ่งทำให้เราต้องคิดถึงเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลักค่ะ โดยเฉพาะคนที่ลำบากยากเข็ญตามต่างจังหวัด เขาได้รับความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายความช่วยเหลือเหล่านั้นกลับไปไม่ถึงเขา
ด้วยภาพทั้งหมดที่เคยเห็น รวมถึงจากที่คิดได้ มันก็ทำให้หนูมีแรงที่จะลุกขึ้นมาสู้เพื่อพวกเขา เพราะหนูอยากเห็นคนที่ยากลำบากได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ อย่างน้อยๆ ก็ในจังหวัดที่เราอยู่”
7 ส.ค.60 คือวันแรกในการฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ประจำบ้านเกิดของเธอเอง หลังทำงานเอกสารไปได้ประมาณ 1 อาทิตย์ น้องแบมก็ได้กลิ่นตุๆ ของขบวนการทุจริตในทันที จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมคนในเครื่องแบบราชการเหล่านี้ ถึงต้องให้เด็กฝึกงานอย่างพวกเธอ เขียนข้อมูลเท็จลงไปในเอกสารด้วย
“หนูเห็นความไม่โปร่งใสในการทำงานของพวกเขาค่ะ ก็คือมีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเขายังได้สำเนาบัตรประชาชนของชาวบ้านมา โดยที่ไม่รู้ว่าไม่เอามาจากไหน คือพอเขาโทร.คุยกันกับคนนอกคนนั้นเสร็จปุ๊บ ก็มีสำเนาบัตรส่งตอบกลับมาในไลน์ปั๊บ จากนั้นเขาก็ปริ๊นต์ข้อมูลออกมา แล้วเอามาให้หนูกับเพื่อนๆ กรอกเอกสาร แทนลายมือชาวบ้านค่ะ
ตอนโทร.คุยกัน เขาก็พูดเสียงดังมากด้วยค่ะ คนที่อยู่ทางนี้ก็พูดว่า “ขอหน่อยนะวันนี้ ให้เอาสำเนาบัตรมาให้ประมาณ 20 ชุด” แล้วก็นัดเวลาอีกกี่ชั่วโมง คือเขาจะออกคำสั่งแบบเร่งๆ แบบนี้ทุกวันเลยค่ะ แต่เขาก็ได้รับจากคนที่ส่งมาให้ทุกวันด้วยนะคะ วันละไม่ต่ำกว่า 20 แผ่น”
ขบวนการกรอกข้อมูลเท็จทั้งหมดเหล่านี้ เกมส์-ณัฏกานต์ หมื่นพล เจ้าหน้าที่ในศูนย์เอง ก็เคยถูกมอบหมายให้ทำแล้วเหมือนกัน แต่เมื่อรู้ว่าเข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร เขาก็เลือกปฏิเสธที่จะทำ และเมื่อน้องแบมเข้ามาปรึกษาเรื่องที่ต้องการเปิดโปง ทั้งคู่จึงจับมือกัน เพื่อทวงความยุติธรรมให้แก่คนยากไร้!!
นี่หรือ “อาจารย์” ไม่ช่วย ยัง(พลิกลิ้น)ซ้ำเติม!!
