xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” อึ้งคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย - เล็งถกทุกพรรคกำหนดวันเลือกตั้ง - ย้ำไม่ปกป้องคนโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ตกใจผลโพลชี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตย แนะต้องเร่งสอนเยาวชน แต่อย่าเลียนแบบต่างชาติมากเกิน ไม่ใช่จะเอาเพียง “เลือกตั้ง” ทั้งที่ประเทศยังไม่พร้อม เผยเล็งเรียกทุกพรรคและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดวันเลือกตั้ง ย้ำไม่ปกป้องคนทุจริต ชวนประชาชนร่วมแจ้งโกง รัฐบาลจะดูแลความปลอดภัยให้

วันนี้ (23 ก.พ.) เวลา 20.15 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ช่วงหนึ่งว่า เป็นที่น่าตกใจ จากผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เรื่องประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพรวมทั้งสิ้นรวม 1,000 ตัวอย่าง ด้วยคำถามปลายเปิดสะท้อนว่าประชาชน 36% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ที่เป็นส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่ขอตอบเรื่องความรู้ที่มีต่อประชาธิปไตย

สังคมของเรานั้นได้ให้ความรู้เรื่องของประชาธิปไตยกันมากพอหรือยัง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบไม่ใช่เพียงโรงเรียน หรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากที่บ้าน อยู่ในสายเลือด ในจิตสำนึก ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วย และพรรคการเมืองต้องไม่ถูกแทรกแซง ครอบงำ ชี้นำจากบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อมจนขาดความอิสระ ซึ่งระบุชัดใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยไทยนิยม แต่เป็นหลักสากลพื้นฐาน ที่กล่าวมานั้น

ตนสนับสนุนให้สอนเยาวชนด้วยหลักวิชาการ ควรจะยกกรณีความสำเร็จ ความล้มเหลวของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ แต่ไม่ให้เดินซ้ำรอยความผิดพลาด มีหลักพื้นฐานที่ถูกต้องว่าประเทศชาติจะสงบสันติได้อย่างไร ไม่ใช่ให้เอาเยี่ยงอย่างการล้มล้างสถาบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนยังไม่พร้อมจนต้องบาดเจ็บล้มตาย ตามที่หลายประเทศล้มเหลวมาก่อน เราได้รู้ได้เห็นแล้ว เราไม่จำเป็นต้องให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นซ้ำรอยอีก หรือเจ็บแล้วลืม จนต้องล้มแล้วล้มอีก ลองสอนเด็กง่ายๆ แบบไทยๆ แบบนี้ได้หรือไม่ หรือปูพื้นฐานให้เขาก่อน ก่อนที่จะเอาตัวอย่างจากที่อื่นๆ มาสอนต่อ ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนให้คิดนอกกรอบกันไปหมด กรอบที่ว่าคือ กรอบคำว่า สงบ สันติ ให้ได้เสียก่อน เช่น การเลือกตั้ง ถ้าเราเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกกล้วยที่เปลือกยังเขียวอยู่ก็ยังไม่สุก ไม่พร้อมจะรับประทาน คุณสมบัติก็ไม่ครบ

นายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้งนั้น บางคนยังเข้าใจผิดว่าการไม่ไปเลือกตั้งจะทำให้รัฐบาล หรือ คสช. อยู่ต่อไปได้ ความจริงแล้วคือ หากท่านไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมาก ก็ได้เป็น ส.ส. และ พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดก็จะโอกาสได้ตั้งรัฐบาล

“ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ในระหว่างนั้น ครม. จะแจ้ง คสช. ให้เชิญ กกต. กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่าการเลือกตั้งนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด วัน เวลา ที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน แล้วก็ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกันว่า ทำอย่างไรเราจะเดินหน้าประเทศไป ให้เป็นไปตามโรดแมปของประเทศ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาล และ คสช. ไม่เคยมีความคิดไปก้าวล่วงอำนาจใดๆ ที่จะทำให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายต่างๆ ไม่อยากให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อนตามที่มีใครหลายคนพยายามบิดเบือนให้ข้อมูลผิดๆ ต่อสังคม เป็นอย่างเดียวก็คือการเกิดความวุ่นวาย ประชาชนขัดแย้ง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง การหาเสียงมีปัญหา ประชาชนขัดแย้งกันอีก เกิดความไม่สงบเหมือนก่อนปี 2557 อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ทุกคนต้องช่วยกันอย่าให้เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชน นักการเมืองทุกๆ ฝ่ายก็ต้องช่วยกัน รักษาบรรยากาศ ความมีเสถียรภาพของประเทศ ต้องไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป แล้วก็ต้องสัญญากันว่าหลังการเลือกตั้งเราจะได้มีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่จะต้องร่วมมือกันทำในสิ่งที่ประเทศชาติ และประชาชนทั้งประเทศต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายไหนก็ตาม รวมทั้งร่วมกันหรือช่วยกันในการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

นายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณนั้น หลายคนจะมองไว้ทำทุจริตกันอยู่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ของง่าย แต่ไม่ใช่ของยาก เพราะเรามีระบบตรวจสอบ ส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้บกพร่อง แต่อาจจะมีไม่ทันสมัยบ้างทำนองนี้ ทุกอย่างต้องแก้ไข ล้าสมัยทำนองนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ประชาชนที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อาจจะมีส่วนร่วมในการทุจริต การสมยอม เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นคนระดับจัดทำโครงการ เพราะมีช่องว่างของกฎหมาย อาจมีการใช้อิทธิพล กล่าวอ้าง และมีการใช้กลไกในการบริหารข่มขู่ข้าราชการให้หวาดกลัวให้ร่วมมือกับเขา อันนี้ต้องระวัง บางสถานการณ์อาจทุจริตเชิงนโยบาย และทำให้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ประโยชน์แบบมิชอบ ก็เกิดขึ้นมาโดยเราเห็นอยู่แล้ว บางครั้งการตรวจสอบอาจเข้าไปไม่ถึง เป็นการกระทำในที่ลับ แอบทำ ลักลอบ

ขั้นตอนและการจัดทำงบประมาณนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วมเอง ต้องโปร่งใส ต้องรักษาสิทธิเรา ไม่มีใครโกง อย่าให้มีรอยรั่ว วันนี้คิดว่าเราจะเปิดช่องทางร้องทุกข์ กล่าวโทษ เช่น หาหลักฐานเพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อไป นำเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่ต้องกลัวผู้กระทำความผิด รัฐบาลจะรักษาความลับและดูแลความปลอดภัยให้ ทุกคนกรุณาอย่าดูดาย อย่ากลัว ต้องช่วยต่อต้านต้องดูว่าเขาทำโปร่งใสหรือไม่ ได้ประโยชน์อย่างไร อย่าให้ใครเอาเราไปหาประโยชน์ต่อไปอีก เราต้องแก้ไขทั้งระบบ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อด้วยว่า รัฐบาลนี้มีหลายมาตรการ ทั้งกฎหมายป้องกันและปราบปราม แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่รัฐบาลทำเสียหาย รัฐบาลนี้ทำหลายอย่างให้ความสำเร็จเกิดขึ้น อะไรยังไม่ชัดเจนก็ทำต่อไป ไม่ใช่แย่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลนี้ คดีความออกมาจำนวนมาก เราไม่ต้องการปกป้องคนทุจริต โดยเฉพาะคนทุจริตที่หลบหนี องค์กรตรวจสอบทุจริตเราก็มีมาก ทั้ง สตง. องค์กรอิสระ และภาคเอกชน ต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันด้วย หลายอย่างเป็นเรื่อง ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความรู้ประเทศ เพราะฉะนั้น หลักการกฎหมายต้องดูว่าควรเป็นอย่างไร นั่นคือการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ควรแก้ทั้งระบบ เด็กๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้มาก เพราะถือเป็นการบ่อนทำลายประเทศ อนาคตของท่านด้วย เด็กๆ เหล่านั้น โตขึ้นวันหน้า หากใช้งบประมาณสิ้นเปลือง เกิดประโยชน์น้อย ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานเหล่านี้ไม่มีธรรมาภิบาล เป็นปัญหาทั้งสิ้น

วันนี้ตนสั่งให้เปิดเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ชื่อ สายตรงไทยนิยม เพื่อจะรับคำร้องเรียนร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น เพื่อใช้ในการกระจายข่าวสารภาครัฐ ข้อมูลประโยชน์ ข้อดีต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อจะเสริมช่องทางเดิมที่มีก่อนหน้านี้แล้ว ทางสายด่วน 1111 และ 1567 เพื่อเป็นการโทรฟรีทั่วไทยตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 23 กุมภาพันธ์ 2561


สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เนื่องในวันมาฆบูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม รัฐบาลขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านหอบลูกจูงหลานพาคนในครอบครัว ร่วมใจกันปฏิบัติกิจกรรมทางพุทธศาสนา ณ วัดหรือศาสนาสถานในชุมชนใกล้บ้าน โดยการทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล เจริญจิตภาวนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาน้อมนำจิตใจ ให้ระลึกถึงคำสอนโอวาทปาติโมกข์ หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานไว้ให้ชาวพุทธอันเป็นหัวใจทางพระพุทธศาสนา คือการทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจอันบริสุทธิ์ เสริมสร้างความร่มเย็นให้แก่ตนเอง เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว อีกทั้งจะนำพาความสงบ เจริญรุ่งเรืองมาสู่สังคม และประเทศชาติโดยรวมเป็นที่สุด

ดังนั้น ทั้งเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ทั้งนี้ ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ที่ศาสนิกชนทุกท่านนับถือ ล้วนสอนให้เราทุกคนเป็นคนดี และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพียงแต่เราทุกคนต้องเข้าใจ คำสั่งสอนขององค์ศาสดาที่เป็นแก่นสารที่แท้จริง และนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทั้งในการดำรงชีวิตประจำวัน และประกอบสัมมาอาชีวะด้วย

