ศูนย์ข่าวขอนแก่น-มข.รับมอบโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติจาก ซีพีเอฟ เผยเป็นโรงเรือนที่ทันสมัยที่สุดในกลุ่มสถาบันการศึกษาด้วยกันใช้งบสร้างกว่า 10 ล้านบาท เป็นแหล่งเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ ทั้ง ปริญญาตรี-โท-เอก
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้(19 ก.พ.) ที่บริเวณโรงเลี้ยงไก่ไข่ ภายในพื้นที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)นายสมภพ มงคลพิทักษ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ ในกลุ่มบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข. ร่วมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสององค์กร ร่วมประกอบพิธี เปิดโรงเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติ
ซีพีเอฟได้จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และใช้ในกระบวนการการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก คณะเกษตรศาสตร์ มข.
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข. กล่าวถึงโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ดังกล่าว มข.ได้รับมอบพร้อมกับตู้ฟักไข่ และตู้เกิด โดยโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ จำนวน 20,017 ตัว ขณะที่ตู้ฟักไข่ได้รับมอบทั้งหมด 3 ตู้ ฟักไข่ได้ 15,000 ฟอง และตู้เกิด 1 ตู้ ฟักไข่ได้ที่ 5,000 ฟอง โรงเรือนแห่งนี้สร้างขึ้นแทนโรงเรือนเก่าที่ทรุดโทรม ซึ่ง มข.ได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิชาการเทคโนโลยีการผลิตไข่ที่ครบวงจร ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในกลุ่มสถาบันการศึกษาของไทย
โดยโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่หลังนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ และสถานที่ฝึกงานของภาควิชาสัตวศาสตร์ แรกบริษัทฯได้ส่งผู้แทนที่เป็นศิษย์เก่าของคณะฯมาช่วยให้ความรู้ การจัดการผลิต การดูแลระบบและการ ดำเนินกิจการเพื่อให้สามารถเริ่มต้นได้ จากนั้นคณะฯเป็นผู้ดำเนินการและดูแลในลักษณะการบูรณาการ ระหว่างคณะวิชา นักศึกษา ศิษย์เก่า มีการทำงานร่วมกันภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของความร่วมมือทางวิชาการ
“โรงเรือนแห่งนี้ ซีพีเอฟใช้งบราว 10,348,647 บาท ในการก่อสร้างรวมถึงจัดซื้อพร้อมอุปกรณ์ มอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและเป็นต้นแบบความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคม ที่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้กับประเทศไทย”อธิการบดี มข.กล่าวและว่า
นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์ ฯ ยังจัดทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งได้จากมูลไก่ลำเลียงเข้าสู่ระบบเพื่อผลิตเป็น CBG สำหรับใช้ในการเติมยานพาหนะ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเดียวกันกากมูล ที่เหลือจากการหมักแก๊ส ยังนำมาบรรจุเป็นปุ๋ยมูลไก่เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และยังเป็นการขับเคลื่อนการเรียนการสอน และการวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ มข. ให้เป็นแหล่งฝึกงานเรียนรู้ด้านการ เกษตรอุตสาหกรรม ด้านปศุสัตว์ของนักศึกษา
ถือเป็นการขับเคลื่อนการเกษตรด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ การเกษตรเพื่อุตสาหกรรม ทั้งยังเป้นแหล่งผลิตและสนับสนุนการบริโภคอาหารปลอดภัย ให้กับบุคลากร ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์และชุมชนโดยรอบ.
สำหรับรายได้จากการผลิตทางคณะเกษตรศาสตร์ฯ จะนำมาจัดสรรค่าใช้จ่าย ต่างๆ เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน รวมทั้งจัดเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษา คณะเกษตรศาสตร์ฯ ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ทุน และเป็นค่าบำรุงสถาบัน ตลอดจนเป็นส่วนสนับสนุน การวิจัยตามความเหมาะสม