“อาจารย์ที่ปรึกษา” คือคนแรกที่ทั้งน้องแบมและพี่เกมส์ ตัดสินใจที่จะปรึกษา แต่ผลที่ได้กลับทำให้ช็อกยิ่งไปกว่าเดิม เพราะแทนที่จะได้รับคำปลอบประโลมหรือความช่วยเหลือ กลับถูกทรยศและซ้ำเติม เมื่อเรื่องถึงหู “อาจารย์หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา” เธอและเพื่อนๆ ก็ถูกบังคับให้กราบขอโทษเจ้าหน้าที่ศูนย์ และถูกหาว่าเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ”
“ครั้งแรกๆ ที่เข้าไปปรึกษา อาจารย์เขาก็เข้าข้างเราตลอด บอกว่าจะเคลียร์ให้ พรุ่งนี้ให้ไปเจอกันที่สำนักงาน แต่วันต่อมา เขากลับพลิกสถานการณ์ คือให้เราไปกราบขอขมาเจ้าหน้าที่ จากที่เขาเคยบอกเราว่า จะย้ายที่ฝึกงานให้จากกันด้วยดี แต่เขาก็ไม่ได้ทำตามที่เขาพูด
ตอนที่ต้องกราบก็รู้สึกอึดอัดมากเลยค่ะ น้ำตาคลอ แต่ถ้าเราไม่ทำ มันก็ไม่ได้ ก็จะกลายเป็นขัดคำสั่งอาจารย์อีก เราก็เลยต้องยอมที่จะอึดอัด ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด หนูรู้สึกเสียใจมากค่ะที่อาจารย์ไม่ยอมเชื่อเรา”
[ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน]
และเมื่อไม่เห็นหนทางว่าอาจารย์จะช่วยหนุนการเปิดโปงในครั้งนี้ น้องแบมจึงตัดสินใจรวบรวมหลักฐาน แล้วร้องเรียนไปที่ กระทรวงและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเมื่อเรื่องถึงหูอาจารย์หัวหน้าภาคคนเดิม น้องแบมก็โดนจัดหนักอีกเป็นครั้งที่ 2
“นอกจากอาจารย์จะไม่ช่วยเราแล้ว เขายังมากดดันเรา แล้วก็พยายามเค้นถามตลอดเลยค่ะว่า ใครเป็นคนไปร้องเรียน ป.ป.ท.” แต่ทางหน่วยงานขอให้เธอปิดเป็นความลับ น้องแบมจึงไม่สามารถบอกความจริงออกไปได้ แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์ก็รู้อยู่ดี
“เขารู้ว่ามีหนังสือส่งมาถึงหนูแค่คนเดียว แต่ไม่ได้ส่งไปให้เพื่อน เขาก็เลยเรียกประชุมแบบไม่เป็นทางการ คือให้หนูไปคุยด้วย แล้วเขาก็เค้นถามหนูว่าได้ไปร้องเรียนไหม หนูก็ปฏิเสธไปว่าไม่ได้ไปร้องเรียนค่ะ แล้วจู่ๆ เขาก็พูดลอยๆ ขึ้นมาว่า “ถ้าอยากเอาผิดเขา ทำไมไม่เรียนให้จบก่อนล่ะ ค่อยไปร้องเรียน” เหมือนเขามองว่าหนูทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย”
พอพูดเสร็จ อาจารย์คนนั้นก็เดินเข้ามาหาน้องแบม แล้วพูดว่า “ขอตีสักทีได้ไหม” จากนั้นก็เอามือมาฟาดที่หลัง 2 ที โดยที่เธอไม่ทันได้ตั้งตัว เสร็จแล้วอาจารย์ก็กลับไปนั่งที่เดิม ส่วนน้องแบมก็ได้แต่อึ้งอยู่อย่างนั้น พร้อมกับรับคำตำหนิต่อว่า เรื่องที่ทำให้ขบวนการโกงเงินถูกแฉไปจนถึง ป.ป.ท.