ในการอบรมสั่งสอนลูกหลานตามศาสตร์พระราชาที่ว่า บวร คือ วัด บ้าน โรงเรียนนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาที่เป็นไทยนิยม ครอบครัวไม่ควรทิ้งภาระให้โรงเรียน และไปห่างไกลศาสนา อันจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคน เด็กทุกคนเปรียบเสมือนเป็นผ้าขาว หากพ่อแม่พี่น้อง ครูอาจารย์ เพื่อนฝูง รวมทั้งคนในสังคมช่วยกันรังสรรค์แต่งเติมสีสันให้งดงาม เยาวชนของเราก็จะไม่เป็นเพียงผ้าขาว แต่จะเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่า แต่หากผู้ใหญ่ อาจารย์ หรือคนในสังคมใส่ชุดความรู้ที่ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว บิดเบือน อาจจะด้วยไม่รู้จริง หรือนำเฉพาะหลักวิชาการมาพูด หรืออาจจะมีเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ หวังผลร้าย ไม่เพียงแต่จะเป็นการทำร้ายเยาวชนของชาติในอนาคต แต่ว่าจะเป็นการทำลายสังคมในปัจจุบันของเราอีกด้วย ในการนำหลักวิชาการ หลักสากลมาปลูกฝังเป็นหลักคิดให้กับลูกหลาน เราจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ สามารถจะแนะนำประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับสังคมของเราตามหลักไทยนิยม ยกตัวอย่างในหลวงของเรา รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาสได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามวิถีของเรา โดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเองนั้น มีวิธีแตกต่างกันในทางปฏิบัติ แต่แก่นสารยังคงเป็นเหมือนๆ กัน

ซึ่งเป็นที่น่าตกใจจากผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เรื่องประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องการ จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งสิ้นรวม 1,000 ตัวอย่าง ด้วยคำถามปลายเปิดสะท้อนว่า ประชาชน 36% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ที่เป็นส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่ทราบ และไม่ตอบในเรื่องของประชาธิปไตยนี้ ส่วนที่เหลือมีคำตอบที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ โดยระบุว่า ประชาธิปไตยคือความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ อิสระในการคิดการพูด ฟังเสียงคนข้างมาก รักสามัคคีกัน การมีส่วนร่วม บางคนนึกถึงการเลือกตั้ง บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์

เมื่อถามถึงความชอบต่อประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ หรือต้องการให้เป็นแบบใด พบว่า 41% ชอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ตอนนี้ ขณะที่ 59% ต้องการประชาธิปไตยที่สงบสุขแบบพอเพียง ไม่มีคอร์รัปชัน และบางส่วนระบุแบบใดไม่รู้ แต่ขอให้ดีขึ้นกว่านี้ ที่จำเป็นต้องยกขึ้นมาพูดที่เป็นผลโพลจากภายนอก ไม่ใช่ของรัฐบาล ของ คสช.เพราะอยากให้ทุกคนช่วยพิจารณาดูว่า สังคมของเรานั้นได้ให้ความรู้เรื่องของประชาธิปไตยกันมามากพอหรือยัง ใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบไม่ใช่เพียงโรงเรียน หรือรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากที่บ้าน อยู่ในสายเลือด ในจิตสำนึก ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วย และพรรคการเมืองต้องไม่ถูกแทรกแซง ครอบงำ ชี้นำจากบุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อมจนขาดความอิสระ ซึ่งระบุชัดใน พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่ใช่เพียงประชาธิปไตยไทยนิยม แต่เป็นหลักสากลพื้นฐาน ที่กล่าวมานั้น ผมสนับสนุนให้สอนเยาวชนด้วยหลักวิชาการ ควรจะยกกรณีความสำเร็จ ความล้มเหลวของต่างประเทศมาเปรียบเทียบ แต่ไม่ให้เดินซ้ำรอยความผิดพลาดให้ได้คิด มีหลักพื้นฐานที่ถูกต้อง

ว่าประเทศชาติจะสงบสันติได้อย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ไม่ใช่ให้เอาเยี่ยงอย่างการล้มล้างสถาบัน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนยังไม่พร้อม จนต้องบาดเจ็บล้มตาย ตามที่หลายประเทศล้มเหลวมาก่อน เราได้รู้ได้เห็นแล้ว เราไม่จำเป็นต้องให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นซ้ำรอยอีก หรือเจ็บแล้วลืม จนต้องล้มแล้วล้มอีก ลองสอนเด็กง่ายๆ แบบไทยๆ แบบนี้ได้หรือไม่ หรือปูพื้นฐานให้เขาก่อน ก่อนที่จะเอาตัวอย่างจากที่อื่นๆ มาสอนต่อ ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนให้คิดนอกกรอบกันไปหมด กรอบที่ว่าคือ กรอบคำว่า สงบ สันติ ให้ได้เสียก่อน เช่น การเลือกตั้ง ชถ้าเราเปรียบเทียบก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกกล้วยกล้วยที่เปลือกยังเขียวอยู่ก็ยังไม่สุก ไม่พร้อมจะรับประทาน คุณสมบัติก็ไม่ครบ

