ยังคงปัญหาที่แก้ไม่ตกเสียที สำหรับระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับสถาบันอุดมศึกษา แค่เพียง 10 ปีที่แล้วได้เปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์ (Entrance) เป็นระบบแอดมิชชัน (Admission) ปีนี้ประกาศจะ ย้อนยุคเข้าระบบเอนท์ในปีการศึกษา 2561 ที่กำลังจะถึงนี้
ทั้งสองระบบต่างมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง? ระบบไม่ดีพร้อม หรือผู้เกี่ยวข้องบริหารจัดการระบบไม่เป็น?!
ย้อนรอย 10 ก่อนถอดระบบเอนท์ ทำลายการศึกษาไทย
รศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตอธิการบดีเกียรติคุณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่าในปีการศึกษา 2549 จะไม่มีการเอ็นทรานซ์ แต่จะใช้ระบบแอดมิชชันแทน
“ระบบเอนทรานซ์ที่ผ่านมาเป็นการทำลายการศึกษาพื้นฐานมาโดยตลอด หรือแม้แต่ปัญหาการกวดวิชาก็เป็นผลมาจากการสอบเอ็นทรานซ์เช่นกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีการปรับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยากมาก เพราะเมื่อแก้อย่างหนึ่งก็ติดอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นปี 2549 จะต้องยกเลิกระบบเอนทรานซ์เพื่อมาใช้แอดมิชชันอย่างแน่นอน เพราะถ้าไม่เลิกก็จะเป็นการทำลายสังคมไทยทั้งระบบ”
ระบบแอดมิชชันไม่มีการสอบวัดความรู้เหมือนระบบเอ็นทรานซ์ แต่จะมีการทดสอบศักยภาพเบื้องต้นในการเรียนต่อ หรือ Aptitude Test ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาวิชาแต่เป็นการทดสอบความสามารถในด้านหลักๆ เช่น ความสามารถในการคิด ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และความสามารถเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียนสอบเมื่อไหร่ก็ได้เหมือนการสอบโทเฟล (TOEFL ย่อมาจาก Test of English as a Foreign Language) โดยจะมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบ
และเพื่อไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกไปสมัครตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะจัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่เหมือนตู้ไปรษณีย์ขนาดใหญ่ รับและส่งต่อข้อมูลไปยังมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ส่วนการพิจารณาคัดเลือกเด็กนั้นเป็นสิทธิของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของตนเอง โดยอาจจะพิจารณาจากผลการเรียน แฟ้มข้อมูลสะสมของเด็ก และผลการทดสอบศักยภาพเบื้องต้น รวมถึงอาจจะมีการวัดแววความสำเร็จในวิชาชีพนั้นๆ
ด้วยประการฉะนี้ การคัดเลือกเยาวชนเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาของไทย จึงเปลี่ยนจากระบบเอนทรานซ์เป็นแอดมิชชันตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
สองระบบ! วิธีการสอบที่แตกต่าง
ในระบบเอนทรานซ์แบบเดิม พอจบม.6 หรือสอบเทียบ สามารถสอบ Entrance ได้ โดยเลือกคณะที่อยากได้ไปเลย 4 อันดับ และมีการสอบครั้งเดียว ตามวิชาบังคับของคณะที่เราเลือกว่าคณะนั้นๆ ที่เราต้องการมีสอบตัวอะไรบ้าง แต่สอบได้ครั้งเดียว ไม่มีการแก้ตัว เอนท์ติดไม่ติด รอลุ้นวันประกาศผลเลยทีเดียว
ขณะที่ระบบแอดมิชชันที่ใช้ในปัจจุบัน ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแม้จะใช้มาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปรับเปลี่ยน อย่างปี 2552 องค์ประกอบ และค่าน้ำหนักคะแนนจะประกอบด้วยจีพีเอเอ็กซ์ 20%, O-NET 30%, GAT 10-50%, PAT 0-40% รวมทั้งสิ้น 100%