ล่าสุด ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงจากอาจารย์หัวหน้าภาคคนดังกล่าวแล้ว โดยถูกตั้งข้อสงสัยเอาไว้หลายประเด็นด้วยกัน หลักๆ คือเรื่องตกเป็นผู้ต้องสงสัย มีส่วนรู้เห็นกับการปลอมแปลงเอกสารเบิกเงิน, การใช้อำนาจโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิเรื่องการทำพัฒนานิพนธ์ โดยให้น้องแบมเปลี่ยนหัวข้อกลางครัน ซึ่งอาจส่งผลต่อระยะเวลาจบการศึกษา รวมถึงกรณีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายนิสิตด้วย
“หนูคิดว่าหน้าที่ของอาจารย์ คือการที่ปกป้องลูกศิษย์ค่ะ ซึ่งมันมีค่ามากกว่าการปกป้องชื่อเสียงของสถาบัน หรือชื่อเสียงของตัวเองอีก แต่ต้องหมายความว่าลูกศิษย์ต้องทำถูกต้องจริงๆ นะคะ แต่ถ้าลูกศิษย์ทำผิด ก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน
เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขนาดหนู หนูยังท้อเลย พยายามมาปรึกษาหาทางกับอาจารย์ เขาก็ไม่ช่วย หนูต้องลุยเอง ทำเอง แต่บางคนที่โดนแบบเดียวกันแล้วท้อ เขาอาจจะถอยเลยก็ได้ อาจจะไม่ลุกขึ้นสู้ต่อ ซึ่งมันจะเป็นผลเสียมาก เพราะจะทำให้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ
ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงเลยค่ะสำหรับหนู ในการที่จะเลือกปรึกษาใคร แต่สุดท้ายแล้ว หนูก็มองว่าหนูบริสุทธิ์ใจที่จะทำค่ะ เพราะที่หนูร้องเรียนเรื่องอาจารย์ไป หนูต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งที่หนูพูด สิ่งที่หนูปรึกษาอาจารย์ทุกอย่าง หนูไม่ได้ปั้นเรื่องขึ้นมา และจากการตรวจสอบก็พบแล้วว่า มีมูลความผิดจริง หนูไม่ใช่เด็กโกหก อย่างที่เจ้าหน้าที่เขาอ้างกับอาจารย์ จนอาจารย์เชื่ออย่างนั้น”
[เกมส์-ณัฏกานต์ หมื่นพล ผู้ร่วมอุดมการณ์ ปราบคนโกงชาติร่วมกับ น้องแบม]
เคยมีคำพูดที่ว่า “สิ่งเลวร้ายไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะคนชั่วเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนดีเห็นคนทำชั่ว แล้วเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลยด้วย” เมื่อถามความคิดเห็นของ “นักสู้จำเป็น” รายนี้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ น้องแบมจึงขอไม่ตอบเพียงแค่ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะมิติของมนุษย์เรามันซับซ้อนมากกว่านั้น
“คนเราเกิดมาร้อนพ่อพันแม่ ถูกปลูกฝังมาไม่เหมือนกัน บางคนถูกสอนให้เป็นคนอ่อนโยน ทำให้ประสบการณ์เขาอ่อนกว่าคนที่พ่อแม่สอนให้เข้มแข็ง ช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่จำความได้ การใช้ชีวิตและประสบการณ์ของแต่ละคนมันต่างกัน หนูเลยไม่ได้หวังว่าถ้าทุกคนมองเห็นเรื่องอะไรผิดๆ แล้วจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เสมอไป
แต่ขอแค่ให้ทุกคนมี “จิตสำนึก” ในการที่จะไม่เข้าไปร่วมในขบวนการเหล่านั้น คืออย่างน้อยถ้าไม่ลุกขึ้นมาต่อต้าน ก็ไม่ต้องเอาตัวเขาไปร่วมในขบวนการนั้นค่ะ เพราะนอกจากอนาคตของคุณจะดับแล้ว คุณยังจะเสียใจไปตลอดทั้งชีวิตด้วย”