กล้วยเปลือกสีเหลืองคือ สุกงอมกินได้เหมาะสม แต่ถ้ากล้วยเปลือกดำแล้ว คือ ไม่ดีไม่ควรเลือกกิน แต่ถ้าเราไปสอนโดยยกตัวอย่างเป็นผลไม้อื่น เช่น แอปเปิ้ล ซึ่งไม่เป็นผลไม้ประจำถิ่นของเรา บางคนเกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นต้นแอปเปิ้ลเลย อาจจะเคยทาน แต่ไม่เคยเห็นต้น เด็กไทยคงไม่อาจแยกแยะด้วยสีของเปลือกได้ว่า แอปเปิ้ลผลไหนดีสุกกินได้ มันไม่ง่ายเหมือนกล้วย แก่นสารของเรื่องนี้คือ ทำอย่างไร ให้คนไทยสามารถแยกแยะว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วควรเลือกใคร และเลือกจากอะไร ไม่ใช่ใช้ความรัก ความชอบ ความคุ้นเคย ใช้อารมณ์ แต่ไม่พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล เช่น ดูที่นโยบายพรรค ดูที่ประวัติการทำงานเหล่านี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ การเข้าคูหาเลือกตั้งนั้น ต้องคำนึงถึงการเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ไม่มีประวัติเสื่อมเสีย หรือทุจริตมาก่อน เลือกพรรคการเมืองที่น่าเชื่อถือ ดูจากนโยบายจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง หรือ ถูกครอบงำตามที่ได้กล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชนมีความรู้ หลักคิด มีหลักการเลือก ส.ส. ที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือพรรคที่มีนโยบายในลักษณะสัญญาว่าจะให้ เพื่อดึงดูดใจในสิ่งที่ผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่สิ้นเปลืองมากเกินไป ขาดวินัยการเงินการคลัง หรือขัดแย้งพันธกรณีต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับเส้นทางสู่การเลือกตั้งของเรานั้น บางคนยังเข้าใจผิดว่า การไม่ไปเลือกตั้งจะทำให้รัฐบาล หรือ คสช. อยู่ต่อไปได้ ความจริงแล้ว คือ หากท่านไม่ไปเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมาก ก็ได้เป็น ส.ส. และ พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดก็จะโอกาสได้ตั้งรัฐบาล ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง ได้แก่

1. กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
2. กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง
3. กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ
4. กฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

ใน 2 ฉบับท้าย กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช. กรธ. และ กกต. เพื่อจะพิจารณาในทุกประเด็น ที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภาย หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วในอีก 90 วัน หลังจากประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา การเลือกตั้ง ก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือนใดก็ได้ ภายใน 150 วัน หลังจากนั้น

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. ในระหว่างนั้น ครม. จะแจ้ง คสช. ให้เชิญ กกต. กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่า การเลือกตั้งนั้นควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด วัน เวลา ที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน แล้วก็ถือเป็นวาระสำคัญของชาติ อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกันว่า ทำอย่างไรเราจะเดินหน้าประเทศไป ให้เป็นไปตามโรดแมปของประเทศ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่เคยมีความคิด และไม่ไปก้าวล่วงอำนาจใด ๆ ที่จะทำให้เกิดการคว่ำร่างกฎหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะรัฐบาลไม่อยากให้กำหนดเวลาคลาดเคลื่อนตามที่มีใครหลายคนพยายามจะบิดเบือนให้ข้อมูลผิดๆต่อสังคม เป็นอย่างเดียวก็คือการเกิดความวุ่นวาย ประชาชนขัดแย้ง ใช้กำลัง ใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรง การหาเสียงมีปัญหา ประชาชนขัดแย้งกันอีก เกิดความไม่สงบเหมือนก่อนปี 2557 อันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ทุกคนต้องช่วยกันอย่าให้เกิดขึ้น

ดังนั้น ประชาชน นักการเมืองทุกๆฝ่ายก็ต้องช่วยกัน รักษาบรรยากาศ ความมีเสถียรภาพของประเทศ ต้องไม่ขัดแย้ง ไม่แบ่งฝ่ายกันอีกต่อไป แล้วก็ต้องสัญญากันว่าหลังการเลือกตั้งเราจะได้มีฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่จะต้องร่วมมือกันทำในสิ่งที่ประเทศชาติ และประชาชนทั้งประเทศต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายไหนก็ตาม รวมทั้งร่วมกันหรือช่วยกันในการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

พี่น้องประชาชนที่รักครับ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปพบปะพี่น้องประชาชนใน จ.นครปฐม เพื่อเยี่ยมเยียนโครงการต่างๆในพื้นที่ เห็นหลายต่อหลายโครงการประสบความสำเร็จ สามารถประยุกต์ใช้ ด้วยการนำหลักคิดทฤษฎีเกษตรต่างๆ ภายใต้ศาสตร์พระราชามาผสมผสานเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพและรายได้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องดูแล ให้ความสำคัญด้วย

แห่งแรกเลย คือ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) ณ ตำบลแหลมบัว อ.นครชัยศรี เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตร และประสบความสำเร็จ และเรียนรู้ของเกษตรกร รวมถึงประชาชนที่สนใจ ที่จะเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบ ในการทำอาชีพการเกษตร มีการน้อมนำแนวทางของศาสตร์พระราชา ทั้งในเรื่องของกระบวนการจัดการศัตรูพืชชุมชน การบริหารจัดการน้ำ การปศุสัตว์ พืชผักในโรงเรียน การแปรรูปข้าว นาข้าวอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม

เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสู่การเกษตร รวมต้นทุนการผลิต ผลผลิตที่ได้ก็จะเพิ่มขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนต่างก็ราคาก็จะมากขึ้น จะได้ควบคู่ไปกับการน้อมนำ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ด้วย เพื่อจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ นำไปสู่กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักคิดเกษตรกรพัฒนาเกษตรกรด้วยตนเอง ก็จะเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชนแปลงนาบัวของลุงแจ่ม สวัสดิ์โต ที่บ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล ก็เป็นหนึ่งในที่ดินพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2518 เพื่อจะแก้ปัญหาเกษตรกรไม่มีที่ทำกิน เป็นต้นแบบของการปฏิรูปที่ดินของประเทศไทย เนื่องจากราคาข้าวมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ลุงแจ่มเปลี่ยนมาทำนาบัวแทน เป็นพื้นที่ลุ่มด้วย ก็ได้จัดที่ดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนที่เป็นนาบัวก็ได้มีการแบ่งแปลง คำนวณเวลาปลูก เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย และคันนาล้อมพื้นที่ เพื่อทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริ โดยมีการปลูกพืชสวนครัว ไม้ดอก ไม้ผล สร้างรายได้เสริมได้ทุกวัน ซึ่งไม่เพียงแต่ลุงแจ่มเท่านั้น พี่น้องบ้านศาลาดิน ก็ได้น้อมนำแนวทางเกษตรแบบผสมผสานไปปรับใช้ อีกทั้ง ยังพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ บนพื้นฐานความต้องการ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเช่นในปัจจุบันที่ผมกล่าวถึง มีรายได้เพียงพอ แล้วก็เหลือใช้ เก็บออมได้เป็นจำนวนมาก

ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชน และข้าราชการในพื้นที่ ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยความภาคภูมิใจในผลงาน ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งข้าราชการ และประชาชน และภาคธุรกิจก็มาร่วมด้วย หลายบริษัทก็เข้าไปดูในเรื่องของการซื้อสินค้าเกษตรจากพี่น้องเกษตรกร ขอขอบคุณ

การที่ผมลงไปนั้น ผมต้องการที่จะเข้าไปรับฟังปัญหาของพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด หลายอย่างก็ฟังจากข้าราชการ และผมก็ไปสอบถามประชาชนด้วยว่าใช่หรือไม่ จริงหรือเปล่า เป็นการตรวจสอบด้วยตัวผมเอง เราจะได้แก้ไขได้ตรงจุด

ซึ่งนับจากวันนี้ เราจะมีคณะทำงานตามโครงการไทยนิยมลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่รับฟังปัญหา แต่ลงไปช่วยหาแนวทางแก้ไขให้เท่าที่ทำได้ก่อน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชนได้รวดเร็วขึ้น

จริง ๆ แล้วคือหลักการในเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ชุดนี้ก็จะลงไปทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน คือเข้าใจพื้นที่ เข้าใจประชาชน เข้าถึงปัญหาในทุกมิติ แล้วนำไปสู่การพัฒนา อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้กับชุดทำงานที่ลงไปในพื้นที่ด้วย

พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน ในอนาคตการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย เราจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ประเด็นต่าง ๆ เป็นกรอบภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ช่วงนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม จากทุกภาคส่วน ก่อนที่คณะกรรมการที่รับผิดชอบ จะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม แล้วเสนอให้ ครม. ทราบ และมีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก็ยังสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อม ที่อาจจะไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูป ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะชน และการพิจารณาของรัฐสภาเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินทุก ๆ 5 ปี คู่ขนานกับการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 - 15 ด้วย ทุกปี คณะทำงานติดตามก็จะมีการติดตามประเมินผล แล้วก็ปรับเปลี่ยนจากสถานการณ์ภายใน และภายนอกประเทศ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่เหมาะสม

ปัจจุบัน รัฐบาล และ คสช. กำลังขับเคลื่อนด้วยโครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่กล่าวไปแล้ว การจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการ ทุกภาคส่วน แบ่งออกเป็นระดับบูรณาการ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ประชาชนครัวเรือน หรือรายบุคคล เพื่อร่วมวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน ประชาชน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่มคุณค่า หรือการลงทุน เพื่อให้เยาวชนร่วมกันคิดทำประโยชน์อย่างไรในพื้นที่ ให้พื้นที่มีรายได้ทุกคนพอเพียง เราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุดและยั่งยืน ก็เหมือนเราไปทำให้เกิดการระเบิดจากข้างใน บางทีบางพื้นที่อาจนึกไรไม่ออก เราจะลงไปดูว่าพื้นที่อื่นทำอะไรสำเร็จแล้วบ้าง เขาอยากทำอย่างนั้นไหมอย่างนี้ไหม ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลง

วันนี้ งบประมาณเรามีทั้งจากบนลงล่าง และจากล่างขึ้นบน งบประมาณ เราต้องฟังความต้องการของประชาชนด้วย เพราะงั้นการลงพื้นที่ครั้งนี้ ต้องกำหนดเองจากในพื้นที่ว่า งบประมาณที่ตั้งกรอบไว้ใช้ได้อย่างไรให้เกิดผลรวดเร็ว หรือเป็นกลุ่ม หรือเป็นที่จะเกิดมูลค่าหลายคน หลายครอบครัว อาจเป็นงบประมาณที่นอกเหนือจากนี้ งบประมาณในการกิจกรรมที่ไม่ตรงกับหลักการ โครงการไทยนิยมยั่งยืนนี้ จะต้องเสนอโครงการเหล่านี้ขึ้นมาในกรอบการเสนองบประมาณประจำปี ให้กรรมการที่สูงกว่าขึ้นพิจารณานำเสนอ งบประมาณที่ร่วมมือกันในปีต่อๆ ไป

สำหรับเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณนั้น หลายคนจะมองไว้ทำทุจริตกันอยู่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ของง่าย แต่ไม่ใช่ของยาก เพราะเรามีระบบตรวจสอบ ส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้บกพร่อง แต่อาจจะมีไม่ทันสมัยบ้างทำนองนี้ ทุกอย่างต้องแก้ไข ล้าสมัยทำนองนี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลนะครับ ประชาชนที่เกี่ยวข้องคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดนะครับ อาจจะมีส่วนร่วมในการทุจริต การสมยอม เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นคนระดับจัดทำโครงการ เพราะมีช่องว่างของกฎหมาย อาจมีการใช้อิทธิพล กล่าวอ้าง และมีการใช้กลไกในการบริหารข่มขู่ข้าราชการให้หวาดกลัวให้ร่วมมือกับเขา อันนี้ต้องระวัง บางสถานการณ์อาจทุจริตเชิงนโยบาย และทำให้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ประโยชน์แบบมิชอบ ก็เกิดขึ้นมาโดยเราเห็นอยู่แล้ว บางครั้งการตรวจสอบอาจเข้าไปไม่ถึง เป็นการกระทำในที่ลับ แอบทำ ลักลอบ

ทั้งนี้ ขั้นตอนและการจัดทำงบประมาณนั้น ถือว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมเอง ต้องโปร่งใส ต้องรักษาสิทธิเรา ไม่มีใครโกง อย่าให้มีรอยรั่ว วันนี้คิดว่าเราจะเปิดช่องทางร้องทุกข์ กล่าวโทษ เช่น หาหลักฐานเพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อไป นำเข้าสู่กระบวนการ โดยไม่ต้องกลัวผู้กระทำความผิด รัฐบาลจะรักษาความลับให้ ปลอดภัยให้ ทุกคนกรุณาอย่าดูดาย อย่ากลัว ต้องช่วยต่อต้านต้องดูว่าเขาทำโปร่งใสหรือไม่ ได้ประโยชน์อย่างไร อย่าให้ใครเอาเราไปหาประโยชน์ต่อไปอีก เราต้องแก้ไขทั้งระบบ

รัฐบาลนี้มีหลายมาตรการ ทั้งกฎหมายป้องกันและปราบปราม แต่ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบบัญชีหาย รัฐบาลทำเสียหาย รัฐบาลนี้ทำหลายอย่างให้ความสำเร็จเกิดขึ้น อะไรยังไม่ชัดเจนก็ทำต่อไป ไม่ใช่แย่ทั้งหมด คงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลนี้ คดีความออกมาจำนวนมาก เราไม่ต้องการปกป้องคนทุจริต โดยเฉพาะคนทุจริตที่หลบหนี องค์กรตรวจสอบทุจริตเราก็มีมาก ทั้ง สตง. องค์กรอิสระ และภาคเอกชน ต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันด้วย หลายอย่างเป็นเรื่อง ของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความรู้ประเทศ เพราะฉะนั้น หลักการกฎหมายต้องดูว่าควรเป็นอย่างไร นั่นคือการปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ควรแก้ทั้งระบบ เด็กๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้มาก เพราะถือเป็นการบ่อนทำลายประเทศ อนาคตของท่านด้วย เด็กๆ เหล่านั้น โตขึ้นวันหน้า หากใช้งบประมาณสิ้นเปลือง เกิดประโยชน์น้อย ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานเหล่านี้ไม่มีธรรมาภิบาล เป็นปัญหาทั้งสิ้น

วันนี้ ผมสั่งให้ช่องทางการสื่อสาร เปิดเว็บไซต์ เฟซุบุ๊ก ชื่อ สายตรงไทยนิยม เพื่อจะรับคำร้องเรียนร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น เพื่อใช้ในการกระจายข่าวสารภาครัฐ ข้อมูลประโยชน์ ข้อดีต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อจะเสริมช่องทางเดิมที่มีก่อนหน้านี้แล้ว ทางสายด่วน 1111 และ 1567 เพื่อเป็นการโทรฟรีทั่วไทยตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

ส่วนการตอบคำถาม นายกรัฐมนตรี 10 ข้อ ที่เราทำตลอด ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม เราได้รับสรุปผลรายงานแล้ว 15 ครั้ง ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนเกือบ 1,500,000 คน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ถือว่าเป็นความสมัครใจ ไม่รู้จักกัน เขามาตอบคำถาม ให้ความคิดเห็นว่าอย่างไร ซึ่งอาจต่างจากการสำรวจโพลต่างๆ ซึ่งอาจไม่ตั้งใจ หรือสมัครใจ หรือไม่มีความรู้ตอบ อันนี้ไม่ใช่โพลแบบนั้น ตอบคำถามด้วยตัวเอง ยืนยันตัวตน ผู้ที่ตอบคำถามผม ยินดี ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องเกษตรกร อายุช่วงวัยแรงงาน 31-60 ปี ข้อสำคัญการศึกษาระดับประถมศึกษา เท่านั้น ข้อมูลบางส่วนน่าสนใจ มีนัยสำคัญ เช่น ต้องการให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง เราก็ทำอยู่แล้ว 3-4 ปี ที่ผ่านมา ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง องค์กร การทำงาน กฎหมาย เพราะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเขาคาดหวังว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ผมถือเป็นภารกิจสำคัญของ คสช. ตั้งแต่ต้นที่ต้องทำให้สำเร็จระยะที่ 1 ที่เราอยู่นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นในเรื่องนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ที่มีส่อทุจริตนั้น พี่น้องประชาชนเขาตอบคือ ต้องการให้รับโทษหนักที่สุดด้วยการตัดสิทธิ์การเมือง ตามเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน รวมถึงการยุบพรรคด้วย ผมเห็นว่าบางอย่างแรงไปหรือเปล่าไม่รู้เหมือนกัน แต่นั่น ความเห็นประชาชนเขา ผมเห็นว่า ต้องเป็นตามกระบวนยุติธรรม ตามหลักฐานตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนที่พี่น้องประชาชนคาดว่าให้แก้ปัญหาต่อไปคือ ผมนิ่งๆ อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด ผมพยายามจะทำให้ดีที่สุด

