คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วฉันได้เล่าถึงความยากจนในญี่ปุ่น และค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่างๆ แต่เมื่อฉันได้ย้ายจากกรุงโตเกียวมาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ ๆ นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ กลับพบว่าค่าครองชีพของโตเกียวที่ว่าแพงนั้นต้องชิดซ้ายเมื่อเทียบกับนิวยอร์ก
ในเขตการปกครองทั้งห้าแห่งของนครนิวยอร์กนั้น ห้องแบบสตูดิโอ (ห้องเดียว มีครัว และห้องน้ำ) ซึ่งเป็นห้องชนิดที่ถูกสุดนั้นมีค่าเช่าอยู่ในช่วงประมาณ 1,400-2,800 เหรียญ (ประมาณ 43,000-86,800 บาท) แล้วแต่ย่าน ราคาห้องอาจต่ำหรือสูงกว่านี้แล้วแต่สถานที่และช่วงเวลาที่เช่า ส่วนค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊ส ถ้าใช้อย่างประหยัด คอยปิดไฟ หรือถอดปลั๊กออกก็อาจจะไม่เกิน 100 เหรียญ (ประมาณ 3,100 บาท) ถ้าจะแพงหน่อยก็ดูเหมือนจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นหลัก
เคยอ่านเจอว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ให้เช่าบ้านจะระบุว่าผู้เช่าต้องมีรายได้ต่อปีสูงกว่าค่าเช่าบ้านต่อเดือนอย่างน้อย 40 เท่า แต่ในความเป็นจริงแล้วรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวนิวยอร์กไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้านโดยเฉลี่ยได้ และพบว่าคนทั่วไปจ่ายค่าเช่าบ้านสูงถึงร้อยละ 65 ของรายได้! คงเพราะค่าเช่าบ้านมหาโหดอย่างนี้เอง ชาวนิวยอร์กถึงได้มักแชร์บ้านกันอยู่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
สำหรับค่าเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นอยู่ที่เที่ยวละ 2.75 เหรียญ (ประมาณ 85 บาท) ถ้านั่งไปกลับทำงานก็ตกเดือนละ 110 เหรียญเป็นอย่างต่ำ (ประมาณ 3,400 บาท) หากบ้านอยู่จังหวัดใกล้เคียงหรือนอกพื้นที่ที่มีรถไฟใต้ดินของนิวยอร์กวิ่งผ่านก็อาจมีค่าเดินทางด้วยรถไฟสายอื่นหรือรถเมล์เพิ่มมาด้วย
ค่าอาหารถูกสุดอาจจะเป็นโดนัทหรือแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นละ 1 เหรียญ พิซซ่าหน้าชีสเปล่า ๆ หนึ่งชิ้นพร้อมน้ำอัดลมอยู่ที่ราคา 2 เหรียญกว่า ๆ (ประมาณ 60 บาท) ถ้าเป็นอาหารมื้อถูกสุดอยู่ที่ประมาณ 5 เหรียญ (ประมาณ 155 บาท) นอกนั้นโดยเฉลี่ยก็อยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญ (ประมาณ 310 บาท) และยังต้องจ่ายภาษีการขายบวกทิปเข้าไปอีกหากนั่งรับประทานในร้าน รวมแล้วถ้าอาหาร 10 เหรียญก็ต้องจ่าย 12 เหรียญกว่า ตกเป็นเงินไทยประมาณ 380 บาท จึงมีหลายคนที่มักพกอาหารจากบ้านไปรับประทานในที่ทำงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายคล้าย ๆ กับชาวกรุงโตเกียว
ฉันลองเทียบค่าใช้จ่ายพื้นฐานโดยเฉลี่ยระหว่างกรุงโตเกียวกับนครนิวยอร์กแล้วพบว่า ค่าครองชีพที่นิวยอร์กแพงกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะค่าเช่าบ้านซึ่งแพงอย่างไม่น่าเชื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ขนาดของห้องเช่าที่นิวยอร์กก็ไม่ได้เล็กอย่างในโตเกียว ห้องเดี่ยวที่มีครัวและห้องน้ำในกรุงโตเกียวโดยทั่วไปมีขนาดประมาณ 15-20 ตารางเมตร ส่วนห้องสตูดิโอในนิวยอร์กซึ่งมีลักษณะเดียวกันนี้โดยทั่วไปมีขนาดราว 40-50 ตารางเมตร