เลวทุกทาง! คุกคามคนดี โกงเงินคนจน
“หลังจากเปิดโปงเรื่องนี้ออกไป ครอบครัวหนูก็ถูกคุกคามด้วยค่ะ เป็นช่วงแรกๆ ที่หนูออกสื่อเลย ประมาณช่วงเดือน ก.พ. มีรถแปลกๆ วิ่งผ่านไปมาที่บ้านของญาติ แล้วก็ชะลอ เสร็จแล้วก็ลดกระจกลงเพื่อถ่ายรูปหน้าบ้าน ซึ่งปกติไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน”
ฮีโร่วัย 23 เล่าถึงเหตุการณ์การถูกคุมคาม หลังเปิดโปงขบวนการทุจริตเงินคนยากไร้ออกไป จนกลายเป็นข่าวดังทั่วบ้านทั่วเมือง น้องแบมบอกว่าเธอเอกงก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมถึงได้มีรถตามไปที่นั่น ในเมื่อส่วนใหญ่เธอมักจะพักอยู่ที่ จ.มหาสารคาม มากกว่า เพราะต้องเรียนอยู่ที่นั่น ส่วนบ้านญาติก็มีแวะเวียนไปบางครั้งบางคราวเท่านั้น
แต่ถึงตอนนี้ ความหวาดหวั่นในใจที่น้องแบมมีก็ได้ลดลงไปมากแล้ว หลังจากที่ลุงตู่ส่งหน่วยทหารจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาช่วยคุ้มกันทั้งน้องแบมและครอบครัว รวมถึงญาติๆ ของเธอด้วย
[ความหนาของเอกสาร เท่ากับจำนวนคนจนที่ถูกโกงเงิน]
เมื่อถามว่าเธอรู้สึกอย่างไร กลัวบ้างไหมถ้าต่อไปสปอตไลต์ไม่ได้ส่องที่เธอแล้ว แล้วชีวิตจะตกไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายอีกครั้ง คนที่ถูกตามก็ได้แต่ตอบกลับมาอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอเองก็กลัวเหมือนกัน “แต่เราก็ต้องดำเนินชีวิตของเราต่อไป เพราะถ้าเรามัวแต่กลัว เราก็จะไม่สามารถทำอะไรได้”
และเพี่อไม่ให้มีใครตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธอ น้องแบมจึงเลือกที่จะไม่เอ่ยชื่อ “อาจารย์” ท่านหนึ่งที่คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาระหว่างดำเนินการร้องเรียนมาโดยตลอด โดยบอกแต่เพียงว่าเป็นอาจารย์ที่เคยสอนกฎหมายให้ตั้งแต่สมัยมัธยม “อาจารย์ให้คำปรึกษา คำแนะนำทุกอย่างเลยค่ะ แต่หนูขอไม่เอ่ยชื่อนะคะ เพราะว่าหนูกลัวท่านจะไม่ปลอดภัย เหมือนหนู”
บอกตามตรงว่าในฐานะนักศึกษาคนหนึ่ง เธอไม่เคยคิดจะสร้างศัตรูกับใครเลย เพียงแค่อยากร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใสที่ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น “ไม่คิดว่าการทุจริตจะลามไปแทบทุกศูนย์ขนาดนี้ คือตอนนี้ศูนย์ที่ถูกตรวจสอบว่าทุจริตมีอยู่ 24 แห่งแล้วค่ะ” ทำให้แม้แต่คนร้องเรียนเองก็รู้สึกช็อกไปเหมือนกัน
“ช็อกค่ะ (หัวเราะเบาๆ) เพราะเราร้องแค่ที่ศูนย์ขอนแก่นไงคะ ที่โกงไปเกือบๆ จะ 7 ล้าน เราไม่ได้ไปร้องที่อื่น แต่กลับได้ผลออกมาว่า มีหลายศูนย์ที่เป็นแบบเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่ได้รับเงิน บางคนก็ได้รับบ้าง แต่ไม่ครบ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงเหมือนกันค่ะ แต่หนูมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำ เขาไม่น่าทำกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แบบนี้