พี่น้องประชาชนที่รัก ผมมีเรื่องน่ายินดี 2 เรื่องที่จะเล่าให้ฟัง คือวิเคราะห์ ว่าจะทำอย่างไร สิ่งดีๆ เหล่านี้ จะดีขึ้น สิ่งที่ยังบกพร่องอยู่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน อย่าเอาแต่ติงอย่างเดียว วันนี้ภาพลักษณ์ของบ้านเมืองเรา ก้าวสู่สังคมโลก

เรื่องที่ 1 รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ซีพีไอ ปี 2560 ประเทศไทยของเราได้คะแนนดีขึ้นเล็กน้อย คำว่าดีขึ้นเล็กน้อย เพราะอะไร เพราะมันยาก เพราะมีหลายมิติด้วยกัน เมื่อเทียบกับภาพรวมของทั่วโลก ส่วนใหญ่คงที่ เราได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ ก็อยู่ประมาณกลางๆ เทียบกับปีก่อนหน้านั้นเราได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศที่เข้าร่วมประเมิน

ทั้งนี้ จากการประเมินของ CPI ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาคมโลก ทั้งนี้ เนื่องจากมีการประเมินจากหลายแหล่ง หลากวิธีการ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ความเสี่ยง นักวิชาการ รวมทั้งนักธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก ที่สะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นในประเด็นสำคัญ อาทิ

1. การรับรู้ถึงความมุ่งมั่น จริงจัง ในการดำเนินการของประเทศไทย เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การต่อต้านการทุจริตติดสินบนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการตามประกาศคณะรัฐมนตรี ให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ เป็นต้น

2. ภาพลักษณ์การรับรู้ระบบราชการไทย สังคมไทย ทั้งในสายตาประชาชนไทย นักลงทุน ตลอดจนนักวิชาการนานาชาติ เพราะสังคมไทยยังคงมีกับดักในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐ มีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ และมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ว่าจะดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว แต่ก็มีกติกาเพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น เขาจะต้องดูว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือไม่ เราก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราก็ทำคะแนนได้สูงขึ้น อยากให้มองตรงนี้นะครับ

หากเราจะเลือกตั้งได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจริง มันก็จะต้องดีขึ้นกว่านี้อีกในระยะต่อไป เราต้องการยกระดับค่าดัชนีชี้วัดค่าคอร์รัปชันในส่วนนี้ให้มีคะแนนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องมีแนวร่วมทุกภาคส่วน อย่าติกันอย่างเดียว ต้องติเพื่อก่อ อย่าสร้างความขัดแย้ง แล้วก็รู้ถึงกลไกของกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบให้ชัดเจน ไม่งั้นมันก็ตีกันไปกันมาหมด มันคนละประเด็น คนละเหตุผลกันทั้งหมด ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเพิ่มกลไกในอำนาจบทบาทให้กับองค์กรอิสระ ภาคส่วนต่างๆ ของรัฐให้สูงขึ้น

ปัจจุบันในด้านจิตสำนึกของประชาชนไทยในเรื่องของการต่อต้านการทุจริตนั้นมีระดับสูงมากขึ้นแล้ว สำหรับปีนี้ก็ถือว่าเริ่มต้นด้วยการเป็นทิศทางการพัฒนาที่ดีในเรื่องนี้ "จิตสำนึก" นี่สำคัญที่สุด อาจจะเป็นเสมือนภูมิคุ้มกัน เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ตั้งแต่ต้นทาง เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกัน อย่าให้ทุกอย่างจะต้องใช้การปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราต้องให้ความสำคัญในเรื่องของกระบวนการเหล่านี้ด้วย ซึ่งเราก็นับว่าเดินถูกทางแล้ว เริ่มต้นให้แล้ว ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมมือเป็นหูเป็นตา อย่านิ่งเฉยต่อการกระทำความผิดดังกล่าว