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาห์สหรัฐ ≅ 31 บาท , 100 เยน ≅ 29 บาท ณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561
หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นประมาณการณ์คร่าว ๆ แต่ละคนย่อมมีการใช้จ่ายมาก-น้อยแตกต่างกันไป และค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทางก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ หากใช้เพื่อการอ้างอิงโปรดตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
ค่าใช้จ่ายจำเป็นอีกอย่างที่แพงมากในสหรัฐฯ และไม่ได้รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายข้างต้นคือ ค่ารักษาพยาบาล อนึ่ง ประกันสุขภาพของสหรัฐฯ มีความซับซ้อน มีหลายระบบ หลายกรณีแตกต่างกันออกไป สำหรับครอบครัวฉันเลือกจ่ายค่าเบี้ยประกันต่ำ แต่ถึงจะต่ำก็ยังอยู่ที่ 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 31,000 บาท) ต่อเดือนสำหรับสองคน แต่บริษัทช่วยออกค่าเบี้ยประกันให้ประมาณ 80% (แต่ละบริษัทมีนโยบายส่วนนี้ไม่เหมือนกัน)
นอกจากจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกเดือนแล้ว เมื่อไปหาหมอก็ต้องควักเงินตัวเองจ่ายไปจนกว่าจะถึงยอดที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งของครอบครัวฉันคือ 3,000 เหรียญ (ประมาณ 93,000 บาท) หลังจากนั้นประกันจึงจะเริ่มจ่ายให้ส่วนหนึ่งและเราจ่ายอีกส่วนหนึ่ง (ของครอบครัวฉันคือประกันจ่าย 90% เราจ่าย 10%) แต่ประกันของบางคนอาจจะประกันเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่แรกเลย แต่ค่าเบี้ยประกันน่าจะสูงกว่านี้มาก
ทีนี้ก็มีเรื่องยุ่งอีกว่าสถานพยาบาลบางแห่งหรือหมอบางคนไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของบริษัทประกัน ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์บางอย่างประกันก็ไม่ยอมจ่ายก็มี
เนื่องจากค่าเบี้ยประกันสูงอย่างนี้เอง คนอีกมากมายในหลายสถานะจึงไม่สามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้ และพอไปหาหมอ สมมติว่าหมอเรียกเก็บ 500 เหรียญ (ประมาณ 15,500 บาท) ก็ต้องจ่ายตามนั้น แต่ถ้ามีประกัน ในรายละเอียดของค่ารักษาที่ประกันแจกแจงให้เห็นจะเขียนประมาณว่า หมอเรียกเก็บ 500 เหรียญแต่คุณมีประกันคุณจึงได้รับส่วนลดเหลือ 200 เหรียญนะ (ประมาณ 6,200 บาท) เพื่อนฉันที่เป็นหมอบอกว่า “จริง ๆ แล้วส่วนลดอะไรนี่ไม่ได้มีจริงหรอก เงินที่หมอได้รับจริงอยู่ที่จำนวนหนึ่ง แต่สามารถที่จะใส่ไปในใบเรียกเก็บเงินเท่าไหร่ก็ได้ ให้ประกันได้เอาไปบอกคนไข้ว่าเนี่ยลดให้นะ " ทีนี้คนที่ไม่มีประกันจะลำบากเพราะดันต้องจ่ายตามราคาที่เรียกเก็บโดยไม่มีส่วนลด”