หนูเคยได้ยินคนพูด สังคมไทยทุกวันนี้ “รวยกระจุก จนกระจาย” และหนูก็คิดว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ 10 ปี ก็มีคนรวยกระจุกกันอยู่จำนวนแค่นั้น แต่กลับมีคนจนอยู่ท่วมกระเทศ พอเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นสภาวะที่ไม่ยุติธรรม”
ยิ่งครั้งนี้ คนที่โกงกินเงินของประชาชน คือ “ข้าราชการ” ยิ่งทำให้น้องแบมรู้สึกแย่ลงไปอีก เพราะคุณพ่อของเธอก็รับราชการเป็นทหาร เธอจึงคิดเสมอว่าข้าราชการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีคนนับหน้าถือตา แต่สิ่งที่ได้พบเจอในโลกความเป็นจริงกลับตาลปัตร
“โดยเฉพาะในฐานะ “ข้าราชการนักพัฒนา” ที่หนูคิดเสมอว่า เป็นบุคคลที่เสียสละ ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน ลงไปช่วยเหลือคนที่ยากไร้ แต่พอมาเจอเรามาเจอเหตุการณ์นี้ มันพลิกความรู้สึกเราไปคนละด้านเลย และมันก็ทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเอง จากกรณีนี้มาตลอดเลยว่า ทำไมถึงต้องมาเอาเปรียบ คนที่ไม่ได้มีเหมือนเรา ซึ่งหนูก็ยังหาคำตอบไม่ได้ด้วยว่ามันเป็นเพราะอะไร
เพราะเขาเป็นข้าราชการ เขาไม่สมควรที่จะทำแบบนี้ เพราะข้าราชการก็มีเงินเดือนของตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่ต้องการความช่วยเหลือ เขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เราจึงไม่ควรไปเอาเปรียบเขา ไม่ควรจะไปกินเงินในส่วนนี้ของเขา เพราะมันเป็นเงินที่ทางรัฐส่งมาเพื่อช่วยเหลือคนจนจริงๆ แม้ว่าเงินตรงนั้นจะสามารถทำให้เขาใช้จ่ายได้ไม่กี่วันก็ตาม แต่ถ้าอย่างน้อยเงินตรงนั้นก็น่าจะช่วยเหลือเขาได้ในห้วงเวลานึง”
จารึกประวัติศาสตร์!! มดล้มช้าง-ไม่ซีกงัดไม้ซุง
ฮีโร่ตัวจริง, คนจริง 2018, มดล้มช้าง, ไม้ซีกงัดไม้ซุง ฯลฯ... ใต้ข่าวและเรื่องราวที่เกี่ยวกับน้องแบม จะถูกประดับไปด้วยคำคอมเมนต์ในทำนองนี้เสมอๆ เมื่อถามเจ้าตัวเกี่ยวกับคำชมเชยหลากรูปแบบที่ชาวโซเชียลฯ มอบให้ เธอก็ได้แต่หัวเราะรับเบาๆ แล้วยอมรับว่า กรณีของเธอในครั้งนี้อาจจะเหมือน “ไม้ซีกงัดไม้ซุง” จริงๆ ก็ได้
“หนูก็คิดว่าหนูเป็นแค่ธรรมดาคนนึงค่ะ เป็นเหมือน “ไม้ซีก” ไม้นึง ซึ่งมันงัด “ไม้ซุง” ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะมันจะหัก นอกจากว่าจะเป็นไม้ซีกหลายๆ อันที่เอามารวมกัน จนทำให้มีพลังหรือน้ำหนักมากกว่าไม้ซุง ซึ่งเปรียบเสมือนเรื่องนี้ที่หนูไม่สามารถทำคนเดียวได้ ถ้าไม่มีทาง ป.ป.ท. และ คสช. เข้ามาร่วมด้วย”
พักหลังๆ มานี้ มีหลายกรณีที่ “คนตัวเล็ก” กล้าที่จะเข้าไปงัดข้อกับ “คนใหญ่คนโต” หรือคนที่มีอำนาจเงิน-อำนาจยศในรูปแบบต่างๆ แต่ก็มีบางเคสที่ดูเหมือนว่า “อำนาจเงิน” จะมีกองหนุนยศใหญ่และพร้อมจะคว้าชัย
ผู้สัมภาษณ์จึงขอให้ “ไม้ซีก” ท่อนหนึ่งอย่างเธอ ช่วยวิเคราะห์ให้หน่อยในฐานะหนึ่งในคนที่กำลังพยายามช่วยงัดอยู่ว่า มันจะเป็นไปได้แค่ไหน ที่คนตัวเล็กๆ จะสามารถเอาชนะอำนาจต่างๆ ได้