เรื่องที่สอง บลูมเบิร์กก็รายงานว่าประเทศไทยยังครองแชมป์อันดับ 1 ประเทศที่มีความทุกข์ยากด้านเศรษฐกิจน้อยที่สุดในโลก ปี 2017-2018 เป็นปีที่ 4 อย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องมาดูเรื่องของการกระจายรายได้ การสร้างห่วงโซ่มูลค่า ไทยนิยมกำลังลงไป ทำอย่างไรจะถึงข้างล่าง ทำอย่างไรผู้ผลิตถึงจะได้ เช่น เกษตรกร เหล่านี้ ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นแรงงาน ทำอย่างไรเขาจะได้มีรายได้มากขึ้น หลายอย่างนะครับ อาชีพเสริม การปรับเปลี่ยนอาชีพ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ การรวมกลุ่ม การให้ความรู้ การให้เงินทุน แต่เราไม่สามารถจะให้ทุกครอบครัวได้ เป็นรายครอบครัวให้ไม่ได้หรอกครับ มันต้องไปสร้างให้เกิดขึ้นข้างล่าง ในลักษณะนี้เป็นการรวมกันขึ้นมา มันถึงจะทำงานได้ งบประมาณมันมีจำกัด ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คน ข้าราชการดีๆ ก็มีอยู่เยอะ ประชาชนที่ร่วมมือก็เยอะมาก ก็ยังมีบางส่วนที่ยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอยู่

สุดท้ายนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวไตรมาสสุดท้าย ปี 60 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ที่ร้อยละ 4.0 นี่ก็เป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับความต้องการต่างประเทศดีขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน รวมความไปถึงการพัฒนาในภาคเอกชนที่เร่งขึ้นจากรายได้นอกภาคการเกษตร ถ้าภาคเกษตรก็ต้องไปดูกันอีกทีนะครับ แล้วก็ความเชื่อมั่นที่เริ่มดีขึ้นในภาคการผลิต

ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หมวดการผลิตเพื่อการส่งออก สอดคล้อง ดีขึ้น ต่อเนื่อง อีกด้านก็คือโรงแรม ภัตตาคาร จากนักท่องเที่ยวไทย-ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลดีก็ไปสู่ภาคเอกชนและการคมนาคม รวมถึงการค้าส่งและค้าปลีกด้วย นี่ไง ห่วงโซ่มันเกิด ยาว ใหญ่ โดยตรง โดยอ้อม อีกเยอะแยะ

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรในไตรมาสสุดท้าย มีปัญหาฝนตกชุก อุทกภัยในบางพื้นที่ ทำให้ภาพรวมยังไม่ดีขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

ในปีนี้ การบริหารจัดการน้ำที่รัฐบาลพยายามเร่งดำเนินการมาตลอด คาดว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาในช่วงต่อไปของพี่น้องเกษตรกรได้ แต่ต้องใช้กันอย่างพอสมควร ประหยัด อย่างคุ้มค่า ตรงไหนที่ยังไม่ดีเราก็ต้องช่วยกันแก้ไข ยกระดับขึ้นมาให้ได้ เพื่อแก้ปัญหาภาพรวมของประเทศ

หากมองภาพรวมในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวจากปี 2559 ที่ร้อยละ 3.9 หลักๆ ก็มาจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับผู้บริโภค การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนถือว่าฟื้นตัวต่อเนื่องในภาพรวม และในปี 2561 นี้ สภาพัฒน์ก็มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากโครงการร่วมทุนของรัฐบาลและเอกชน ก็ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนในอีอีซีที่มีความชัดเจนมากขึ้น กระตุ้นการลงทุน การก่อสร้าง

นอกจากนั้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายของภาครัฐเองก็คาดว่าจะเร่งขึ้นได้ ได้มีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 150,000 ล้านบาท รวมทั้งเร่งให้ส่วนราชการดำเนินการเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันให้ได้ตามกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อจะให้การใช้จ่ายภาครัฐเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ระมัดระวังการทุจริตด้วย

ในปี 2561 นี้ เราจะบริหารเศรษฐกิจ 4 ด้าน เพื่อจะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชน

1. การสนับสนุนการขยายตัวการผลิตนอกภาคการเกษตร ให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยให้รายได้กระจายลงไปในฐานรากมากขึ้นในระยะต่อไป

2. การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ ในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป

3. การดูแลพี่น้องเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเอสเอ็มอี ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อจะรองรับความผันผวนของดินฟ้าอากาศ การกระจายความเสี่ยงที่พืชผลเสียหาย การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแลงใหญ่ รวมถึงการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เหมาะสมกับน้ำ อะไรก็แล้วแต่ ดูแลการเข้าถึงสินเชื่อ การสนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี

4. การเตรียมพร้อมด้านแรงงาน ยกระดับคุณภาพแรงงานให้เพียงพอ เพื่อจะรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน

มาตรการเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็งในการสนับสนุนการปฏิรูปประเทศตามแผนงานและแผนยุทธศาสตร์ชาติในระยะต่อไปด้วย

ประการสำคัญที่ทุกคนยังคงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา คือเรื่องการจราจร การเคารพกฎหมาย ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม การสร้างอาชีพ รายได้ที่พอเพียง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย นี่ต้องอยู่ในแผนปฏิรูปและในยุทธศาสตร์ชาติด้วย เราต้องร่วมมือกัน ช่วยกัน แก้ไข และใช้การปฏิบัติการร่วมกันแบบไทยนิยม คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันทำความดี เพื่อแผ่นดิน เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อประเทศชาติ และใช้การทำงานในลักษณะประชารัฐให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้จงได้

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว มีความสุข พาลูกหลานไปทำบุญ เข้าวัด ฟังเทศน์ เวียนเทียน สนทนาธรรม ในวันมาฆบูชาด้วย เดินทางด้วยความปลอดภัย จิตใจจะได้ผ่องใสกันทุกคน แล้วว่างๆ ก็ไปเที่ยงานอุ่นไอรักฯ ด้วยนะครับ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น