เรื่องประกันรักษาพยาบาลนี่เป็นปัญหาสังคมของสหรัฐฯ มายาวนานไม่จบเสียที แต่สถานพยาบาลทั่วไปหลายแห่งก็อะลุ่มอล่วยเรื่องการชำระเงินค่ารักษา เช่น อาจจะทยอยจ่ายเอา หรือต่อรองให้ลดราคาลงให้ก็มีเหมือนกัน บางที่ไม่เรียกเก็บจากคนไข้ก็มี เป็นระบบอันชวนงงเหมือนกันค่ะ
เมื่อดูภาพรวมแล้วจะเห็นว่าค่าครองชีพในนครนิวยอร์กสูงกว่ากรุงโตเกียว อย่างค่าเช่าบ้านโดยเฉลี่ยที่นิวยอร์กนี่ถ้าไปเช่าบ้านในกรุงโตเกียวอาจจะได้บ้านอย่างหรูเลยทีเดียว ค่าประกันสุขภาพต่อเดือนที่ญี่ปุ่นที่ฉันเคยจ่ายก็ไม่แพงเท่า ที่ญี่ปุ่นเมื่อไปหาหมอก็จ่ายแค่ 30% ตั้งแต่ครั้งแรก ไม่ใช่ว่าต้องจ่ายเองจนกว่าจะถึงยอดที่กำหนดแล้วประกันถึงจะเริ่มจ่าย ภาษีเงินได้ในญี่ปุ่นก็นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แต่ภาษีก็ยังกลับคืนมาสู่สังคมและคุ้มครองประชาชนมากกว่า เพื่อนชาวอเมริกันของฉันหลายคนพากันตกใจที่ทราบว่าค่าครองชีพในกรุงโตเกียวต่ำกว่านครนิวยอร์ก เพราะติดภาพว่าญี่ปุ่นมีแต่ของแพง ๆ
สำหรับปัญหาความยากจนในสหรัฐ ฯ ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่าคนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางยากจนมีจำนวน 41 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมีเด็กที่อยู่ท่ามกลางความยากจนประมาณ 15 ล้านคน เด็กเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่า และมีโอกาสหางานที่ดีต่อไปยากเช่นเดียวกับเด็กที่อยู่ท่ามกลางความยากจนในญี่ปุ่น
หน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในสหรัฐ ฯ มีหลายรูปแบบ บางแห่งแจกอาหาร บางแห่งก็มีการตรวจสุขภาพ หรือรักษาพยาบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ให้ที่พักชั่วคราวแก่คนไร้บ้าน เป็นต้น
ฉันทำงานอาสาสมัครให้องค์กรแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ซึ่งแจกจ่ายอาหารแห้งและอาหารสดฟรีให้แก่คนรายได้ต่ำทุกสัปดาห์ โดยพวกเขาต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มายื่นตอนลงทะเบียนว่ามีรายได้ต่ำกว่าหรือเทียบเท่าเกณฑ์ที่สามารถรับได้ หลายคนพยายามรับทุกอย่างที่มีให้เพราะเห็นว่าเป็นของฟรีแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้ แต่บางคนก็จะคิดว่าตัวเองไม่ได้ใช้ก็เลือกที่จะไม่เอาเพื่อให้คนอื่นที่ต้องการจริง ๆ จะได้เอาไป บางคนยังเอาอาหารแห้งที่ยังไม่หมดอายุและตัวเองไม่ได้รับประทานมาวางไว้เผื่อใครต้องการ บางคนที่เคยได้รับความช่วยเหลือแล้วพอฐานะดีขึ้นก็กลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยคนอื่น ๆ ต่อก็มี เรียกได้ว่ามีคนหลากหลายรูปแบบมาก
คนไร้บ้านในกรุงนิวยอร์กมีจำนวนมาก บางคนเห็นว่าคนเหล่านี้มือเท้าดี ๆ ไม่ยอมทำงานแต่กลับแบมือขอเงินคนอื่น ให้เงินไปเผลอ ๆ ก็อาจจะเอาไปซื้อเหล้าดื่ม เป็นต้น ความจริงเป็นอย่างไรฉันก็ไม่ทราบดีนัก คาดว่าคงมีคนหลายแบบปะปนกัน