“หนูว่าเป็นไปได้นะ แต่อันดับแรก คนที่จะไปงัดก็ควรเชื่อมั่นในตัวเราเองก่อน ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไร และเมื่อเราเชื่อมั่นแล้ว ลงมือทำได้แล้ว พอเราลุยเสร็จแล้ว ก็จะมีแนวหลังเข้ามาสมทบเอง เป็นคนที่เห็นด้วยในอุดมการณ์เดียวกันกับเรา เมื่อมีหลายๆ หลังมารวมกัน เราก็จะสามารถลบล้างพลังอำนาจเหล่านั้นได้ แต่ในบางเรื่องนะคะ
หมายความว่า หนูไม่ได้มองว่าคนตัวเล็กๆ จะสามารถล้มล้างอำนาจได้ทุกเรื่องนะคะ อาจจะทำได้แค่บางเรื่อง อันนี้พูดกันตรงๆ แต่อย่างน้อยมันก็มีกรณีตัวอย่างให้เห็นว่ามีคนทำได้ และหนูก็หวังว่าจะเป็นอีกกรณีนึงจะทำให้เห็นเป็นตัวอย่างได้”
[ณรงค์ คงคำ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์]
ที่น่าเศร้าก็คือต่อให้ออกนโยบายมารณรงค์เรื่องการทำงานอย่างโปร่งใสแค่ไหน หรือต่อให้ภาครัฐจะมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดสักเพียงใด แต่สุดท้ายก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหา “การคอร์รัปชัน” ไปได้ เพราะ “ความอยากได้-อยากมี” ของคนเรา แก้ไขไม่ได้ด้วยตัวอักษรหรือนโยบาย แต่ต้องแก้ที่ “จิตสำนึก” ของแต่ละคน
“หนูคิดว่าการแก้ปัญหา “การคอร์รัปชัน” มันไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขที่ตัวนโยบายหรอกค่ะ แต่มันอยู่ที่ตัวบุคคลมากว่าว่าเขาพร้อมที่จะแก้ไขตัวเองหรือไม่ หรือเขาจะยอมให้อำนาจเงินเข้ามาครอบงำตัวเอง
หรือแม้กระทั่งเรื่องการปลูกฝังจากครอบครัว บางคนอาจเลี้ยงลูกด้วยเงิน ให้เป็น “คนรวยทรัพย์สิน” แต่บางคนก็เลี้ยงลูกด้วยความดี ให้เป็น “คนรวยน้ำใจ” ซึ่งมันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเข้มแข็งของจิตใจค่ะ ว่าเขาจะสามารถยืดหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นไหม
[พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์]
เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องคอร์รัปชันก็เลยขึ้นอยู่กับตัวบุคคลค่ะ ถ้าตัวเราไม่ทุจริต ไม่คดโกง ก็ไม่มีใครที่จะสามารถดึงตัวเราเข้าไปร่วมในขบวนการนั้นได้อย่างแน่นอน ขอให้ยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วเราจะไม่หลงไม่กับอำนาจเงินเลยค่ะ
และถ้าเราไม่อยากให้เยาวชนไทย โตไปเป็นคนโกงชาติบ้านเมือง ก็คงต้องปลูกฝังเรื่อง “ความซื่อสัตย์” ให้มากๆ เพราะถ้าเราซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และซื่อสัตย์ต่อคนอื่นด้วย ไม่ว่าเรื่องจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าเรื่องจะเลวร้ายแค่ไหน ไม่ว่าอำนาจเงินจะเข้ามาตรงส่วนไหนของจิตใจเรา ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ ไอ้อำนาจพวกนี้มันก็จะออกห่างจากเราได้ในที่สุดค่ะ”
ถ้าย้อนเวลากลับไป ในนาทีที่น้องแบมยังไม่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตในครั้งนี้ แล้วมีคนเสนอ “เงินก้อนโต” มาให้ เธอยังจะสามารถประคองความซื่อสัตย์ของตัวเองเอาไว้ได้อยู่ไหม? ผู้สัมภาษณ์โยนคำถามไปยังคนที่ยึดถือเรื่อง “ความซื่อสัตย์” เป็นคุณธรรมประจำใจ ก่อนจะได้รับคำตอบที่ฉะฉาน ตรงไปตรงมา กลับมาเป็นการตอบแทน