สำหรับการสอบ PAT นั้น จะประกอบด้วยPAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์, PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์, PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์, PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์, PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู, PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (ทัศนศิลป์,ดนตรี,นาฏศิลป์), PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (ฝรั่งเศสเยอรมัน ญี่ปุ่น จีน บาลี และอาหรับ) สอบ3 ชั่วโมงคะแนนเต็ม 300 คะแนน ข้อสอบปรนัย และอัตนัย (ที่ตอบแบบปรนัย) สามารถสอบได้ 3 ครั้ง แต่จะเปิดรับสมัครปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งก็แล้วแต่อีก ต้องติดตามข่าวตลอดเวลา ว่าจะเปิดเพิ่มอีกมั้ย
ผู้จัดการ Liveได้นำเสนอเป็นรูปแบบอินโฟกราฟฟิกแจงรายละเอียดข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย มา ณ ที่นี้แล้ว
ศธ.เตรียมโละระบบแอดมิชชัน แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอก
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าจะปรับระบบการรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดค่าใช้จ่าย และให้เด็กได้อยู่ในชั้นเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เบื้องต้น
เป็นการเปิดรับสมัครนักศึกษาด้วยระบบรับตรงกลางร่วมกัน หรือเคลียริงเฮาส์ 2 ครั้ง จากเดิมเพียง 1 ครั้ง โดยเด็กสามารถนำคะแนนไปยื่นเลือกได้ 4 อันดับตามต้องการ โดยส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์ ซึ่งสามารถรับเด็กได้ประมาณ 90% ส่วนเด็กที่เหลือก็อาจไปสมัครมหาวิทยาลัยที่มีที่นั่งว่างได้
เป็นลักษณะของมหกรรมการสอบที่จะเกิดขึ้นประมาณ 6 อาทิตย์ ถึง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งรศ.นพ.กำจร คาดว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2561 โดยก่อนการเปิดรับสมัครนักศึกษา มหาวิทยาลัยจะต้องประกาศเกณฑ์การรับนักศึกษา กติกาต่างๆ จำนวนการรับนักศึกษาในแต่ละคณะ แต่ละสาขาล่วงหน้า เพื่อให้เด็กได้ประมาณตน และได้รู้ว่าจะเลือกคณะ มหาวิทยาลัยใด ซึ่งมหาวิทยาลัยจะไม่มีปัญหาการรับนักเรียนเกินจำนวน
ส่วนการสอบนั้นยังคงเป็นรูปแบบเดิม คือ มีการสอบวิชาสามัญ 9 วิชา, ความถนัดทั่วไป (GAT) หรือความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT)
ทั้งนี้จะไม่มีการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยดำเนินการระบบรับตรงเอง หากมหาวิทยาลัยใดอยากเปิดรับตรงเอง ต้องมาชี้แจงเหตุผลต่อส่วนกลางว่าเพราะอะไร
“การปรับเปลี่ยนระบบการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยต้องมองสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้เรียน จะมองเป็นความต้องการของมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวไม่ได้” รศ.นพ.กำจร กล่าวไว้
เสียงชาวเน็ต อย่าเอาเด็กเป็นตัวทดลอง
ส่องความคิดเห็นของชาวเน็ต ส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับระบบเอนทรานซ์กลับมา
“ก้อรู้ว่าดีแล้วดันมายกเลิกทำไม รู้ไหมเด็กๆ ทั้งเหนื่อยทั้งลำบากเรื่องการเดินทาง บางคนแม้แต่ค่ารถ ค่าสอบก้อยังหามาได้ด้วยความลำบาก ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำอะไรกันอยู่วันๆ สงสารอนาคตของชาติกันบ้างไหม”
“เพิ่งจะคิดได้กันหรือคะ ของเก่าก้อดีอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้เด็กม.ปลายจะสอบแต่ละที ไหนจะต้องเสียค่าสมัครสอบ ไหนจะค่าเดินทาง ค่ากิน แล้วค่าสมัครนี่แต่ละคนไม่ใช่แค่หลักสิบนะคะ เป็นหลักร้อยทั้งนั้น ไหนจะแยกไปสอบสาขาเฉพาะที่ไม่รวมกับ Gat Pat อีก เด็กอยากเรียนก็ต้องไปสมัครสอบ ถามสักหน่อยเถอะว่าเงินค่าสมัครสอบของเด็ก ๆ เหล่านั้นหายไปไหน????? (สมัยที่ดิฉันเรียน วัดความรู้กันทั่วประเทศ สอบแข่งขันกันครั้งเดียวจบ รู้เรื่อง)”
“อย่างน้อยๆ มันยังมีเวลาใช้ชีวิตตอน ม.4-5 นะ แล้วเน้นเข้มตอน ม.6 ไม่เหมือนปัจจุบัน ที่ต้องเน้นทุกเทอม ชีวิตมีแต่ที่เรียนพิเศษ เครียดตายชัก ชีวิตมันไม่ได้มีแค่การเรียนนะครับ ถ้าไม่นับการเรียนแล้วชีวิตนี้ทำอย่างอื่นไม่เป็นนี้ลำบากแล้ว”
