ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ 4 มหาวิทยาลัยระดมสมองสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและวิชาการในศาสตร์บริหารธุรกิจและการบัญชีของไทย หวังให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ ชูการสร้างนวัตกรรมใหม่สร้างความได้เปรียบการแข่งขันธุรกิจอุตสาหกรรมในเวทีโลก หนุนเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องออคิด บอลรูม 2 โรงแรมพูลแมนราชา ออคิด จ.ขอนแก่น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี (INCBAA 2018) โดยมี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข. ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ รศ.ดร.สิริวุฒิ บุรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช คณบดีคณะการจัดการและการท่องเที่ยว ม.บูรพา ตลอดจนนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีร่วมกว่า 150 คน
รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีครั้งที่ 1 (INCBAA Conference) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่นักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีจากในประเทศและต่างประเทศที่ให้เกียรติเข้าร่วมในการจัดประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ การจัดประชุมวิชาการในวันนี้เกิดขึ้นจากการจัดตั้ง “เครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ (Thailand Regional Business Schools Network : TRBS NET)”
ซึ่งประกอบด้วย 4 สถาบัน คือ คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะการจัดการและการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยบูรพา, คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยหนึ่งในกิจกรรมหลักของเครือข่าย คือการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและวิจัยให้กับศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีในอนาคต ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมวิชาการฯ ทุกๆ 2 ปี โดยเวียนจัดในกลุ่มสมาชิกและครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้น
“ถือเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิจัยด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระหว่างนักศึกษา คณาจารย์ และนักวิชาการ ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน” คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข.กล่าว และว่า
การประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน” เป็นโอกาสอันดีของภาคธุรกิจของเราที่จะนำเอารูปแบบนวัตกรรม แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะในปัจจุบัน “นวัตกรรม” นับว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักและนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยมีความตื่นตัวและเริ่มให้ความสําคัญต่อการสร้างนวัตกรรมอย่างมาก
โดยเฉพาะองค์กรภาคธุรกิจที่มีการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้เกิดการคิดนอกกรอบ และ “นวัตกรรม” ยังเป็นตัวแปรที่สําคัญทางเศรษฐกิจอีกด้วย
เฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จําเป็นต้องมีการผลักดันนวัตกรรมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน อีกทั้งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันดีว่า “นวัตกรรม” ไม่ได้มีส่วนสําคัญเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศด้วย ทั้งนี้ การสร้างนวัตกรรมในแต่ละธุรกิจย่อมแตกต่างกันไปตามแต่สภาวการณ์และบริบท บางธุรกิจอาจเหมาะกับการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ในขณะที่บางธุรกิจอาจเหมาะกับนวัตกรรมในด้านกระบวนการหรือในด้านบริการเพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับธุรกิจของตน เหล่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินทุน บุคลากร หรือเวลา ดังนั้นแต่ละธุรกิจจึงควรหานวัตกรรมที่เหมาะสมกับตนมากที่สุดเพื่อให้เกิดความเป็นที่หนึ่งหรือผู้นําในธุรกิจด้านนั้นๆ
“องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานประชุมฯ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ หรือโมเดลต่างๆ จากการนำเสนอภายในงาน จะถูกนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการกําหนดนโยบายขับเคลื่อนนวัตกรรมในแวดวงธุรกิจของไทยให้มีศักยภาพทัดเทียมคู่แข่งนานาประเทศ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นกุญแจหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากลได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน” รศ.ดร.เพ็ญศรีกล่าว
ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย เศรษฐ์อนวัช คณบดีคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรด้านการบริหารธุรกิจของทั้ง 4 มหาวิทยาลัยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การนำไปสู่การพัฒนาความแข็งแกร่งทางวิชาการร่วมกัน ในโลกปัจจุบันบริหารธุรกิจเป็นสิ่งที่จะตอบโจทก์กับการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้นของโลก คำถามคือ ถ้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักทางวิชาการของประเทศไม่มารวมพลังสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการพัฒนาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปพัฒนาให้กับภาคอุตสาหกรรม การดำรงอยู่ของสถาบันการศึกษาก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมและประเทศชาติ
ทั้งนี้ 4 มหาวิทยาลัยหลักของเราได้ตระหนักถึงประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่ประเทศชาติ เพราะโลกแห่งการแข่งขันในปัจจุบันมีสูงมาก จุดเด่นของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย คือ ความเข้มแข็งทางวิชาการ แต่เมื่อใดมีที่มารวมตัวกัน มันจะมีแรงขับเคลื่อนเป็นทวีคูณ ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งทางภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมจากการต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้หล่อหลอมพัฒนาวิจัยร่วมกัน เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปเพิ่มมูลค่าในโลกแห่งความเป็นจริงของธุรกิจอุตสาหกรรม
ด้าน ผศ. ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของเครือข่ายสถาบันการศึกษาแห่งภูมิภาคด้านบริหารธุรกิจ
โดยทั้ง 4 สถาบันให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันในการวิจัย การจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านวิชาการ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสถาบันที่ร่วมมือในเครือข่ายและต่อสังคมโดยรวม