“หนูบอกได้เลยว่า ต่อให้เอาเงินมาฟาดหัวหนู “พันล้าน” หนูก็ไม่เอา!! เพราะว่าเงินมันไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรในชีวิตหนูขนาดนั้น ทุกวันนี้ หนูอยู่แค่นี้ หนูมีข้าวกิน เงินเดือนหนูได้เท่าไหร่ หนูก็แบ่งใช้ แบ่งเก็บ เท่านั้นก็จบแล้วค่ะ สำหรับหนู ไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า ขอแค่มีความสุขและความภาคภูมิใจในตัวเองก็พอแล้ว”
ตามฝัน “นักพัฒนา” แก้ปัญหาคนจน!! หนูตั้งเป้าหมายไว้ 2 เป้าค่ะ เป้าหมายแรกคือ ถ้าเรียนจบจะไปสมัครทหารเลย คือหนูคิดไว้ตั้งแต่ ม.ปลายแล้ว ว่าอยากทำงานอยู่ใน “หน่วยทหารพัฒนา” ประจำอยู่ในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และอาจจะมีลงไปช่วยเหลือตามพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย ส่วนเป้าหมายที่ 2 ที่คิดไว้ก็คือ ถ้าหนูไม่ได้ไปสอบทหาร หนูก็อยากไปสอบเป็น “นักพัฒนา” ค่ะ ไปทำหน้าที่ตามที่เราเรียนมาเลย ไปช่วยเหลือประชาชนให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ไม่ใช่เข้ามาทำให้แย่ลง อาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆ หนูได้เห็นความยากลำบากของคนรอบตัวเยอะมั้งคะ เลยทำให้อยากเป็นนักพัฒนา ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเองด้วย ทั้งคนแก่ที่เดินเร่ร่อนขอข้าวกิน, ขอทานที่อยู่ตามสะพานลอย, คนที่ไม่มีที่อยู่-คนไร้บ้าน ฯลฯ เราเห็นสิ่งเหล่านี้หมดทุกอย่าง จนกลับมาสะท้อนในตัวเองว่าเราอยากจะทำงานอะไร คือที่บ้านหนู คุณพ่อทำงานราชการ แต่มีเงินเดือนน้อย อยู่ได้แบบพอมีพอกิน ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน มันเลยทำให้เราคิดถึงเรื่องคุณค่าของเงินมาโดยตลอด บวกกับครอบครัวหนูที่จะใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบไม่ตามใจด้วยการซื้อของให้ ถ้าอยากได้อะไรเราต้องขวนขวาย หาเก็บเงินเอาเอง มันก็เลยสะท้อนให้เราเห็นเสมอว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มันมีค่ามาก กว่าจะได้มาคือมันยากลำบากในการหา ช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต เศรษฐกิจตกต่ำ ครอบครัวเราก็ต้องอยู่กันอย่างลำบากเหมือนกันค่ะ เนื่องจากค่าใช้จ่ายมันก็สูงขึ้น ถึงคุณกับแม่เขาจะไม่ยอมให้หนูลำบากก็จริง แต่เราก็มองเห็นค่ะว่าเขาทำงาน กว่าจะได้เงินเดือนมา มันลำบากขนาดไหน หนูก็ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สภาวะแบบนี้มันหลุดพ้นออกไป ยิ่งพอเห็นคนข้างถนน มันก็ยิ่งกระทบใจเราค่ะ ชอบคิดไปว่าทำไมถึงมีคนมานั่งขอทานแบบนี้ และอีกอย่าง เราก็ไม่กล้าคุยกับเขา ถึงแม้ว่าเราจะอยากช่วยเขา เพราะคนรอบข้างมักจะพูดตลอดว่า คนขอทานเป็นคนอันตรายนะ อย่าเข้าไปใกล้ แต่เราต้องการลบสิ่งที่ออกไป ต้องการพิสูจน์ การที่หนูมาเรียนตรงนี้ก็เพราะว่าเราอยากสัมผัส อยากพูดคุย อยากทำความเข้าใจในปัญหาของเขาด้วยค่ะ ปัญหาความยากจนที่หนูมองเห็น หนูคิดว่าส่วนใหญ่เป็นเพราะทางรัฐเข้ามาช่วยเหลือไม่ถึงค่ะ แต่ถึงยังไง