แต่ก็เคยดูคลิปวีดีโอหนึ่งที่มีคนทดลองว่าถ้าให้เงินคนไร้บ้านแล้วเขาจะเอาไปทำอะไร ซึ่งตอนแรกคนที่ให้เงินก็คิดว่าคงเอาไปซื้อเหล้า แต่คนคนนั้นกลับเดินเข้าร้านแห่งหนึ่งดูคล้าย ๆ ซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วซื้ออาหารไปแจกจ่ายคนไร้บ้าน/คนยากจนคนอื่น ๆ ด้วย คนที่เป็นคนทดลองเรื่องนี้จึงเกิดความประทับใจและสัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของเขา ฉันจำได้ไม่แน่ชัด น่าจะประมาณว่าคนไร้บ้านคนนี้เคยเป็นทหารผ่านศึกมาก่อน และตอนนี้นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพทำให้ไม่สามารถทำงานได้แล้วยังต้องดูแลแม่ซึ่งป่วยหนักด้วย เขาร้องไห้ไปพลางบอกไปว่า “หลายคนเจอสถานการณ์ชีวิตบีบบังคับให้กลายเป็นคนไร้บ้าน ไม่ได้อยากจะเป็นอย่างนี้หรอก”
คนไร้บ้านหรือคนยากไร้หลายคนจิตใจดีมาก เคยมีคนทดลองว่าถ้าทำเงินหรือกระเป๋าสตางค์ตก คนเหล่านี้จะทำอย่างไร กลับพบว่าหลายคนนอกจากจะไม่ขโมยเงินไปแล้วยังบอกเจ้าของเงินที่ทำตกด้วย หรือบางทีก็มีคนไปทดลองขอเงินจากคนไร้บ้านหรือคนยากไร้โดยทำทีว่าทำกระเป๋าสตางค์หาย ขอเงินสักนิดหน่อยได้ไหม คนเหล่านี้ก็ควักสตางค์ให้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็คงมีอยู่ไม่มาก บางคนที่ไม่มีสตางค์แม้แต่แดงเดียวก็บอกว่า พวกเขาไม่มีเงินหรอก แต่จะช่วยถามคนแถว ๆ นั้นให้เผื่อใครจะช่วยได้บ้าง
เคยเห็นคนหนึ่งทำการทดลองโดยเอาเงินไปเสียบไว้ที่กระเป๋าที่คุณลุงไร้บ้านคนนึงกำลังใช้หนุนต่างหมอนนอนหลับอยู่ พอเขาตื่นมาเห็นมีเงินเสียบกระเป๋าอยู่ก็งง หันซ้ายหันขวาแล้วแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า ท่าทางตกใจสุดขีด และแล้วเขาก็เข้าร้านขายเครื่องใช้ไปซื้อหมอนผ้าห่มเต็มสองมือกลับมาที่เดิม คนทำการทดลองก็ทำทีเป็นแกล้งคุยโทรศัพท์อยู่ข้าง ๆ ว่าลูกสาวป่วยหนักต้องหาเงินไปจ่ายค่ารักษาแต่เขาไม่มีเงินเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร คุณลุงซึ่งเพิ่งได้หมอนผ้าห่มใหม่เอี่ยมมาได้ฟังชายหนุ่มคุยโทรศัพท์แล้วก็สงสาร จึงบอกให้รออยู่ที่นี่ก่อน จากนั้นพักหนึ่งคุณลุงก็กลับมาพร้อมเงินในมือ ชายคนที่ทำการทดลองก็ถามว่าไปได้เงินนี้มาอย่างไร คุณลุงตอบว่าเอาหมอนผ้าห่มไปคืนที่ร้านแล้วได้เงินคืนมา คุณเอาไปใช้ค่ารักษาลูกเถอะ และแล้วชายคนที่ทำการทดลองก็สารภาพให้ฟังเรื่องทั้งหมด และดูเหมือนจะให้เงินช่วยคุณลุงเพิ่มไปอีก
ที่สหรัฐฯ นี้ยังมีคนทำแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือออกมาเพื่อช่วยคนไร้บ้านด้วย โดยคนที่ใช้แอพลิเคชั่นนี้จะส่งข้อความว่าจุดใดมีคนไร้บ้านและกำลังต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใด เช่น อาหาร น้ำ กาแฟ ถุงเท้า เป็นต้น แล้วหากมีใครอยู่ใกล้หรือไปจุดนั้นได้ก็ตอบรับและช่วยจัดหาสิ่งที่คนไร้บ้านนั้นต้องการไปให้
มุมมองที่มีต่อคนไร้บ้านสำหรับฉันเปลี่ยนไปมากจากการได้เห็น ได้คุย ได้ช่วย ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของพวกเขา เรามักคิดว่าคนข้างถนนดูอันตราย แน่นอนว่าคนที่อันตรายจริง ๆ ก็มี แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกคน คนบางคน “ขาด” อะไรในชีวิตไปมากมาย แต่หัวใจกลับเต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจและความเป็นคนอย่างแท้จริง.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.