“ก็ดีนะครับ ไม่ต้องย้ายที่สอบหลายๆ ที่ สอบที่เดียวนี่แหละ ได้คะแนนเท่าไหร่ก็ไปวัดกับคะแนนปีก่อนๆ ว่ามีแนวโน้มว่าจะเข้าคณะที่ตัวเองต้องการได้ไหม สอบสองครั้ง ตุลาครั้งนึง ถ้ายังไม่พอใจในคะแนนมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งตอนเมษา ประหยัดทั้งเงินและเวลา”
“ที่แอดมิชชันเพราะเขาอยากให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องจะได้เกรดดีๆไว้ยื่นสอบ เอาเข้าจริงล้มเหลวกว่าเอนทรานซ์ซะอีก เพราะโรงเรียนปล่อยเกรดกระจาย เรียนเน้นทำเกรด เดี๋ยวนี้สอบอะไรมั่วไปหมด ทั้ง NT ทั้งสอบตรง Onet Anet Gat Pat อะไรก็ไม่รู้ งงมาก”
“เห็นด้วยที่สุดเพราะสงสารผู้ปกครองที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ลูกวิ่งรอกสอบ แม้ว่าระบบเอนทรานซ์ทำให้เด็กเครียดแต่ระบบแอดมิชชั่นมันเครียดทั้งครอบครัว ผู้ที่มีรายได้มากมายคือมหา'ลัยที่จัดสอบได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เด็กและครอบครัวคือผู้รับกรรม”
ส่วนน้อยเห็นด้วยกับระบบแอดมิชชัน
“ผมไม่เข้าใจครับทำไมผู้ปกครองหลายคนเห็นด้วยกับระบบนี้ เอนทรานซ์ที่ผมเข้าใจคือ เลือกอันดับแล้วสอบครั้งเดียวใช่ไหมครับ ถ้ายังงั้นให้ลูกคุณมีโอกาสหลายๆ ครั้งไม่ดีกว่าหรอครับ หรือชอบครับวัดใจไปเลย ไม่ติดกะเรียนเอกชน หรือ ออกมาทำงานเลยถ้ามั่นใจว่าลูกตัวเองเก่งขนาดนั้นก็แล้วแต่ครับ ผมว่าระบบ Gat-Pat ก็ไม่ได้ยุ่งยากหรือสอบถี่เกินนะครับถ้าศึกษากันดีๆ...”
“ถึงจะเตรียมตัวมาหลายปี แต่สอบวันเดียวนั้นตัดสินอนาคตเลย หากมีเหตุเช่นป่วยหรือรถเสีย หรือสอบไม่ติด เด็กสมัยนั้นจะรู้สึกเหมือนชีวิตจบสิ้นเลยนะครับ ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายหรือเป็นโรคซึมเศร้าไปหลายเคส ส่งผลให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนเป็นแอดมิดชั่นในตอนนี้ไงล่ะ ดังนั้นหากจะย้อนระบบคืนมาต้องหามาตรการแก้ไขจุดนี้ครับ ไม่งั้นปัญหาก็วนมาอีก”
และชาวเน็ตอีกจำนวนไม่น้อยมองว่าทั้งสองระบบมีทั้งข้อดีข้อเสีย แก้ปัญหาจุดด้อยและนำข้อดีมาบูรณาการใช้ร่วมกัน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กมากกว่า โดยแสดงความคิดเห็นห่วงใยถึงระบบการทำงานของผู้เกี่ยวข้องด้วย
“ต้องหามาตรการรับมือปัญหาที่เคยเกิดในสมัยเอนทรานซ์ด้วย เช่น มันเป็นการสอบที่มีความเสี่ยงสูงมาก ทำให้เกิดความเครียดสูงมาก ใครป่วยวันนั้นวันเดียวชีวิตเปลี่ยนได้เลย เกิดปัญหาฆ่าตัวตายและอื่นๆที่ทำให้มีระบบแอดมิชชันมาแทน”
“ข้อดีแอดมิชชั่น คือ ยังมีโอกาสแก้ตัว ไม่ถึงกับสอบครั้งเดียวชี้เป็นชี้ตายเหมือนเอนทรานซ์สมัยก่อน ข้อเสียแอดมิชชัน คือ มีปัญหาเรื่องปล่อยเกรดหรือกดเกรดเหมือนกันในบางโรงเรียน เช่น ได้ 3.9 โรงเรียนธรรมดาจะได้คะแนนเสริมสูงมาก แต่ถ้าได้ 3.9 ที่เตรียมฯ จะกลายเป็นคะแนนน้อยไปเพราะคนได้ 4.00 เพียบ”
“เอาไงก็เอา แต่ขออย่างเดียวอย่าเอาระบบบ้าบอคอแตกมาทดลองกับเด็กเพราะไม่สนุกเลยจริงๆ ถามว่าสอบระบบ Gat Pat อะไรนั่นน่ะ เด็กเข้าใจมั้ยว่ามันคืออะไร? อาจารย์บางคนยังอธิบายไม่ถูกด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร สอบไปทำอะไรเยอะแยะนัก...”
“เดี๋ยวมันก็วนกลับมาใช้ระบบเดิม เพราะเอนทรานซ์แดรกเงินได้ครั้งเดียว”
“เปลี่ยนระบบกันเป็นเล่นขายของ อย่างน้อยๆ ไปดูงานไม่ใช่การไปเที่ยวฟรี ดูการศึกษาของมาเลย์กับสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้วค่าเท่าเดิม แล้วตามประเทศอื่นไม่ทัน ทำไมปท.เราเรียนหนักแล้วไม่ได้เท่าปท.อื่นในอาเซียน? กลับไปดูที่ต้นเหตุของปัญหา....”
ขอบคุณภาพจาก tlcthai.com, tonkit360.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754