หนูก็คิดว่าเขาควรจะได้รับความช่วยเหลือเพียงส่วนนึง อีกส่วนนึง เขาควรรู้จักช่วยเหลือตัวเองด้วย ไม่ใช่แค่รอขอความช่วยเหลือแค่เพียงอย่างเดียว หน้าที่ของนักพัฒนาจริงๆ ก็คือ เราจะไม่หาปลาให้เขาทุกวันค่ะ แต่เราจะสอนเขาหาปลา เพื่อที่เขาจะได้สามารถหาปลา หาอาหารได้ด้วยตัวเอง ให้สามารถดำรงชีวิตได้ในแต่ละวัน เรามีหน้าที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เขาในส่วนนึง และลองให้เขาได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้แก้ด้วตัวเองในส่วนนึงด้วยค่ะ |
“เด็กดื้อ” ที่ยึดถือคำว่า “ซื่อสัตย์” ก่อนที่จะออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ หนูปรึกษาพ่อแม่ก่อนทุกครั้งเลยค่ะ และเขาก็บอกว่าให้ “ทำเลย” เพราะเขามองว่าทำไมถึงทำกับคนจนได้ขนาดนี้ แล้วก็มีคำถามว่า ทำไมต้องเอานักศึกษาไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินตรงนี้ด้วย คือเขาไม่เห็นด้วยในเรื่องการโกงที่เกิดขึ้นเลยค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะสอนตลอดเลยเรื่อง “ความซื่อสัตย์” มีอยู่ครั้งนึง ตอนเด็กๆ ที่เราเคยไปหยิบกระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้มา แล้วก็มาถามแม่ว่า “อันนี้มันใช่ได้ไหม” แม่ก็ถามกลับมาว่า “แล้วมันเป็นของใคร” หนูก็ตอบว่าไม่รู้ เห็นมันตกเลยหยิบมา แม่ก็ด่าว่าทำไมต้องไปหยิบของคนอื่นมา ทำไมไม่เอาไปคืนเขา เป็นเด็กเป็นเล็กต้องรู้จักซื่อสัตย์ แม่จะสอนแบบนี้ตลอดค่ะ คำสอนของแม่ก็คือการด่าไปด้วย สอนไปด้วย (หัวเราะ) ให้รู้ว่าเราผิดและสำนึกผิด แล้วก็ให้เอาของไปคืน ต่อไปจะได้ไม่ต้องทำผิดแบบนี้อีก หรือเวลาที่แกเห็นใครทำเรื่องไม่ดี แกก็จะมาสอนเราตลอดเลยค่ะว่า “รู้ไหม ถ้าเราซื่อสัตย์ มันจะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ ตามมานะ” แม่จะพูดให้เราเก็บมาคิดตลอด เราก็คิดตาม แล้วก็จำคำนี้มาเก็บไว้ใช้ตลอดเลยค่ะ ส่วนคุณพ่อจะสอนเรื่องระเบียบวินัย เพราะคุณพ่อเป็นทหาร แกเลยจะสอนแบบเข้มงวดมากๆ บางทีก็มากไปหน่อย จนทำให้เราอึดอัด (หัวเราะเบาๆ) เพราะต้องอยู่ในกรอบทุกอย่าง จนบางทีก็แอบโดดเรียนไปก็มีนะ (หัวเราะ) เพราะหนูก็จะเป็นประเภทดื้อรั้นอยู่บ้างเหมือนกัน ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ หนูเป็นเด็กที่ค่อนข้างเกเรเลยแหละ เพราะเหมือนเราถูกสอนให้อยู่ในกรอบมากเกินไป ทำให้เราไม่รู้เรื่องราวภายนอกเลย มันเลยทำให้เราอยากหลุดออกไปจากกรอบ เลยมีเกเร มีดื้อบ้าง แต่เกเรมากที่สุดของหนูคือ โดดเรียน ไม่ทำงานส่ง แต่ก็มาสอบตามปกติ แต่สิ่งที่ภูมิใจในตัวเองก็คือ หนูเป็นคนที่ไม่ชอบเชื่อคนอื่นง่ายๆ แล้วก็ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ จะเป็นสิ่งที่เราละเว้นเลย จะงดเลยค่ะ คือถึงแม้จะมีบางทีหนูจะมีดื้อบ้าง รั้นบ้าง แต่เราก็ไม่เคยที่จะทำให้ท่านเสียใจ หรือไม่เคยทำตัวเสียคน |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Panida Yospanya", thairath.co.th, 77kaoded.com, workpointnews.com, prkhonkaen.com