ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรส.รับโล่จาก สกอ. หลังเป็น 1 ใน 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ บุกเบิกการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นใหม่ “ไอพีวี 6” ได้สำเร็จ ด้านอธิการบดีชี้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ เสถียร ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากขึ้น กระตุ้นคนไทยตื่นตัวรองรับระบบใหม่
วันนี้ (25 ก.ค.) ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้รับโล่รางวัลเกียรติคุณสถาบันการศึกษา ที่มีความพร้อมในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐาน ที่รองรับโพรโทคอลอินเทอร์เน็ต รุ่นที่ 6 หรือไอพีวี 6 (IPv6) จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
อธิการบดี มรส. กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของไอพีวี 6 คือ มีหมายเลขไอพีแอดเดรสมากกว่าเดิมมาก ทำให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เครือข่าย นอกจากนี้ ยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี มีความน่าเชื่อถือมากกว่า มีการทำงานแบบเรียลไทม์จึงทำงานได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระในการทำงานของผู้ดูแลระบบ เนื่องจากมีการปรับแต่งระบบอัตโนมัติ
“การใช้งานไอพีวี 6 แทนไอพีวี 4 เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และทำได้ยาก ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และถูกวิธี ในประเทศไทยยังมีการตื่นตัวไม่มากนัก ผู้ปรับเปลี่ยนมาใช้ไอพีวี 6 ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไอพีวี 6 เป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต และวันนี้ มรส.เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่สามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งต้องขอชื่นชมการทำงานของศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ มรส.ไว้ ณ โอกาสนี้” ผศ.ดร.ประโยชน์ กล่าว
รศ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินเพื่อมอบรางวัลมี 3 อย่างคือ 1.ระบบโดเมนเนม 2.ระบบเมลเซิร์ฟเวอร์ และ 3.ระบบเว็บเซิร์ฟเวอร์ ซึ่ง มรส.ผ่านเกณฑ์ประเมินที่สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา (ยูนิเน็ต) กำหนดทั้งหมด และ มรส.ยังเป็น 1 ใน 15 มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาที่บุกเบิกการใช้งาน และให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่รองรับไอพีวี 6 ได้สำเร็จ
“การปรับปรุงและพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไอพีวี 6 ในครั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. ที่เห็นชอบให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงานไอพีวี 6 ในประเทศไทย โดยกำหนดกรอบนโยบายระดับชาติในการส่งเสริมการใช้งานหมายเลขไอพีแอดเดรส ซึ่งใช้ไอพีวี 6 ทดแทนไอพีวี 4 ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกใช้หมดไป และไม่เพียงพอต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต ดังนั้น ใครที่ตื่นตัว พัฒนา และเปลี่ยนแปลงก่อนก็ย่อมได้เปรียบ” รศ.สรนิต กล่าว