“กทม.-รัฐบาล” เมินข้อเสนอสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ขอ “บิ๊กตู่” สั่งชะลอการเซ็นสัญญาว่าจ้างสองสถาบันดังเป็นที่ปรึกษา-จัดทำแผนแม่บทโปรเจกต์ “แลนด์มาร์กเจ้าพระยา” ด้านรองปลัด กทม.เผย เซ็นว่าจ้าง 120 ล้านบาทแล้วเมื่อ 29 ก.พ. กำหนดเสร็จใน 7 เดือน พร้อมถกอนุฯ ด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ หลังรวบรวมจากเวทีข้อคิดเห็นหลายครั้ง เผยหนังสือสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย แจงนายกฯ ถึงความไม่คุ้มค่าโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา
วันนี้ (3 มี.ค.) มีรายงานว่า นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ตามนโยบายของรัฐบาลว่า กรุงเทพมหานครได้ลงนามในสัญญาจ้างกลุ่มสถาบันการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน หรือจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนกันยายน 2559 ด้วยวงเงิน 120 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 59 พร้อมทั้งประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านการออกแบบและภูมิสถาปัตย์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นเบื้องต้นจากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งได้รวบรวมจากข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน หน่วยงานราชการ เอกชน ประชาชน นักวิชาการและสื่อต่างๆ เพื่อประกอบการศึกษา สำรวจ และออกแบบฯ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ และความต้องการของประชาชนต่อไป
สำหรับเนื้องานที่ที่ปรึกษาโครงการฯ จะต้องดำเนินการนั้น ครอบคลุมทั้งงานด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ประวัติศาสตร์ ชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีขอบเขตการศึกษา 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. การศึกษาจัดทำแผนแม่บทและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองฝั่งในเขตกรุงเทพมหานคร รวมระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร
2. งานสำรวจออกแบบรายละเอียดในส่วนของพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการ ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระยะทางฝั่งละ 7 กิโลเมตร รวมสองฝั่งเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร โดยที่ปรึกษาจะต้องกำหนดรูปแบบโครงการโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตในปัจจุบันของชุมชน ศึกษาผลกระทบทางชลศาสตร์และอุทกวิทยา รวมไปถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และ 3. งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสร้างการรับรู้ให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการจากกลุ่มชุมชน ผู้นำชุมชน และผู้มีบทบาทต่อโครงการ เป็นต้น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดรูปแบบของโครงการที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นต่อประชาชนอีกด้วย
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวิชัย ตันตราธิวุฒิ นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ได้เขียนบทความแสดงความเห็นถึงความไม่คุ้มค่าโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เห็นด้วยและสนับสนุนรัฐบาลของท่าน ในการสร้างพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนกระทำมาก่อน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปถึงบริเวณริมน้ำได้สะดวก ในการพักผ่อนและออกกำลังกาย ขอให้พิจารณาถึงความไม่คุ้มค่าการลงทุนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สำนักการโยธาของกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการอยู่ กับทางเลือกอื่นสองทางที่เหมาะสมกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผังเมืองกรุงเทพฯ และต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนในกำหนดเวลาก่อสร้างใกล้เคียงกัน
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะพัฒนาเป็นถนนคนเดิน และทางจักรยาน เพื่อเป็นที่พักผ่อนริมแม่น้ำของประชาชน ความยาวของถนนทั้งสองฝั่งแม่น้ำรวม 14 กิโลเมตร งบประมาณ 14,000 ล้านบาทนั้น จะสร้างปัญหาแก่บ้านเมืองในระยะยาวและยากแก่การแก้ไข ตั้งแต่จำนวนประชาชนไปใช้โครงการมีน้อยเพราะที่ตั้งของโครงการอยู่ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งมีประชาชนอยู่อาศัยเบาบาง ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาเมืองตามเส้นทางถนนที่สร้างห่างออกไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ ส่วนบริเวณริมแม่น้ำที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นจะเป็นเฉพาะบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ คือ ตั้งแต่บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าลงไปถึงสะพานพระราม 3 การเดินทางไปใช้โครงการของชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะไม่สะดวกโดยเฉพาะการนำจักรยานไปขี่ในวันทำงานนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย
ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้น โครงการนี้จะลดพื้นที่เปิดโล่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามและอากาศบริสุทธิ์เป็นพื้นที่น่าหวงแหนที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ หากสร้างแล้วเสร็จ กำแพงกั้นถนนซึ่งสูงถึง 3.25 เมตรจากระดับพื้นดินริมแม่น้ำจะบดบังทัศนียภาพของแม่น้ำให้หายไปจากบริเวณริมน้ำ ตลอดเส้นทางโครงการ และบดบังอาคารสถานที่สำคัญต่างๆ เมื่อมองจากแม่น้ำเข้ามาทางฝั่ง เช่น อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โบราณสถานและวัดสำคัญหลายแห่ง ชุมชนริมน้ำ ส่วนบริเวณใต้โครงการจะมีสิ่งปฏิกูลและผักตบชวาจำนวนมากลอยมาติดค้าง แสงแดดส่องลงไปถึงได้ไม่หมดจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆ
งบประมาณในการดูแลรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ค่าไฟฟ้าส่องสว่างในเวลากลางคืน ค่าบำรุงรักษา ค่ารักษาความสะอาด ค่ากำจัดขยะมูลฝอยและผักตบชวา จะเป็นตัวเลขที่สูงมากไม่คุ้มค่ากับการลงทุนในระยะแรก และการดูแลบำรุงรักษาในระยะยาว
“ทางเลือกที่หนึ่งที่กระผมขอเสนอ พื้นที่สาธารณะริมน้ำ 3 แห่ง ซึ่งสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาและออกแบบไว้แล้ว ซึ่งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่โครงการริมน้ำยานนาวา มีความยาวริมน้ำ 1.2 กิโลเมตร โครงการกะดีจีน-คลองสาน มีความยาวริมน้ำ 1.5 กิโลเมตรและสถาบันอาศรมศิลป์ ได้ดำเนินการแล้ว อีกแห่งหนึ่งได้แก่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง มีความยาวริมน้ำ 750 เมตร ทั้งสามโครงการจะมีบริเวณที่พักผ่อนริมน้ำที่สวยงาม มีทางจักรยาน ทางเดินเท้า ที่ออกกำลังกาย โดยได้มีการทำประชาพิจารณ์แล้วหลายครั้ง ได้รับความเห็นชอบจากชุมชน เจ้าของที่ดิน เจ้าของโครงการวัดในบริเวณ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว งบประมาณไม่เกิน 2,000 ล้านบาท สามารถลงมือก่อสร้างได้ทันที
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามี 3 สะพาน ซึ่งอยู่ในแผนการก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทมาแล้วหลายปี แต่อาจติดขัดเรื่องงบประมาณ ได้แก่สะพานเชื่อมถนนราชวงศ์กับถนนท่าดินแดง สะพานเชื่อมถนนสี่พระยากับถนนลาดหญ้า สะพานเชื่อมถนนจันทร์กับถนนกรุงธนบุรี ทั้งสามสะพานนี้ จะลดปัญหาการจราจรบนสะพานตากสิน สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระรามสาม และสะพานกรุงเทพ ซึ่งติดขัดมากและมีแต่จะเพิ่มขึ้น เป็นความทุกข์ของผู้ใช้รถใช้ถนนที่จำเป็นต้องใช้สะพานข้ามแม่น้ำ
ทั้งนี้ ผังเมืองขนาดของกรุงเทพมหานครจะต้องมีจำนวนสะพานข้ามแม่น้ำมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้อีกหลายสะพาน งบประมาณก่อสร้างโครงการทั้งสามสะพานกับพื้นที่สาธารณะริมน้ำทั้งสามแห่งไม่ควรเกิน 14,000 ล้านบาท หากได้สร้างแล้วเสร็จ บริเวณริมน้ำในใจกลางเมืองกรุงเทพฯจะมีความสวยงามน่าพักผ่อนและออกกำลังกายสำหรับประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่อยู่อาศัยและที่มาทำงาน การเดินทางข้ามแม่น้ำจะสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ทางเลือกที่ 2 นั้น หากรัฐบาลประสงค์จะสร้างโครงการฯตามเดิมแล้ว กระผมขอเสนอให้สร้างบนฝั่งพื้นดินริมแม่น้ำ โดยการเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำ ตลอดเส้นทาง งบประมาณ 14,000 ล้านบาทสามารถจะใช้เวนคืนที่ดินความยาว 14 กิโลเมตรและความกว้าง 40 เมตรในราคาเวนคืนเฉลี่ยไร่ละ 40 ล้านบาทหรือตารางวาละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาเวนคืนที่ดินที่สูงมาก และหากต้องการเผื่องบประมาณก่อสร้างถนนคนเดินและขี่จักรยาน บริเวณพักผ่อนและสวนสาธารณะให้ลดขนาดความกว้างของที่ดินเวนคืนเหลือ 30 เมตรจะเหลืองบประมาณก่อสร้าง 3,500 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบนพื้นดิน
ส่วนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำนั้น ขอให้เป็นเรื่องอนาคตเมื่อมีตัวเลขระดับน้ำที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่แน่นอนจากสถาบันพยากรณ์ระดับนานาชาติ จึงก่อสร้างเป็นโครงการต่างหากบนพื้นที่ดินที่เวนคืน โดยไม่บุกรุกพื้นที่โล่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา หาก ฯพณฯ ท่านเห็นชอบกับทางเลือกใดของกระผม ขอให้สั่งการชะลอการเซ็นต์สัญญาว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นที่ปรึกษาสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ซึ่งเงื่อนไขในสัญญาได้กำหนดให้เป็นถนนคร่อมแม่น้ำตลอดสาย กระผมยินดีเข้าเรียนชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมแก่ ฯพณฯ ท่านทุกเวลา”